แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่พิพาทอยู่ในเขตเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลบางหลวงฯ แม้กระทรวงการคลังจะเป็นผู้ซื้อที่ดินที่ถูกเวนคืนรวมทั้งที่พิพาทแล้วมอบให้กรมชลประทานโจทก์สร้างเขื่อนอันเป็นการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับดังกล่าว ก็เป็นการดำเนินการและพิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินเป็นของรัฐ เมื่อโจทก์ได้เข้าดำเนินการสร้างเขื่อนตามโครงการแล้วจึงเป็นผู้ครอบครองดูแลรักษาที่พิพาท แม้โจทก์จะไม่มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ก็ย่อมมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารซึ่งเข้าไปตั้งปั๊มน้ำมันเป็นการรบกวนการครอบครองของโจทก์ให้ออกไปจากที่พิพาทได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นกรมในรัฐบาล มีหน้าที่ควบคุมดูแลคุ้มครองกิจการชลประทานทั่วประเทศ เมื่อ พ.ศ. 2515 จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยากันได้ตั้งปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิงและมีถังเก็บน้ำมันขนาดใหญ่ 10,000 ลิตร 1 ถัง พร้อมทั้งอุปกรณ์การจำหน่ายในที่ดินแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตโครงการชลประทานหัวหน้างานเขื่อนเจ้าพระยา หมู่ที่ 6 ตำบลบางหลวง อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท ซึ่งเป็นที่ดินอยู่ในความควบคุมดูแลและคุ้มครองของโจทก์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ จำเลยเคยทำหนังสือถึงโจทก์ผ่านนายช่างหัวหน้าโครงการชลประทานเขื่อนเจ้าพระยาเพื่อขอเช่าที่ดินดังกล่าวตั้งปั๊มน้ำมัน โจทก์ไม่อนุญาต จึงขอให้จำเลยรื้อถอนปั๊มน้ำมันถังน้ำมันกับอุปกรณ์ออกไปจากที่ดินของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง
จำเลยทั้งสองให้การว่าที่พิพาทตามฟ้องอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา กรมชลประทานมิได้ใช้ประโยชน์ เดิมเป็นที่ดินของบิดาจำเลยขายให้กระทรวงการคลัง จำเลยอาศัยที่ดินดังกล่าวตั้งถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร ส่วนถังเก็บน้ำมันขนาด10,000 ลิตรมิได้อยู่บนดิน โดยอยู่ในลำแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้ตลิ่ง แต่จำเลยถมดินให้มีระดับสูงเท่าตลิ่ง เพื่อป้องกันน้ำท่วมในฤดูน้ำโดยการรู้เห็นยินยอมของนายช่างโครงการคนก่อน ๆ มาเป็นเวลา 20 ปีแล้ว ที่พิพาทกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์โดยเป็นผู้ซื้อจากเจ้าของที่ดินกรมชลประทานเพียงอาศัยสิทธิของกระทรวงการคลัง ไม่ใช่เจ้าของที่พิพาท ไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังว่า ที่พิพาทอยู่ในเขตเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลบางหลวง อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาทพ.ศ. 2495 ให้แก่กรมชลประทาน แม้กระทรวงการคลังจะมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ถูกเวนคืน แต่ได้มอบให้อยู่ในความดูแลของกรมชลประทาน ส่วนที่พิพาทเป็นที่น้ำไหลทรายมูล เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ในการชลประทานโดยเฉพาะและอยู่ในเขตทางน้ำชลประทาน กรมชลประทานโจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้ พิพากษาให้จำเลยจัดการรื้อถอนปั๊มน้ำมัน ถังน้ำมันและอุปกรณ์ออกไปจากที่พิพาทห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าที่พิพาทที่จำเลยตั้งปั๊มน้ำมันอยู่ในเขตเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลบางหลวงอำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท พ.ศ. 2495 ให้แก่กรมชลประทาน กระทรวงการคลัง ได้ดำเนินการซื้อที่ดินที่ถูกเวนคืนจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองรวมทั้งที่พิพาทและได้มอบให้กรมชลประทานสร้างเขื่อนเจ้าพระยา แม้กระทรวงการคลังจะเป็นผู้ซื้อที่ดินที่ถูกเวนคืนรวมทั้งที่พิพาท ก็เป็นการดำเนินการและพิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินเป็นของรัฐ กระทรวงการคลังได้มอบให้กรมชลประทานโจทก์ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับดังกล่าว และกรมชลประทานโจทก์ได้เข้าดำเนินการสร้างเขื่อนตามโครงการชลประทานหลวงเขื่อนเจ้าพระยา โจทก์จึงเป็นผู้ครอบครองดูแลรักษาที่พิพาทซึ่งจำเลยก็ทราบแล้ว ทั้งเคยขอเช่าที่พิพาทจากโจทก์แต่โจทก์ไม่ยินยอมให้เช่า การที่จำเลยเข้าไปตั้งปั๊มน้ำมันเป็นการรบกวนการครอบครองของโจทก์ โจทก์แม้จะไม่มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารให้ออกไปจากที่พิพาทได้
พิพากษายืน