แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อบังคับของกระทรวงกลาโหมเกี่ยวกับการเงินที่กำหนดให้ผู้สั่งจ่ายหรือผู้จ่ายเงินต้องรับผิดใช้เงินคืน หากสั่งจ่ายผิดระเบียบหรือจ่ายเกินนั้นไม่เป็นการขัดต่อกฎหมาย เพราะผู้สั่งจ่ายหรือผู้จ่ายจะต้องรับผิดใช้เงินคืนต่อเมื่อสั่งจ่ายผิดระเบียบหรือจ่ายเกิน การสั่งจ่ายผิดระเบียบหรือจ่ายเกินโดยจงใจหรือโดยประมาทเลินเล่อทำให้เกิดความเสียหาย ก็เป็นการ ทำละเมิดซึ่งผู้ทำจะต้องรับผิดชดใช้ความเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อยู่แล้ว การที่มีข้อบังคับกำหนดความรับผิดซ้ำไว้อีกเป็นการอนุโลมตามบทกฎหมาย จึงหาเป็นโมฆะไม่
อายุความฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิด เริ่มนับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิด และรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นทหารประจำการดำรงตำแหน่งผู้ช่วยฝ่ายการเงินกองพลที่ 3 จำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการกองพลที่ 1 จำเลยที่ 1 มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินทั้งหมดของทางราชการ มีหน้าที่ตรวจหลักฐานการรับจ่ายให้ถูกต้องก่อนรับและจ่ายเงินทุกครั้ง เมื่อเห็นว่าถูกต้องจึงเสนอจำเลยที่ 2 สั่งอนุมัติให้รับหรือจ่ายได้ ในปี พ.ศ. 2491 ทางราชการกองพลที่ 1 ได้เปิดกิจการออมสินรับฝากเงินจากข้าราชการกองพลที่ 3 ขึ้น และถือว่ากิจการนี้เป็นราชการประเภทหนึ่ง อยู่ในความรับผิดชอบของพันโทอุดมและจำเลยที่ 1 มีหน้าที่รับเงินเข้าบัญชีตามหลักฐานใบนำฝากเงินที่พันโทอุดมนำฝาก จำเลยที่ 1 ต้องเซ็นชื่อเป็นผู้ตรวจรับในหลักฐานใบนำฝาก และตรวจหลักฐานการจ่ายในใบถอนเงิน เมื่อเห็นว่าถูกต้องจึงเสนอผ่าน จำเลยที่ 2 เซ็นอนุมัติ จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ตรวจหลักฐานว่าถูกต้องตามระเบียบของทางราชการ หากเซ็นอนุมัติโดยเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ปฏิบัติราชการบกพร่อง จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดซึ่งจำเลยทราบข้อบังคับของทางราชการดีอยู่แล้ว
ระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม 2494 ตลอดมาถึงวันที่ 13 พฤษภาคม2496 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองปฏิบัติหน้าที่ผิดระเบียบแบบแผนและข้อบังคับของทางราชการเกี่ยวกับการเงิน โดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ คือ จำเลยที่ 1 ละเลยไม่ตรวจหลักฐานในการถอนเงินออมสินของข้าราชการกองพลที่ 3 ที่พันโทอุดม จันทรประสพ ทำขึ้นเพื่อขอถอนเงินแต่ละคราวว่ามีเงินฝากเพียงพอจะถอนได้หรือไม่แล้วเซ็นชื่อในช่องตรวจถูกต้องแล้ว และจำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่อเซ็นอนุมัติไปโดยไม่มีเจ้าพนักงานตรวจรับรองว่าถูกต้อง เป็นเหตุให้พันโทอุดมถอนเงินฝากของข้าราชการกองพลที่ 3 ไปเกินบัญชี 76,907.22 บาท แล้วยักยอกเอาเงินไปเสียทำให้กองทัพบกได้รับความเสียหาย คณะกรรมการสอบสวนกระทรวงกลาโหมรายงานให้โจทก์ทราบ 29 กรกฎาคม 2501 ถึงตัวผู้ที่จะต้องรับผิดและคิดถัวเฉลี่ยให้จำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้ 59,986.66 บาท จำเลยที่ 2 รับผิด 10,631.85 บาท จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยชดใช้
จำเลยที่ 1 ให้การว่า มิได้ประมาทเลินเล่อ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า มิได้ประมาทหรือปฏิบัติหน้าที่ราชการผิดระเบียบหน้าที่เกี่ยวกับการเงิน มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินรับผิดชอบ จำเลยซึ่งเป็นรองผู้บัญชาการกองพลไม่ควรมีหน้าที่ต้องตรวจสอบเอกสารและตัวเลขกิจการออมสินไม่ใช่การงานในราชการจำเลยไม่ควรต้องรับผิด ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ระเบียบแบบแผนข้อบังคับที่โจทก์อ้างไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นโมฆะ โจทก์ฟ้องเกิน 1 ปีนับแต่วันรู้ตัวผู้รับผิด คดีขาดอายุความ
ทางพิจารณา จำเลยทั้งสองรับว่าข้อบังคับทหารบกและทหารอากาศว่าด้วยการเงิน 79 ที่โจทก์ส่งศาลมีจริง และเป็นข้อบังคับว่าด้วยการเงินที่ใช้อยู่ขณะเกิดเหตุเรื่องนี้ จนบัดนี้ยังไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิก แต่จำเลยถือว่าเป็นข้อบังคับที่ไม่ถูกต้องออกมาไม่ชอบกฎหมาย
โจทก์จำเลยรับกันว่าเงินออมสินฝากนี้ นายทหารฝ่ายการเงินเก็บรวมกับเงินประเภทอื่น ๆ และต้องนำลงบัญชีรายวันเงินสดทั้งรับและจ่ายรวมกับเงินประเภทอื่น ๆ จึงเป็นเหตุให้พันโทอุดมถอนเงินออมสินฝากได้ทั้ง ๆ ที่ไม่มีเงินออมสินเหลืออยู่เลย โดยเอาเงินประเภทอื่นมาจ่ายแทน
เมื่อสืบพยานโจทก์หมดแล้ว จำเลยที่ 1 ยอมทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ ชดใช้เงินให้โจทก์ตามฟ้อง คดีสำหรับจำเลยที่ 1 เป็นอันยุติ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ใช้เงิน 10,631.85 บาทแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาคัดค้านว่าข้อบังคับทหารบกและทหารอากาศว่าด้วยการเงิน 79 กำหนดความรับผิดให้ข้าราชการซึ่งมิได้มีส่วนทำละเมิด ต้องรับผิดใช้ความเสียหายแก่ทางราชการ จึงเป็นการออกข้อบังคับเพิ่มเติมความรับผิดของบุคคลในทางละเมิด ซึ่งได้มีกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้วข้อบังคับนี้จึงตกเป็นโมฆะนั้น เห็นว่าข้อบังคับทหารบกและทหารอากาศว่าด้วยการเงิน 79 กระทรวงกลาโหมบัญญัติขึ้นเพื่อใช้เป็นระเบียบปฏิบัติควบคุมการรับและจ่ายเงินในราชการของกระทรวงกลาโหมไม่ปรากฏว่าข้อบังคับนี้ขัดแย้งหรือไม่ชอบด้วยบทกฎหมายใด แม้มาตรา 2 ข้อ 14 แห่งข้อบังคับนี้จะกำหนดให้ผู้สั่งจ่ายหรือผู้จ่ายต้องรับผิดใช้เงินคืน หากสั่งจ่ายผิดระเบียบหรือจ่ายเกิน ก็ไม่เป็นการขัดต่อกฏหมายอันจะทำให้เป็นโมฆะ เพราะผู้สั่งจ่ายหรือผู้จ่ายจะต้องรับผิดใช้เงินคืนต่อเมื่อสั่งจ่ายผิดระเบียบหรือจ่ายเกินการสั่งจ่ายผิดระเบียบหรือจ่ายเกินโดยจงใจหรือโดยประมาทเลินเล่อทำให้เกิดความเสียหาย ก็เป็นการทำละเมิดซึ่งผู้ทำจะต้องรับผิดชดใช้ความเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั่นเอง การที่ข้อบังคับนี้กำหนดความรับผิดซ้ำไว้อีก เป็นการอนุโลมตามบทกฎหมายไม่เป็นการขัดแย้งต่อบทกฎหมายอันจะทำให้เป็นโมฆะ ทั้งตามฟ้องโจทก์ก็บรรยายว่า จำเลยที่ 2 กระทำโดยประมาทเลินเล่อ เซ็นอนุญาตให้ถอนเงินในใบถอนซึ่งไม่มีผู้ตรวจลงนามรับรองว่าถูกต้อง เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเป็นคำฟ้องที่ขอให้จำเลยที่ 2 รับผิดฐานละเมิดตามข้อบังคับทหารบกและทหารอากาศว่าด้วยการเงิน 79 เท่านั้นไม่
สำหรับประเด็นว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่นั้น เห็นว่าแม้จะฟังว่ากองทัพบกได้ทราบเรื่องพันโทอุดมยักยอกตั้งแต่ พ.ศ. 2500ก็ดี ก็เป็นการทราบเฉพาะตัวพันโทอุดมเท่านั้น ยังไม่ปรากฏว่ากองทัพบกได้ทราบว่าจะมีผู้ใดต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนนี้ในฐานะผู้สั่งจ่ายหรือผู้จ่ายบ้างหรือไม่ กรมสารบรรณกองทัพบกเพิ่งได้รับรายงานคณะกรรมการเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2501 ว่า จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิด 59,986.66 บาท จำเลยที่ 2 รับผิด 10,631.85 บาท ซึ่งหากจะถือว่ากองทัพบกได้รู้ตัวผู้จะต้องรับผิดในวันที่ได้รับรายงานของคณะกรรมการ เมื่อนับถึงวันฟ้องก็ยังไม่เกิน 1 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ส่วนฎีกาของจำเลยที่ว่า การที่จำเลยที่ 2 ลงนามอนุญาตให้จ่ายเงินในใบถอนเงินออมสิน 18 ฉบับ ซึ่งมีแต่เพียงพันโทอุดมลงนามเป็นผู้ถอน แต่ไม่มีผู้ช่วยฝ่ายการเงินลงนามว่าได้ตรวจรับรองถูกต้องเป็นการฝ่าฝืนระเบียบหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า พยานโจทก์ฟังได้ว่าการถอนเงินออมสินฝากนั้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินเป็นผู้ขอถอน และต้องให้ผู้ช่วยฝ่ายการเงินตรวจลงนามรับรองว่าถูกต้องแล้ว ผู้บังคับบัญชาจึงจะสั่งอนุญาตให้จ่ายได้ จำเลยที่ 2 ก็เบิกความรับว่า ต้องมีผู้ช่วยฝ่ายการเงินเซ็นว่าได้ตรวจถูกต้องเสียก่อน จึงจะเสนอผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเซ็นอนุญาตให้จ่ายได้ถ้าไม่มีผู้เซ็นตรวจ ผู้มีอำนาจสั่งจ่ายจะไม่ยอมอนุญาต จะส่งใบถอนกลับคืน อนึ่งข้อบังคับทหารบกและทหารอากาศว่าด้วยการเงิน 79 มาตรา 2 ข้อ 6 ก็กำหนดหน้าที่ของผู้ช่วยฝ่ายการเงินไว้ว่ามีหน้าที่ตรวจสอบว่าการที่จะรับหรือจ่ายเงินนั้นถูกต้องตามระเบียบแล้ว ฉะนั้น การที่จำเลยเซ็นอนุญาตให้จ่ายเงินในใบถอนเงินออมสิน18 ฉบับ ซึ่งมีแต่พันโทอุดมลงนามเป็นผู้ถอนฝ่ายเดียวไม่มีผู้ช่วยฝ่ายการเงินลงนามรับรองว่าได้ตรวจถูกต้องแล้ว จึงเป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบและข้อบังคับของทางราชการโดยไม่มีปัญหา การกระทำของจำเลยเป็นการประมาทเลินเล่อ จึงต้องรับผิดศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีมาชอบแล้ว
พิพากษายืน