คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1628/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้ศาลแสดงว่าที่ดินซึ่งโจทก์ได้มาตามพินัยกรรมของนางสาว ก.เป็นของโจทก์ทั้งหมด ศาลพิพากษาคดีถึงที่สุดให้ยกฟ้องโจทก์ เพราะคดีโจทก์ขาดอายุความเรียกร้องมรดกตามพินัยกรรมของนางสาว ก. โจทก์จึงฟ้องจำเลยให้จัดการจำหน่ายที่ดินดังกล่าวแล้วนำเงินแบ่งให้โจทก์ครึ่งหนึ่งตามพินัยกรรมของนาง ร. การที่โจทก์กลับมาฟ้องจำเลยครั้งหลัง จึงเป็นการฟ้องเรียกที่ดินโดยอ้างสิทธิตามพินัยกรรมของนาง ร. ซึ่งเป็นพินัยกรรมอีกฉบับหนึ่ง มีข้อความแตกต่างกัน เป็นการเรียกร้องเอาทรัพย์ตามพินัยกรรมของเจ้ามรดกต่างคนกัน จึงมิใช่อาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้ำ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 25/2511)

ย่อยาว

คดีนี้ตามฟ้องโจทก์เท่าที่เกี่ยวกับประเด็นเรื่องฟ้องซ้ำมีว่านางรวย (เจ้ามรดก) ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2500 นางรวยได้ทำพินัยกรรมให้โจทก์ที่ 1 และจำเลยเป็นผู้รับมรดก และตั้งให้โจทก์ที่ 2 กับจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน พินัยกรรมกำหนดให้จัดการจำหน่ายทรัพย์สมบัติอย่างอื่น (รวมทั้งโฉนดเลขที่ 1109 และ 2066) เป็นเงินสดแล้วหักใช้ค่าทำศพตามสมควร เหลือเท่าใดให้แบ่งออกเป็นสองส่วนเท่า ๆ กัน ส่วนหนึ่งให้แก่โจทก์ที่ 1 อีกส่วนหนึ่งให้แก่จำเลย โจทก์ที่ 1 กับจำเลยได้เข้าถือกรรมสิทธิ์ครอบครองเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดที่ 1109 และ 2066 ร่วมกันตลอดมา โดยโจทก์จำเลยตกลงให้ฝ่ายโจทก์เป็นผู้เก็บรักษาโฉนดที่ดินดังกล่าวไว้ ในปี พ.ศ. 2507 โจทก์เพิ่งมาทราบว่า เมื่อ พ.ศ. 2504 จำเลยกับสามีได้ร่วมกันยื่นเรื่องราวเท็จต่อพนักงานที่ดินว่าโฉนดทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวสูญหายไปขอให้พนักงานที่ดินออกใบแทนโฉนดและจดทะเบียนที่ดินทั้ง 2 แปลงให้จำเลย เจ้าพนักงานหลงเชื่อจึงออกใบแทนโฉนดและจดทะเบียนการรับมรดกที่ดิน 2 แปลงนี้ให้จำเลยแต่ผู้เดียว การกระทำของจำเลยเป็นการทุจริต จงใจยักย้ายปิดบังทรัพย์มรดกมากกว่าส่วนที่ตนควรจะได้โดยการฉ้อฉล โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยมาประชุมหลายครั้งเพื่อจัดการจำหน่ายทรัพย์สินตามข้อกำหนดพินัยกรรมแต่จำเลยก็เฉย และได้แจ้งให้จำเลยยื่นคำร้องขอเพิกถอนใบแทนโฉนดพร้อมกับเพิกถอนนิติกรรมจดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดิน 2 แปลงนั้นแต่จำเลยไม่ยอมปฏิบัติ จึงขอให้ศาลสั่งทำลายใบแทนโฉนดที่ดิน 1109 และ 2066 สั่งเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดิน 2 แปลงนี้ สั่งกำจัดจำเลยมิให้ได้รับมรดกที่ดินทั้ง 2 แปลงส่วนที่จำเลยจะได้รับตามพินัยกรรม ให้จำเลยร่วมกับโจทก์จัดการจำหน่ายที่ดินดังกล่าวแล้วนำเงินแบ่งให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง ถ้าตกลงในการจัดการจำหน่ายไม่ได้ ก็ให้ขายทอดตลาดนำเงินแบ่งกัน ถ้าจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย

จำเลยให้การว่า โจทก์เคยฟ้องจำเลยขอให้ศาลแสดงว่าที่ดินโฉนดที่ 1109 และ 2066 เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามพินัยกรรมของนางสาวกฤษณ์ กรศิริ และขอให้ถอนชื่อนางรวยออกจากโฉนด 2 แปลงนี้เสียแต่ศาลฎีกาได้พิพากษาว่าโจทก์ไม่เรียกร้องภายในอายุความมรดกจึงหมดสิทธิเรียกร้อง การที่โจทก์มาฟ้องเป็นคดีนี้อีกเป็นฟ้องซ้ำและขาดอายุความ จำเลยเป็นผู้ครอบครองถือกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวมาฝ่ายเดียว ที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยไปขอรับใบแทนโฉนดที่ 1109 และ 2066 ให้พนักงานที่ดินใส่ชื่อจำเลยในโฉนดเป็นผู้รับมรดกของนางรวยนั้น โจทก์ไม่เสียหาย เพราะโจทก์ไม่มีสิทธิในที่ดิน 2 แปลงนี้แล้ว โดยจำเลยไปขอโอนโฉนดภายหลังที่ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องโจทก์ในคดีก่อน ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ที่เกี่ยวกับโฉนดที่ 1109 และ 2066ไม่เป็นฟ้องซ้ำ พิพากษาให้โจทก์ชนะคดี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แต่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์มีความเห็นแย้งว่า ฟ้องโจทก์ที่เกี่ยวกับที่ดินโฉนดที่ 1109 และ 2066 เป็นฟ้องซ้ำ ควรพิพากษายกฟ้องโจทก์เฉพาะคำขอที่เกี่ยวกับที่ดินดังกล่าว 2 แปลงเสีย

จำเลยฎีกาว่าเป็นฟ้องซ้ำ

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เดิมที่ดินโฉนดที่ 1109 และ 2066 เป็นของนางสาวกฤษณ์บุตรสาวนางรวย เมื่อ พ.ศ. 2468 นางสาวกฤษณ์ทำพินัยกรรมยกให้โจทก์ที่ 1 ผู้เดียว แต่ให้นางลำดวนซึ่งเป็นยายและนางรวยซึ่งเป็นมารดามีสิทธิเก็บกินตลอดชีวิต นางสาวกฤษณ์ถึงแก่กรรมประมาณ พ.ศ. 2469 แต่โจทก์มิได้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของนางสาวกฤษณ์ จนกระทั่ง พ.ศ. 2475 นางรวยจึงจัดการใส่ชื่อของนางรวยเองในโฉนดทั้งสอง แล้วต่อมานางรวยทำพินัยกรรมยกที่ดินทั้งสองโฉนดนี้ให้โจทก์ที่ 1 กับจำเลยฝ่ายละครึ่ง โจทก์ถือว่าที่ดินสองแปลงนี้ควรตกเป็นของโจทก์แต่ผู้เดียวตามพินัยกรรมของนางสาวกฤษณ์แต่จำเลยขอให้แบ่งครึ่งระหว่างโจทก์จำเลยตามพินัยกรรมของนางรวยโจทก์ที่ 1 ในคดีนี้จึงได้ยื่นฟ้องจำเลยเรียกที่ดินทั้ง 2 โฉนดดังกล่าวตามพินัยกรรมของนางสาวกฤษณ์ ซึ่งในที่สุดศาลฎีกาพิพากษาให้โจทก์แพ้คดี เพราะคดีโจทก์ขาดอายุความเรียกร้องมรดกของนางสาวกฤษณ์ตามพินัยกรรม ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1516/2503 หลังจากศาลฎีกาพิพากษาคดีดังกล่าวแล้วจำเลยไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าโฉนดที่ 1109 และ 2066 หายไป จำเลยเป็นผู้รับมรดกที่ไม่มีพินัยกรรมขอให้เจ้าพนักงานออกโฉนดให้ใหม่ เจ้าพนักงานที่ดินได้ออกใบแทนโฉนดทั้งสองให้ และโอนใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้รับมรดก โจทก์จึงฟ้องคดีนี้เรียกทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมที่นางรวยทำไว้

ศาลฎีกาพิจารณาฎีกาข้อนี้ในที่ประชุมใหญ่แล้วเห็นว่า คดีเดิมตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1516/2503 โจทก์ฟ้องจำเลยเรียกที่ดินโฉนดที่1109 และ 2066 โดยอ้างสิทธิตามพินัยกรรมของนางสาวกฤษณ์ จำเลยยกอายุความขึ้นต่อสู้ ศาลฎีกาพิพากษาว่าโจทก์หมดสิทธิในพินัยกรรมของนางสาวกฤษณ์แล้ว แต่ในคดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกที่ดินทั้ง 2 แปลงดังกล่าวโดยอ้างสิทธิตามพินัยกรรมของนางรวย ซึ่งเป็นพินัยกรรมอีกฉบับหนึ่ง มีข้อความต่างกันเป็นการเรียกร้องเอาทรัพย์ตามพินัยกรรมของเจ้ามรดกต่างคนกัน มิใช่อาศัยเหตุอย่างเดียวกันทั้งคำพิพากษาฎีกาที่ 1516/2503 ก็มิได้วินิจฉัยว่า โจทก์หมดสิทธิตามพินัยกรรมนางรวยแต่ประการใด คดีโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ

พิพากษายืน

Share