แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2552 แต่ได้ความว่าที่ดินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินแล้วตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน 2549 ตามคำสั่งศาลแพ่งซึ่งโจทก์เองก็ทราบดี เพราะเข้าเป็นคู่ความในคดีนั้นด้วยในฐานะผู้คัดค้าน แม้คดีดังกล่าวจะยังไม่ถึงที่สุด แต่ตราบใดที่ยังไม่มีคำสั่งหรือคำพิพากษาศาลสูงเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น คำสั่งนั้นย่อมมีผลอยู่ การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์สินที่มิใช่ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมเป็นการไม่ชอบ ทั้งทรัพย์สินของแผ่นดินย่อมไม่อาจยึดเพื่อการบังคับคดีไม่ว่าด้วยเหตุใดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1307 เมื่อต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาด โจทก์ก็มิได้โต้แย้งคัดค้านจนคำสั่งดังกล่าวถึงที่สุด โจทก์จึงเป็นผู้ดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนที่นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดพิพาทมาแล้วไม่มีการขาย ต้องเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 149 วรรคหนึ่ง ประกอบตาราง 5 ข้อ 3 ท้าย ป.วิ.พ. บทบัญญัติในมาตรา 161 วรรคหนึ่ง ให้ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดให้คู่ความฝ่ายใดเสียค่าฤชาธรรมเนียมได้ โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการดำเนินคดี จึงสมควรให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีกรณียึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขาย
ส่วนที่โจทก์อ้างว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดมิได้เพิกถอนการยึด โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมถอนการยึดตามคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดี เห็นว่า เมื่อโจทก์เป็นผู้นำยึดทรัพย์สินและเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดตามขั้นตอนแล้ว แต่ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดนั้นย่อมเท่ากับทรัพย์สินที่โจทก์นำยึดมาไม่มีการขาย ความรับผิดของผู้ดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนนี้ที่จะต้องชำระค่าธรรมเนียมจึงเกิดขึ้นแล้ว
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยชำระเงิน1,466,133.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ภายใน 6 เดือน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ หากผิดนัดจำเลยยินยอมให้โจทก์ยึดทรัพย์จำนอง ที่ดินโฉนดเลขที่ 270558 ตำบลบางเมือง อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ของนายธวัชชัย ผู้ตาย พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นอันเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน ต่อมาจำเลยผิดนัดชำระหนี้ วันที่ 23 กรกฎาคม 2552 ผู้แทนโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 270558 ตำบลบางเมือง อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา และในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2553 เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวโดยปลอดจำนอง มีนางพลอยนิสา และนางสุกมล เป็นผู้ประมูลซื้อได้ แต่ผู้ซื้อไม่อาจจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ เนื่องจากศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาให้ที่ดินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินแล้วตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน 2549 ตามคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.22/2549 เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงมีหนังสือลงวันที่ 26 สิงหาคม 2553 ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทเนื่องจากที่ดินดังกล่าวมิใช่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาและเป็นทรัพย์ที่ต้องห้ามมิให้ยึดตามกฎหมาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2553 ให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาท ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2554 แจ้งให้โจทก์ในฐานะผู้นำยึดชำระค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขาย 102,342.52 บาท ภายใน 15 วัน
โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านขอให้เพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขาย 102,342.52 บาท
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า เดิมนายธวัชชัย ผู้ตาย ทำสัญญากู้เงินจากโจทก์ 2,000,000 บาท โดยนำที่ดินโฉนดเลขที่ 270558 ตำบลบางเมือง อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ มาจดทะเบียนจำนองเป็นประกัน แล้วผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์จึงฟ้องจำเลยซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายให้ชำระหนี้ และเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2547 ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ตามฟ้องภายใน 6 เดือน หากผิดนัดให้บังคับจำนองจากทรัพย์พิพาทและทรัพย์สินอื่นอันเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายจนกว่าจะได้รับชำระหนี้ครบถ้วน ครั้นวันที่ 22 มิถุนายน 2552 โจทก์ยื่นคำขอให้ศาลออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ตามขอในวันเดียวกัน จากนั้นวันที่ 23 กรกฎาคม 2552 ผู้แทนโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทและนำออกขายทอดตลาดได้เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2553 มีนางพลอยนิสา และนางสุกมล เป็นผู้ซื้อทรัพย์ได้ แต่ปรากฏว่าที่ดินพิพาทนี้ศาลแพ่งมีคำสั่งเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2549 ให้ตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปรามปรามการฟอกเงิน ตามคดีหมายเลขแดงที่ ฟ. 22/2549 คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ผู้ซื้อทรัพย์จึงไม่อาจจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์มาได้ ต่อมาวันที่ 26 สิงหาคม 2553 เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทเนื่องจากโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินที่ไม่ใช่ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาและเป็นทรัพย์สินที่ต้องห้ามการยึดตามกฎหมาย การบังคับคดีดังกล่าวจึงไม่ชอบ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2553 หลังจากนั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือเรียกให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายและค่าใช้จ่ายในการบังคับคดีรวม 102,342.52 บาท ภายใน 15 วัน ตามหนังสือลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2554
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงประการเดียวว่า โจทก์ต้องชำระค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายตามคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า คำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมไม่ชอบเพราะศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทเท่านั้น มิได้ให้เพิกถอนการยึด และโจทก์นำยึดที่ดินดังกล่าวในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาโดยสุจริต โจทก์จึงไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ประกอบกับในคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.22/2549 ของศาลแพ่ง ที่พนักงานอัยการร้องขอให้ที่ดินพิพาทตกเป็นของแผ่นดินยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์อาจกำหนดเงื่อนไขในการคุ้มครองสิทธิของโจทก์ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 53 ก็ได้ กรณีจึงยังไม่สมควรถอนการยึดทรัพย์และให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมจนกว่าคดีดังกล่าวจะถึงที่สุดนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นผู้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2552 โดยอ้างว่าเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษา แต่ได้ความว่าที่ดินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินแล้วตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน 2549 ตามคำสั่งศาลแพ่งในคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.22/2549 ซึ่งโจทก์เองก็ทราบดีมาแต่ต้นเพราะโจทก์เข้าเป็นคู่ความในคดีนั้นด้วยในฐานะผู้คัดค้านที่ 11 แม้คดีดังกล่าวจะยังไม่ถึงที่สุด แต่ตราบใดที่ยังไม่มีคำสั่งหรือคำพิพากษาศาลสูงเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น คำสั่งนั้นย่อมมีผลอยู่ และเมื่อที่ดินพิพาทตกเป็นของแผ่นดินแล้ว การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์สินที่มิใช่ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมเป็นการไม่ชอบ ทั้งทรัพย์สินของแผ่นดินย่อมไม่อาจยึดเพื่อการบังคับคดีไม่ว่าด้วยเหตุใด ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1307 และต่อมาเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาด โจทก์ก็มิได้โต้แย้งคัดค้านจนคำสั่งดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว เช่นนี้ย่อมเห็นได้ว่า โจทก์เป็นผู้ดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนที่นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทมาแล้วไม่มีการขาย โจทก์จึงต้องเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 149 วรรคหนึ่ง ประกอบตาราง 5 ข้อ 3 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และแม้จะมีบทบัญญัติในมาตรา 161 วรรคหนึ่ง ให้ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดให้คู่ความฝ่ายใดเสียค่าฤชาธรรมเนียมได้ โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการดำเนินคดี แต่เมื่อพิจารณาว่าขณะโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทมาเพื่อขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์นั้น โจทก์ทราบดีว่าที่ดินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินแล้ว จึงสมควรให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีกรณียึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขาย ส่วนที่โจทก์อ้างว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดมิได้เพิกถอนการยึด โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมถอนการยึดตามคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีนั้นเห็นว่า ค่าธรรมเนียมที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเรียกให้โจทก์ชำระเป็นค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขาย เมื่อโจทก์เป็นผู้นำยึดทรัพย์สินและเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดตามขั้นตอนแล้ว แต่ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดนั้นย่อมเท่ากับทรัพย์สินที่โจทก์นำยึดมาไม่มีการขาย ความรับผิดของผู้ดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนนี้ที่จะต้องชำระค่าธรรมเนียมจึงเกิดขึ้นแล้ว ส่วนที่โจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิไว้ในคดีหมายเลขแดงที่ ฟ. 22/2549 ของศาลแพ่งนั้น ก็เป็นเรื่องที่โจทก์จะใช้สิทธิตามที่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 บัญญัติไว้ต่อไป แต่มิได้มีผลต่อคดีนี้ เนื่องจากคดีนี้ข้อเท็จจริงยุติแล้วว่า โจทก์นำยึดทรัพย์สินที่มิใช่ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาจนศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดไปแล้ว ทรัพย์สินที่โจทก์นำยึดมาจึงเป็นทรัพย์สินที่ยึดแล้วไม่มีการขายซึ่งโจทก์จะต้องรับผิดในค่าธรรมเนียมดังวินิจฉัยมาข้างต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ