คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16275/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ขณะที่จำเลยทำหนังสือ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ซึ่งพิมพ์เผยแพร่ในขณะนั้นจะไม่ปรากฏคำว่า “แกนนำ” แต่ก็เป็นถ้อยคำที่ใช้กันอยู่อย่างแพร่หลายทั้งในสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ และในสังคมไทยที่มีการชุมนุมกันทางการเมืองของกลุ่มต่าง ๆ มากมาย โดยเป็นการนำความหมายของคำว่า “แกน” ซึ่งเป็นคำนามหมายความว่า วัตถุแข็งที่อยู่ตรงกลางของสิ่งอื่นสำหรับยึดให้อยู่ และความหมายของคำว่า ” นำ” ซึ่งเป็นคำกริยาหมายความว่า ไปข้างหน้า เช่น นำขบวนหรือออกหน้ามากล่าวรวมกันเป็น “แกนนำ” เพื่อบ่งบอกว่า ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นแกนนำในการชุมนุมกันทางการเมืองนั้น เป็นผู้ทำหน้าที่เป็นหลักยึดเป็นผู้นำให้แก่ผู้ร่วมชุมนุมนั่นเอง ซึ่งต่อมาพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ก็ให้ความหมายในทำนองนี้ว่า “แกนนำ” เป็นคำนามแปลว่า ผู้ที่เป็นหลักในการเจรจาเพื่อดำเนินการเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จึงอาจถือเอาตามความหมายที่รู้และเข้าใจกันในการสื่อสารในสังคมไทยในขณะนั้นเพื่อพิจารณาว่าข้อความที่จำเลยกล่าวนั้นเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์หรือไม่
จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่าโจทก์ซึ่งเป็นลูกน้องคนสนิทของ ด. เป็นแกนนำในการจัดกำลังพนักงานพิทักษ์ป่าและเคลื่อนกำลังไปชนกับกลุ่มของ ส. ที่ชุมนุมกันอยู่ ทำให้เกิดความวุ่นวายและความไม่สงบขึ้นกับบ้านเมืองจริงตามข้อความที่จำเลยเขียน ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงที่จำเลยนำสืบยังไม่ชัดแจ้งเพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ว่าโจทก์เป็นแกนนำกระทำการดังที่จำเลยกล่าวใส่ความจริง แต่จำเลยสำคัญผิดว่ามีอยู่จริง จำเลยย่อมได้รับยกเว้นโทษตาม ป.อ. มาตรา 62 ประกอบมาตรา 330 และปัญหาว่า การกระทำของจำเลยได้รับยกเว้นโทษเพราะสำคัญผิดในข้อที่หาว่าหมิ่นประมาท เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 137, 326, 328 และ 332 ให้จำเลยลงโฆษณาคำพิพากษาของศาลในหนังสือพิมพ์รายวัน 5 ฉบับ เป็นเวลา 7 วัน ติดต่อกัน โดยจำเลยชำระค่าใช้จ่าย
ศาลจังหวัดเชียงใหม่ไต่สวนมูลให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดดังกล่าว
จำเลยยื่นคำร้องขอโอนการพิจารณาคดีนี้ไปศาลชั้นต้น
ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งโอนคดีไปพิจารณาที่ศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 จำคุก 2 เดือน และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษ1 ปี หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กับให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์มติชน ข่าวสด และไทยรัฐ 3 ฉบับ ด้วยตัวอักษรขนาดเท่าที่หนังสือพิมพ์ทั่วไปเสนอข่าวตามปกติเป็นเวลา 7 วันติดต่อกัน โดยจำเลยเป็นผู้ชำระค่าใช้จ่าย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ข้อความในหนังสือของจำเลยดังกล่าวเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์หรือไม่ เห็นว่า แม้ข้อความในข้อ 2.1 ตอนต้นมีเนื้อหาที่จะมุ่งถึงการกระทำของนายดำรงค์ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่ามีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เพราะสั่งให้ผู้อำนวยการสำนักทั่วประเทศจัดกำลังเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าซึ่งดูแลรักษาป่าทั่วประเทศเคลื่อนกำลังไปกรุงเทพมหานครหลายครั้ง เพื่อชนกับกลุ่มพันธมิตรของนายสนธิ ทำให้เกิดความวุ่นวายและก่อความไม่สงบขึ้นทั่วประเทศ โดยจำเลยมิได้กล่าวถึงโจทก์ก็ตาม แต่ข้อความถัดต่อมาที่ว่า “โดยมีลูกน้องคนสำคัญคือนายเก่งกาจ กับพวก เป็นแกนนำ” นั้น แม้จำเลยมิได้กล่าวโดยชัดแจ้งว่าโจทก์ได้กระทำอย่างไร หรือมีพฤติการณ์เช่นไร อันจะเป็นเหตุให้เกิดความวุ่นวายหรือก่อความไม่สงบในบ้านเมืองดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 กล่าวอ้างในคำวินิจฉัยก็ตาม แต่เมื่ออ่านรวมกับข้อความในตอนต้นแล้ว ผู้อ่านย่อมเข้าใจได้ทันทีว่า นายเก่งกาจ ซึ่งก็คือโจทก์ กับพวกซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของนายดำรงค์เป็นแกนนำในการนำกำลังเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าทั่วประเทศเคลื่อนกำลังไปที่กรุงเทพมหานครหลายครั้งเพื่อชนกับการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรของนายสนธินั่นเอง ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่า ทางพิจารณาโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เป็นที่ประจักษ์ว่า คำว่า “แกนนำ” เป็นคำที่มีความหมายอย่างไร และตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ซึ่งเป็นหนังสือรวบรวมคำที่มีใช้อยู่ในภาษาไทยในขณะที่จำเลยทำ ก็ไม่ปรากฏว่า “แกนนำ” เป็นคำที่มีการใช้อยู่ นั้น เห็นว่าแม้ตามพจนานุกรมฉบับดังกล่าวจะไม่ปรากฏคำว่า “แกนนำ” อยู่ในขณะนั้นก็ตาม แต่ก็เป็นถ้อยคำที่ใช้กันอยู่อย่างแพร่หลายทั้งในสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ และในสังคมไทยที่มีการชุมนุมกันทางการเมืองของกลุ่มต่าง ๆ มากมาย โดยเป็นการนำความหมายของคำว่า “แกน” ซึ่งเป็นคำนามหมายความว่า วัตถุแข็งที่อยู่ตรงกลางของสิ่งอื่นสำหรับยึดให้อยู่ และความหมายของคำว่า “นำ” ซึ่งเป็นคำกริยาหมายความว่า ไปข้างหน้า เช่น นำขบวนหรือออกหน้ามากล่าวรวมกันเป็น “แกนนำ” เพื่อบ่งบอกว่า ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นแกนนำในการชุมนุมกันทางการเมืองนั้น เป็นผู้ที่ทำหน้าที่เป็นหลักยึดเป็นผู้นำให้แก่ผู้ร่วมชุมนุมนั่นเอง ซึ่งต่อมาตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ก็ให้ความหมายในทำนองนี้ว่า “แกนนำ”เป็นคำนามแปลว่า ผู้ที่เป็นหลักหรือหัวหน้าของกลุ่มที่ชุมนุมเพื่อเรียกร้องหรือประท้วงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือผู้ที่เป็นหลักในการเจรจาเพื่อดำเนินการเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ดังนั้น แม้ขณะที่จำเลยทำหนังสือ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานที่พิมพ์เผยแพร่อยู่ในขณะนั้นจะมิได้ปรากฏคำว่า “แกนนำ” เป็นคำที่มีการใช้อยู่ในขณะนั้นก็ตาม แต่ก็อาจถือเอาตามความหมายที่รู้และเข้าใจกันในการสื่อสารในสังคมไทยในขณะนั้นเพื่อพิจารณาว่าข้อความที่จำเลยกล่าวนั้นเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์หรือไม่ ซึ่งตามข้อความในข้อ 2.1 ที่จำเลยเขียนถึงพลโทสพรั่ง แม่ทัพภาคที่ 3 กล่าวหาว่า นายดำรงค์ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สั่งให้ผู้อำนวยการสำนักทั่วประเทศจัดกำลังเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าทั่วประเทศเคลื่อนกำลังไปชนกับกลุ่มพันธมิตรของนายสนธิที่กรุงเทพมหานครหลายครั้ง ทำให้เกิดความวุ่นวายและก่อความไม่สงบขึ้นกับประเทศ โดยมีโจทก์ซึ่งเป็นลูกน้องคนสำคัญของนายดำรงค์เป็นหลักหรือผู้นำในการจัดกำลังและเคลื่อนกำลังไป จึงเป็นการใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์ผู้ถูกใส่ความนั้น เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง เข้าเกณฑ์เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่า ข้อความที่ปรากฏในเอกสาร ข้อ 2 และข้อ 2.1 ไม่อาจเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น อย่างไรก็ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 330 ได้บัญญัติยกเว้นโทษให้แก่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทว่า “ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดพิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ ถ้าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน” ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์เป็นข้าราชการระดับ 8 ตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ที่ 8 ขอนแก่น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช การพิสูจน์ความจริงว่า โจทก์เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาคนสำคัญของนายดำรงค์ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่เป็นแกนนำในการจัดนำกำลังเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าทั่วประเทศให้เคลื่อนกำลังไปชนกับกลุ่มพันธมิตรของนายสนธิที่กรุงเทพมหานครหลายครั้ง ทำให้เกิดความวุ่นวายและความไม่สงบขึ้นกับบ้านเมือง ย่อมมิใช่เป็นการใส่ความกันในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชน จึงไม่ต้องห้ามไม่ให้พิสูจน์ความจริงตามมาตรา 330 วรรคสอง ดังกล่าวข้างต้น คดีจึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ข้อความที่จำเลยเขียนหนังสือ ข้อ 2 และข้อ 2.1 เป็นความจริงหรือไม่ ซึ่งเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงจากหนังสือพิมพ์ที่ลงข่าวและหนังสือของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมทั้งข้อมูลจากประธานคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมวุฒิสภา ประกอบคำเบิกความของจำเลยที่เบิกความว่า จำเลยทราบจากพนักงานพิทักษ์ป่าที่เข้าอบรมหลายคนว่ามีการจัดอบรมผิดปกติโดยมีการซ้อมให้ร้องตะโกนว่า ไม่เอา ๆ และร้องเพลงรักเมืองไทย เช่นเดียวกับกลุ่มที่ไปชุมนุมต่อต้านการจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ครั้งที่ 15 วันที่ 20 มกราคม 2549 ของนายสนธิ ซึ่งการอบรมของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ไม่เคยมีการจัดคนจำนวนมากเข้ารับการอบรมถึง 1,850 คน และไปดูงานที่สวนลุมพินีมาก่อน จำเลยจึงเชื่อว่าการจัดอบรมครั้งนี้ผู้จัดมีเจตนาอื่นแอบแฝงอยู่ จำเลยทราบว่าโจทก์เดินทางมาสวนลุมพินีเพื่อนำพนักงานพิทักษ์ป่าหรือที่ทหารเรียกว่าหน่วยเสือไฟ ซึ่งอยู่ในอำนาจสั่งการของโจทก์ในฐานะผู้อำนวยการส่วนป้องกันและปราบปรามที่ 3 (ภาคเหนือ) ซึ่งรับผิดชอบอยู่ในเขต 17 จังหวัดภาคเหนือ เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มพนักงานพิทักษ์ป่าที่มาจากเขาใหญ่เพราะนอกจากนายดำรงค์จะสั่งให้นำพนักงานพิทักษ์ป่าไปร่วมอบรมที่เขาใหญ่แล้ว นายดำรงค์ยังสั่งการแก่จำเลยด้วยวาจา ให้จำเลยนำพนักงานพิทักษ์ป่าและคนงานในหน่วยงานสังกัดสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 10 (อุดรธานี) ของจำเลยให้มาร่วมชุมนุมคัดค้านการจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ครั้งที่ 15 ที่สวนลุมพินีด้วย ยิ่งไปกว่านั้น จำเลยยังเบิกความว่า โจทก์เป็นลูกน้องคนสนิทของนายดำรงค์ที่นายดำรงค์แต่งตั้งให้เลื่อนตำแหน่งจากระดับ 7 ขึ้นมาเป็นระดับ 8 ทั้ง ๆ ที่โจทก์เพิ่งได้รับการเลื่อนตำแหน่งจากระดับ 6 มาเป็นระดับ 7 ได้เพียง 5 เดือนเศษ เป็นการเลื่อนระดับข้ามอาวุโสข้าราชการอื่นหลายร้อยคน และโจทก์เป็นคนโทรศัพท์ถึงจำเลยให้จำเลยจัดกำลังเจ้าหน้าที่จากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 10 (อุดรธานี) มาสมทบเพิ่มเติมที่สวนลุมพินีในวันที่ 20 มกราคม 2549 ซึ่งต่อมานายดำรงค์ก็ได้โทรศัพท์ย้ำเตือนจำเลยให้นำพนักงานพิทักษ์ป่ามาสมทบเพิ่มเติมดังที่โจทก์เคยโทรศัพท์มาบอกจำเลยด้วย พฤติการณ์แห่งคดีดังที่ได้วินิจฉัยมามีเหตุผลเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันให้เชื่อได้ว่า จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่าโจทก์ซึ่งเป็นลูกน้องคนสนิทของนายดำรงค์เป็นแกนนำในการจัดกำลังพนักงานพิทักษ์ป่าและเคลื่อนกำลังไปชนกับกลุ่มพันธมิตรของนายสนธิที่ชุมนุมกันอยู่ในการจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรที่สวนลุมพินี ทำให้เกิดความวุ่นวายและความไม่สงบขึ้นกับบ้านเมืองจริงตามข้อความที่จำเลยเขียนใน ข้อ 2 และข้อ 2.1 ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงที่จำเลยนำสืบยังไม่ชัดแจ้งเพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ว่าโจทก์เป็นแกนนำกระทำการดังที่จำเลยกล่าวใส่ความจริง แต่จำเลยสำคัญผิดว่ามีอยู่จริงจำเลยย่อมได้รับยกเว้นโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 62 ประกอบมาตรา 330 และปัญหาว่า การกระทำของจำเลยได้รับยกเว้นโทษเพราะสำคัญผิดในข้อที่หาว่าหมิ่นประมาทเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความจะมิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์มานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน

Share