คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7856/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาทรัพย์ต่ำกว่าความเป็นจริงมาก อาจเป็นเหตุให้ต้องยึดทรัพย์ของลูกหนี้หลายสิ่งเกินกว่าความจำเป็น และอาจสั่งให้รวมขายไปด้วยกัน จึงเป็นที่เห็นได้ว่าการประเมินราคาทรัพย์ของเจ้าพนักงานบังคับคดีอาจมีผลให้เกิดความเสียหายแก่ลูกหนี้หรือบุคคลอื่นที่มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีได้ แม้เจ้าพนักงานบังคับคดีได้กระทำการโดยสุจริตก็ตาม จึงถือได้ว่าได้ดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จำเลยจึงอาจร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนวิธีการบังคับคดีเสียได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์เจ้าหนี้ตามคำพิพากษานำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองที่ดินของจำเลยรวม 6 โฉนด ตำบลบึงสาน อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก เพื่อขายทอดตลาดบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมโดยเจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาที่ดินรวมราคาประเมินทั้ง 6 แปลง เป็นเงิน 3,997,750 บาท
จำเลยยื่นคำร้องว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาที่ดินทั้ง 6 แปลง ต่ำไป ขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการขายทอดตลาดและประเมินราคาที่ดินทั้ง 6 แปลง ใหม่
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า แม้การประเมินราคาทรัพย์ของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นเพียงราคากลางเพื่อใช้เป็นเกณฑ์กำหนดในการขายทอดตลาดและการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ไม่มีข้อผูกมัดว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องขายในราคาดังกล่าวนั้นก็ตาม แต่กฎหมายมีเจตนารมณ์ที่จะให้ขายให้ได้ราคาสูงสุดเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงต้องระวังผลประโยชน์ของคู่ความหรือบุคคลอื่นที่มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีให้มากที่สุด จึงจะถือได้ว่าได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ในการพิจารณาว่าราคาซึ่งมีผู้สู้สูงสุดนั้นเป็นราคาที่สมควรหรือไม่ ควรอนุญาตให้ขายได้หรือไม่ ย่อมต้องนำราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีมาเป็นฐานในการพิจารณา และยังนำมาใช้คำนวณค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีเมื่อยึดทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายตามตาราง 5 ข้อ 3 ท้าย ป.วิ.พ. นอกจากนี้กฎหมายห้ามไม่ให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเกินกว่าที่พอจะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมในคดีและค่าธรรมเนียมในการบังคับคดี และในการขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้นั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจจัดสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์สองสิ่งหรือกว่านั้นขึ้นไป รวมขายไปด้วยกันได้เมื่อเป็นที่คาดหมายได้ว่าเงินรายได้ในการขายจะเพิ่มขึ้นเพราะเหตุนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 284 วรรคหนึ่ง และมาตรา 309 (1) (ข) การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาทรัพย์ต่ำกว่าความเป็นจริงมาก อาจเป็นเหตุให้ต้องยึดทรัพย์ของลูกหนี้หลายสิ่งเกินกว่าความจำเป็น และอาจสั่งให้รวมขายไปด้วยกัน จึงเป็นที่เห็นได้ว่าการประเมินราคาทรัพย์ของเจ้าพนักงานบังคับคดีอาจมีผลให้เกิดความเสียหายแก่ลูกหนี้หรือบุคคลอื่นที่มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีได้ แม้เจ้าพนักงานบังคับคดีได้กระทำการโดยสุจริตก็ตาม จึงถือได้ว่าได้ดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จำเลยจึงอาจร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนวิธีการบังคับคดีเสียได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง ที่ศาลล่างทั้งสองให้ยกคำร้องของจำเลยเสียนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยฟังขึ้น
พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนคำร้องของจำเลยและมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำสั่งใหม่.

Share