แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยแต่ละคนรวม 47 สำนวน ออกไปจากที่ดินพิพาทและเรียกค่าเสียหาย โดยบรรยายฟ้องว่า ที่ดินที่จำเลยแต่ละสำนวนบุกรุกนั้นให้เช่าได้ไม่เกิน เดือนละ 5,000 บาท จึงเป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลในกรณีอื่นออกจากอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งในขณะยื่นคำฟ้องอาจให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละ 5,000 บาท จำเลยมิได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ และมิได้ยกข้อโต้เถียงในเรื่องแปลความหมายแห่งข้อความในสัญญาที่ก่อให้เกิดสิทธิอยู่บนอสังหาริมทรัพย์นั้น เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น คดีทั้ง 47 สำนวน จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสองซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ทั้งสามยื่นฎีกาที่โจทก์ทั้งสามฎีกาว่า โจทก์ทั้งสามมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทและได้ครอบครองตลอดมา โจทก์ทั้งสามเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน โจทก์หรือผู้ใดก็หามีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองไม่ แม้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และท. จะได้ครอบครองที่ดินพิพาทมาก่อนแล้วให้ ก. เช่าก็จะถือว่าโจทก์ทั้งสามมอบให้ ก. ครอบครองแทนมิได้เพราะโจทก์ทั้งสามและ ท. ไม่มีสิทธิจะให้เช่าหรือมอบให้ผู้ใดครอบครองแทน การที่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และ ท. ให้ ก.เช่าที่ดินพิพาททำประโยชน์ก็เท่ากับโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และ ท. สละการครอบครองที่ดินที่ตนไม่มีสิทธินั้นให้แก่ ก.แล้ว ดังนั้นระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลย เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายครอบครองที่ดินพิพาทอยู่โจทก์ทั้งสามย่อมไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลย โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ ปัญหาข้อนี้จำเลยส่วนใหญ่ได้ให้การต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์ทั้งสามแต่เป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน การที่ศาลอุทธรณ์ยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยจึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นและปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยบางคนจะไม่ได้ให้การต่อสู้ให้เป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ ศาลก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)
ย่อยาว
คดีทั้ง 47 สำนวนนี้ ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสามทุกสำนวนตามลำดับเดิม
ระหว่างพิจารณาก่อนศาลชั้นต้นสั่งรวมการพิจารณา โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ในสำนวนคดีหมายเลขดำที่ 101/2530ของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นอนุญาตและสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2ในสำนวนดังกล่าวออกจากสารบบความ
โจทก์ทั้ง 47 สำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าของที่ดินมีเนื้อที่ประมาณ 100 ไร่ โจทก์ทั้งสามแจ้งให้จำเลยทั้งหมดออกไปจากที่ดิน แต่จำเลยทุกคนเพิกเฉย ขอให้พิพากษาว่าโจทก์ทั้งสามมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทห้ามเข้าไปเกี่ยวข้องและให้ส่งมอบคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย ให้จำเลยที่ 9 ถึงที่ 51ใช้ค่าเสียหายเป็นรายปีนับตั้งแต่ปี 2529 จนกว่าจะออกไปจากที่ดินพิพาทโดยจำเลยที่ 9 และที่ 44 ปีละ 700 บาท จำเลยที่ 10ที่ 11 ที่ 20 ที่ 21 ที่ 24 ที่ 26 ที่ 27 ที่ 37 ที่ 38 ที่ 46ที่ 47 และที่ 51 ปีละ 500 บาท จำเลยที่ 12 ที่ 14 ที่ 15 ที่ 16ที่ 19 ที่ 22 ที่ 23 ที่ 25 และที่ 45 ปีละ 300 บาท จำเลยที่ 13ปีละ 400 บาท จำเลยที่ 18 ที่ 36 ที่ 39 ที่ 49 และที่ 50ปีละ 1,000 บาท จำเลยที่ 28 ปีละ 100 บาท จำเลยที่ 29ปีละ 900 บาท จำเลยที่ 30 ที่ 31 ที่ 32 ที่ 34 และที่ 42ปีละ 200 บาท จำเลยที่ 33 ปีละ 800 บาท จำเลยที่ 35 ปีละ1,500 บาท จำเลยที่ 40 ปีละ 2,500 บาท จำเลยที่ 41 ปีละ1,200 บาท จำเลยที่ 43 และที่ 48 ปีละ 600 บาท
จำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 51 ให้การว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่เป็นของโจทก์ แต่เป็นที่ดินทำเลเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินสาธารณสมบัติแผ่นดินที่ทางราชการสงวนไว้ให้ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน จำเลยที่ 4 ไม่เคยบุกรุกเข้าไปในที่ดินพิพาท ส่วนจำเลยอื่นเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2526 โจทก์ไม่เคยบอกกล่าวหรือห้ามปราม โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องคดีหลังจากถูกแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทมาเกิน 1 ปีแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้ง 47 สำนวน
โจทก์ทั้ง 47 สำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายืน
โจทก์ทั้ง 47 สำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีทั้ง 47 สำนวน โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยแต่ละสำนวนออกไปจากที่ดินพิพาทและเรียกค่าเสียหาย ซึ่งโจทก์ทั้งสามบรรยายฟ้องว่าที่ดินที่จำเลยแต่ละสำนวนบุกรุกนั้นให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละ 5,000 บาทจึงเป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลในกรณีอื่นออกจากอสังหาริมทรัพย์ซึ่งในขณะยื่นคำฟ้องอาจให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละ 5,000 บาทจำเลยมิได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ และมิได้ยกข้อโต้เถียงในเรื่องแปลความหมายแห่งข้อความในสัญญาที่ก่อให้เกิดสิทธิอยู่บนอสังหาริมทรัพย์นั้น เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นคดีทั้ง 47 สำนวน จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสองซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ทั้งสามยื่นฎีกา ที่โจทก์ทั้งสามฎีกาว่า โจทก์ทั้งสามมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทและได้ครอบครองตลอดมา โจทก์ทั้งสามเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คงมีปัญหาข้อกฎหมายที่โจทก์ทั้งสามฎีกามาว่า แม้ที่ดินพิพาทจะเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ แต่ในกรณีระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกัน โจทก์ทั้งสามย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยผู้บุกรุกเข้ามารบกวนการครอบครองได้ และคดีนี้ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์หรือไม่ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1หยิบยกปัญหาว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์โจทก์ทั้งสามไม่มีอำนาจฟ้องขึ้นวินิจฉัย จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นนั้น ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องฟังข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงมาว่าที่ดินพิพาทตามฟ้องทั้ง 47 สำนวน เนื้อที่ประมาณ 100 ไร่เป็นที่ทำเลเลี้ยงสัตว์เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1304(2) เมื่อ พ.ศ. 2513 โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และนายทวีคูณ โป๊ะเงิน สามีของโจทก์ที่ 3 ได้ร่วมกันซื้อที่ดินพิพาททั้งหมดมาจากนายเผ่า โคบุตร หลังจากซื้อแล้วโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และนายทวีคูณ ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท พ.ศ. 2516 โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และนายทวีคูณให้นายกริชชัย แซ่ซื้อ เช่าที่ดินพิพาททั้งหมด แล้วนายกริชชัยเข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท พ.ศ. 2524 นายทวีคูณตาย โจทก์ที่ 3 เป็นผู้รับมรดกของนายทวีคูณ ต่อมาจำเลยทั้ง 47 สำนวน รวม 51 คน เข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโจทก์ทั้งสามจึงไปแจ้งความกล่าวหาว่าจำเลยบุกรุกเมื่อ พ.ศ. 2529พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน โจทก์หรือผู้ใดก็หามีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองไม่ แม้โจทก์ที่ 1 ที่ 2และนายทวีคูณจะได้ครอบครองที่ดินพิพาทมาก่อนแล้วให้นายกริชชัยเช่าก็จะถือว่าโจทก์ทั้งสามมอบให้นายกริชชัยครอบครองแทนมิได้เพราะโจทก์ทั้งสามและนายทวีคูณไม่มีสิทธิจะให้เช่าหรือมอบให้ผู้ใดครอบครองแทน การที่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และนายทวีคูณให้นายกริชชัยเช่าที่ดินพิพาททำประโยชน์ก็เท่ากับโจทก์ที่ 1ที่ 2 และนายทวีคูณให้นายกริชชัยเช่าที่ดินพิพาททำประโยชน์ก็เท่ากับโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และนายทวีคูณสละการครอบครองที่ดินที่ตนไม่มีสิทธินั้นให้แก่นายกริชชัยแล้ว ดังนั้นระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลย เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายครอบครองที่ดินพิพาทอยู่โจทก์ทั้งสามย่อมไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลย โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้คำพิพากษาฎีกาที่โจทก์ทั้งสามอ้างมาในฎีกา ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ปัญหานี้จำเลยส่วนใหญ่ได้ให้การต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์ทั้งสาม แต่เป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยจึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น และปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยบางคนจะไม่ได้ให้การต่อสู้ให้เป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ ศาลก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(5)
พิพากษายืน