คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1637/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้สั่งจ่ายออกเช็คล่วงหน้าสั่งธนาคารโจทก์จ่ายเงินจำนวนหนึ่งแก่ ช.ต่อมาได้มีการแก้ไขจำนวนเงินในเช็คให้สูงขึ้น แล้ว ส. ได้นำเช็คดังกล่าวมามอบให้ธนาคารจำเลยเพื่อเป็นประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของ ส. ครั้นเช็คถึงกำหนดจำเลยได้เรียกเก็บเงินจากโจทก์หักล้างหนี้ของ ส.ต่อมาผู้สั่งจ่ายทราบจึงเรียกเงินคืนจากโจทก์ โจทก์ได้จ่ายเงินจำนวนที่ถูกแก้ไขให้สูงขึ้นแก่ผู้สั่งจ่ายแล้วมาฟ้องเรียกคืนจากจำเลย ดังนี้ เมื่อการแก้ไขเปลี่ยนแปลงจำนวนเงินไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าจึงเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่ไม่ประจักษ์ในข้อสำคัญ เมื่อผู้สั่งจ่ายไม่ได้รู้เห็นยินยอมในการแก้ไขด้วย จำเลยผู้ทรงเช็คย่อมมีสิทธิบังคับการใช้เงินตามเช็คได้เพียงจำนวนเงินเดิมก่อนมีการแก้ไขเท่านั้น จำนวนที่เกินเป็นการรับไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ เมื่อโจทก์มิได้จ่ายเงินให้จำเลยรับไปตามอำเภอใจ แต่จ่ายไปโดยเชื่อว่าผู้สั่งจ่ายออกเช็คสั่งจ่ายเงินตามจำนวนที่แก้ไข จำเลยจึงต้องคืนเงินส่วนที่รับเกินมาแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์แจ้งให้ทราบ
แม้ผู้สั่งจ่ายเขียนเช็คเว้นช่องว่างหน้าตัวเลขและตัวหนังสือจำนวนเงินไว้มากเป็นเหตุให้มีการเพิ่มเติมจำนวนเงินได้ง่าย แต่จำนวนเงินส่วนเกินที่จำเลยรับก็เป็นการรับไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ หากจำเลยได้รับความเสียหายจากความประมาทเลินเล่อของผู้สั่งจ่ายอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องว่ากล่าวเอาแก่ผู้สั่งจ่าย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ บริษัทน้ำตาลมิตรสยาม จำกัดได้ออกเช็คลงวันที่ล่วงหน้าของธนาคารโจทก์สั่งให้ธนาคารโจทก์จ่ายเงินจำนวน ๘,๐๖๒ บาทให้แก่นายชัยยุทธ แล้วนายชัยยุทธกับนายสมคิดและพวกได้ร่วมกันแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมจำนวนเงินในเช็คจากจำนวน ๘,๐๖๒ บาท เป็น ๙๐๘,๐๖๒ บาท แล้วนายสมคิดได้นำเช็คนั้นมอบให้แก่ธนาคารจำเลยยึดถือครอบครองไว้ในฐานะผู้ทรง เพื่อเป็นประกันหนี้ที่นายสมคิด กู้เบิกเงินเกินบัญชีไปจากจำเลย เมื่อถึงกำหนดวันใช้เงินตามเช็ค จำเลยได้นำเช็คมาเรียกเก็บเงินจากโจทก์ โจทก์ได้จ่ายเงินให้แก่จำเลยจำนวน ๙๐๘,๐๖๒ บาท โดยหักเงินจากบัญชีของบริษัทน้ำตาลมิตรสยาม จำกัด โดยโจทก์หลงผิดว่าเป็นเช็คสั่งจ่ายเงินตามจำนวนอันแท้จริง เมื่อโจทก์ทราบว่าเช็คได้ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมจำนวนเงินให้สูงขึ้นจึงได้จ่ายเงินจำนวน ๙๐๐,๐๐๐ บาท คืนแก่บริษัทน้ำตาลมิตรสยาม จำกัด การที่จำเลยในฐานะผู้ทรงเช็คได้รับเงินจากโจทก์เกินกว่าจำนวนเงินที่สั่งจ่ายตามเช็คอันแท้จริงเป็นการได้เงินไปโดยปราศจากมูลที่จะอ้างได้ตามกฎหมาย จำเลยจึงต้องชำระเงินจำนวนที่เกินไปคืนโจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย ขอศาลพิพากษาให้จำเลยร่วมกันชำระเงิน ๙๐๐,๐๐๐ บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยให้โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ทราบเรื่องการปลอมแปลงแก้ไขเพิ่มเติมเช็คที่โจทก์ฟ้อง ขณะเช็คอยู่กับจำเลยเป็นเช็คที่สมบูรณ์ ไม่มีการขีดเขียนเพิ่มเติมแต่อย่างใด โจทก์จึงได้ยอมให้มีการหักเงินกันทางบัญชีโจทก์จะอ้างภายหลังว่าได้จ่ายเงินตามเช็คโดยหลงผิดหาได้ไม่ การที่โจทก์ใช้เงินคืนแก่บริษัทน้ำตาลมิตรสยาม จำกัด เป็นการกระทำไปตามอำเภอใจของโจทก์เอง ทั้งเป็นการชำระหนี้ให้แก่ผู้กระทำผิดกฎหมาย หากบริษัทดังกล่าวร่วมรู้เห็นในการแก้ไขเพิ่มเติมเช็คนั้นเสียเอง โจทก์เรียกร้องคืนจากจำเลยไม่ได้ เช็ครายนี้นายสมคิด มอบให้จำเลยเพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้เบิกเงินเกินบัญชี จำเลยมิได้ลาภงอกหรือได้เงินเพิ่มขึ้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ความเสียหายเกิดขึ้นเพราะความประมาทเลินเล่อของบริษัทน้ำตาลมิตรสยาม จำกัด ผู้ออกเช็ค โจทก์ย่อมไม่ต้องรับผิดคืนเงินให้แก่ผู้ฝาก การที่โจทก์คืนเงินเมื่อบริษัทดังกล่าวขอคืนโดยโจทก์ไม่ต้องรับผิดคืนเงินให้แก่ผู้ออกเช็คนั้น เป็นเรื่องของการเลือกปฏิบัติตามความพอใจของโจทก์เอง หามีกฎหมายบังคับให้จำต้องทำไม่ จึงไม่ก่อให้เกิดสิทธิที่จะเรียกเงินคืนจากธนาคารจำเลยได้ พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อการแก้ไขเปลี่ยนแปลงจำนวนเงินในเช็คไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ก็เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่ไม่ประจักษ์ในข้อสำคัญ ต้องตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๐๐๗ วรรคสองและสาม เมื่อผู้สั่งจ่ายไม่ได้รู้เห็นยินยอมในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้นด้วย ธนาคารจำเลยผู้ทรงเช็คย่อมมีสิทธิบังคับการใช้เงินตามเช็คได้เพียงจำนวนเงินเดิมก่อนมีการแก้ไขเท่านั้น จำนวนเงินที่เกินไปจากนั้นเป็นการรับเอาไว้อันปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ เมื่อธนาคารโจทก์มิได้จ่ายเงินให้ธนาคารจำเลยรับไปตามอำเภอใจแต่จ่ายไปโดยเชื่อว่า ผู้สั่งจ่ายออกเช็คสั่งจ่ายเงินตามจำนวนที่มีการแก้ไข ธนาคารจำเลยก็ต้องคืนเงินส่วนที่รับเกินมาให้แก่ธนาคารโจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันที่ธนาคารโจทก์แจ้งให้ธนาคารจำเลยทราบถึงการคืนเงินจำนวนนี้ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๐๖ และ ๔๐๗
แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าการแก้ไขเปลี่ยนแปลงจำนวนเงินในเช็คสามารถทำได้โดยไม่ประจักษ์ก็เพราะผู้เขียนเช็คของบริษัทน้ำตาลมิตรสยาม จำกัดเว้นช่องว่างข้างหน้าตัวเลขและตัวหนังสือจำนวนเงินที่สั่งจ่ายไว้ โดยไม่ขีดเส้นข้างหน้ากันการเขียนจำนวนเงินเพิ่มเติม เป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบการเขียนเช็คของธนาคาร เป็นเหตุให้มีการเพิ่มเติมจำนวนเงินได้ง่าย และผู้สั่งจ่ายลงชื่อสั่งจ่ายโดยไม่ตรวจดูเสียก่อน อันเป็นความประมาทเลินเล่อของผู้สั่งจ่ายแต่ในขณะเดียวกันจำนวนเงินส่วนเกินที่ธนาคารจำเลยรับไว้ ก็เป็นการรับไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ ธนาคารจำเลยได้รับความเสียหายเพราะความประมาทเลินเล่ออย่างไรก็เป็นเรื่องที่ธนาคารจำเลยจะต้องว่ากล่าวเอาแก่ผู้สั่งจ่าย
พิพากษากลับ ให้จำเลยใช้เงิน ๙๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยให้โจทก์

Share