คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1644/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งที่สั่งว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาและให้จำหน่ายคดีโดยอ้างว่าการที่โจทก์ไม่ไปศาลในวันสืบพยานโจทก์นั้น ทนายโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีแล้ว เพียงแต่มิได้ยื่นต่อศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดเลย)โดยตรง เพราะทนายโจทก์ป่วยอยู่ที่จังหวัดหนองคาย จึงได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีต่อศาลจังหวัดหนองคายเพื่อให้ส่งคำร้องไปยังศาลชั้นต้นอีกต่อหนึ่ง ดังนี้ เป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่าโจทก์มิได้ขาดนัดพิจารณาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 197 วรรคสองโจทก์จึงมีสิทธิที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวและหากฟังได้ว่าโจทก์ได้ร้องขอเลื่อนคดีหรือแจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่มารศาลเสียก่อนลงมือสืบพยานดังโจทก์อ้าง ก็จะถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาและจำหน่ายคดีของโจทก์ตามมาตรา 201 ไม่ได้ ฉะนั้น เมื่อศาลชั้นต้นสั่งว่าโจทก์ไม่มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดี โจทก์จึงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้
วันนัดสืบพยานโจทก์ (นัดแรก) ทนายโจทก์ป่วยอยู่ที่จังหวัดหนองคายเนื่องจากทอนซิลอักเสบและแพทย์ให้ความเห็นว่าสมควรหยุดพักรักษาตัว ซึ่งถ้าทนายโจทก์ป่วยอยู่ที่จังหวัดเลยอันอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นแล้วทนายโจทก์ก็ต้องร้องขอเลื่อนคดีหรือแจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่ไปศาลให้ศาลชั้นต้นทราบเสียก่อนลงมือสืบพยาน คดีนี้นัดสืบพยานโจทก์ไว้เวลา 9 นาฬิกา ปรากฏว่าคำร้องขอเลื่อนคดีของทนายโจทก์ซึ่งยื่นต่อศาลจังหวัดหนอกคาย โดยอาศัยบทบัญญัติมาตรา 10 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น พนักงานรับฟ้องขอศาลจังหวัดหนองคายลงรับไว้เวลา 10.00 นาฬิกา แต่ศาลชั้นต้นได้รออยู่จนเวลา 10.05 นาฬิกา จึงได้สั่งว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาและให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ ดังนั้น จะถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาไม่ได้ เพราะกรณีดังกล่าวถือว่าโจทก์ได้ร้องขอเลื่อนคดีก่อนลงมือสืบพยานแล้ว
(วรรค 2 วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 13/2519)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีที่ดินอันเป็นที่ตั้งวัด ราษฎรเคยสร้างโรงเรียนในที่ดินของโจทก์แล้วรื้อไป จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ได้ร่วมกันแจ้งและทำหลักฐานว่าจำเลยที่ 1เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินของโรงเรียน ขอให้เพิกถอนการแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ให้จำเลยจำหน่ายทะเบียนสารบบ ส.ค.1 และร่วมกันใช้ค่าเสียหาย

จำเลยทุกคนให้การว่า ที่พิพาทเป็นที่ดินราชพัสดุประเภทสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จำเลยไม่มีอำนาจหน้าที่เพิกถอนสิทธิหรือเพิกถอนการแจ้งการครอบครองที่พิพาท โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลย

ศาลชั้นต้นชี้สองสถานและนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2518เวลา 9 นาฬิกา เมื่อถึงวันนัด ศาลชั้นต้นรออยู่จนเวลา 10.05 นาฬิกา คงมีแต่จำเลยไปศาลฝ่ายเดียว ศาลชั้นต้นจึงสั่งว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณา ให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ ในวันนั้นเองหลังจากสั่งจำหน่ายคดีแล้ว ศาลชั้นต้นได้รับโทรเลขของทนายโจทก์ว่า “ทนายโจทก์ป่วยอยู่ที่หนองคายตามใบแพทย์ไม่สามารถมาว่าความได้ตามนัด ได้ยื่นขอเลื่อนคดีต่อศาลจังหวัดหนองคายคำร้องตามมา มิได้จงใจขาดนัด โปรดอนุญาต” และในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ นั้นศาลชั้นต้นได้รับหนังสือของศาลจังหวัดหนองคาย ลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2518 ส่งคำร้องและใบรับรองแพทย์ของทนายโจทก์ ตามคำร้องมีใจความว่า ทนายโจทก์ป่วยทอนซิลอักเสบอยู่ที่จังหวัดหนองคาย ไม่อาจมาดำเนินกระบวนพิจารณาตามนัดของศาลจังหวัดเลยได้ จึงขอยื่นคำร้องขอเลื่อนการพิจารณาที่ศาลจังหวัดหนองคายและขอให้ส่งคำร้องไปยังศาลจังหวัดเลยด้วย ตามใบรับรองแพทย์ปรากฏว่าทนายโจทก์ทอนซิลอักเสบเป็นหนอง ศาลชั้นต้นสั่งรวม ต่อมาวันที่ 10มีนาคม 2518 โจทก์ยื่นคำร้องว่า ทนายโจทก์ป่วยอยู่ที่จังหวัดหนองคาย ได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีต่อศาลจังหวัดหนองคายเพื่อให้ส่งไปยังศาลชั้นต้นและโทรเลขแจ้งให้ทราบแล้ว มิได้จงใจขาดนัด ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีและให้ดำเนินคดีต่อไป ศาลชั้นต้นสั่งว่า โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีได้ ให้ยกคำร้อง

โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง

ศาลอุทธรณ์สั่งว่า มีเหตุสมควรอนุญาตให้เลื่อนคดีได้ตามคำร้อง ให้ยกคำสั่งจำหน่ายคดีของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาแล้วพิพากษาตามรูปคดี

จำเลยทุกคนฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า หากโจทก์ขาดนัดพิจารณาตามความหมายที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 197 วรรคสอง และศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นเสีย ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 201 โจทก์จะอุทธรณ์คำสั่งนั้นหรือมีคำขอให้พิจารณาคดีนั้นใหม่มิได้คงมีสิทธิเพียงเสนอคำฟ้องได้ใหม่ภายในบังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยอายุความเท่านั้น มาตรา 197 วรรคสอง บัญญัติว่า “ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มาศาลในวันสืบพยาน และมิได้ร้องขอเลื่อนคดีหรือแจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่มาศาลเสียก่อนลงมือสืบพยาน ให้ถือว่าคู่ความฝ่ายนั้นขาดนัดพิจารณา” คดีนี้โจทก์ได้ยื่นคำร้องหลังจากศาลสั่งว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาและจำหน่ายคดีว่า การที่โจทก์ไม่ไปศาลในวันสืบพยานโจทก์นั้น ทนายโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีแล้ว เพียงแต่มิได้ยื่นต่อศาลชั้นต้นโดยตรง เพราะทนายโจทก์ป่วยอยู่ที่จังหวัดหนองคายจึงได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีต่อศาลจังหวัดหนองคายเพื่อให้ส่งคำร้องไปยังศาลชั้นต้นอีกต่อหนึ่ง ฉะนั้น จึงเป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่าโจทก์มิได้ขาดนัดพิจารณาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 197 วรรคสอง โจทก์จึงมีสิทธิที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งที่สั่งว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณานั้น และหากฟังได้ว่าโจทก์ได้ร้องขอเลื่อนคดีหรือแจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่มาศาลเสียก่อนลงมือสืบพยานดังที่โจทก์อ้าง ก็จะถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาและจำหน่ายคดีของโจทก์ตามมาตรา 201มิได้ ฉะนั้น เมื่อศาลชั้นต้นสั่งว่าโจทก์ไม่มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดี โจทก์จึงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้น และศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้ จึงชอบแล้ว

ทนายโจทก์ได้ป่วยอยู่ที่จังหวัดหนองคายในวันนัดสืบพยานโจทก์ เนื่องจากทอนซิลอักเสบเป็นหนองและแพทย์ให้ความเห็นว่าสมควรให้หยุดพักรักษาตัวจริงซึ่งถ้าทนายโจทก์ป่วยอยู่ที่จังหวัดเลยอันอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นแล้วทนายโจทก์ก็จะต้องร้องขอเลื่อนคดี หรือแจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่ไปศาลให้ศาลชั้นต้นทราบเสียก่อนลงมือสืบพยาน คดีนี้นัดสืบพยานโจทก์ไว้เวลา 9 นาฬิกา ปรากฏว่าคำร้องขอเลื่อนคดีของทนายโจทก์ซึ่งยื่นต่อศาลจังหวัดหนองคายโดยอาศัยบทบัญญัติมาตรา 10 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง นั้น พนักงานรับฟ้องของศาลจังหวัดหนองคายลงรับไว้เวลา 10 นาฬิกา แต่ศาลชั้นต้นได้รออยู่จนเวลา 10.05 นาฬิกา จึงได้สั่งว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาและให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ จึงมีปัญหาว่า การร้องขอเลื่อนคดีของโจทก์ซึ่งยื่นต่อศาลอื่นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 10 โดยยื่นภายหลังกำหนดเวลานัดสืบพยานที่ศาลเดิม แต่ยื่นก่อนที่ศาลเดิมสั่งว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณา จะถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 197 วรรคสอง หรือไม่ ศาลฎีกาได้วินิจฉัยปัญหานี้โดยที่ประชุมใหญ่แล้ว เห็นว่า จะถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณามิได้ เพราะกรณีดังกล่าวถือว่าโจทก์ได้ร้องขอเลื่อนคดีก่อนลงมือสืบพยานแล้ว และศาลฎีกาเห็นว่าคำร้องขอเลื่อนคดีของโจทก์มีเหตุสมควรที่จะอนุญาตให้เลื่อนได้ตามความเห็นของศาลอุทธรณ์

พิพากษายืน

Share