แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หลังจากเจ้าพนักงานจับจำเลยที่ 3 ได้พร้อมใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์และแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีรถยนต์ปลอมของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 1ฬ – 2678 กรุงเทพมหานคร แล้ว จึงให้จำเลยที่ 3 โทรศัพท์ไปหาจำเลยที่ 4 เพื่อนัดรับใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ปลอมของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 7ฮ – 9961 กรุงเทพมหานคร การที่จำเลยที่ 4 นำใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ปลอมของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 7ฮ – 9961 กรุงเทพมหานคร มาส่งให้แก่จำเลยที่ 3 ตามที่จำเลยที่ 3 สั่งทำนั้น ถือว่าเป็นการใช้เอกสารราชการใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ปลอมของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 7ฮ – 9961 กรุงเทพมหานคร แล้ว
ในวันรุ่งขึ้นหลังการจับกุมจำเลยที่ 4 พนักงานสอบสวนได้สอบคำให้การจำเลยที่ 4 และในชั้นพิจารณาที่จำเลยที่ 4 เบิกความต่อศาล จำเลยที่ 4 ไม่เคยกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 4 รับราชการทหาร ทั้งขณะฟ้องคดีนี้ไม่ปรากฏหลักฐานว่า จำเลยที่ 4 รับราชการทหาร ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้
การที่จำเลยที่ 4 ปลอมหนังสือแสดงการจดทะเบียนของรถบรรทุกส่วนบุคคลหมายเลขทะเบียน 81 – 0409 กรุงเทพมหานคร กับปลอมแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีของรถบรรทุกส่วนบุคคลดังกล่าวนั้น จำเลยที่ 4 มีเจตนาอย่างเดียวกันคือ เพื่อนำไปใช้หรือแสดงต่อผู้พบเห็นว่ารถยนต์คันดังกล่าวเป็นรถยนต์ที่จดทะเบียนและเสียภาษีถูกต้องเพื่อจะได้ใช้รถยนต์คันดังกล่าวโดยชอบ การกระทำของจำเลยที่ 4 ในส่วนนี้จึงเป็นความผิดกรรมเดียว
แม้ตรายางที่ยึดได้ภายในรถยนต์ของจำเลยที่ 4 บางอันจะไม่ใช่ตรายางที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ใช้ในการกระทำความผิดคดีนี้ แต่ตรายางที่ยึดได้นั้น เห็นได้ชัดว่า เป็นอุปกรณ์ที่มีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารราชการของกรมการขนส่งทางบกโดยเฉพาะ จึงต้องริบตรายางทั้ง 25 อัน ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268, 91, 83, 33 ริบของกลาง และขอให้นับโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 425/2546 หมายเลขแดงที่ 1367/2547 ของศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 268 วรรคหนึ่ง (ที่ถูก มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265) ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 แต่เนื่องจากจำเลยทั้งสี่เป็นผู้ปลอมและใช้เอกสารปลอมด้วยตนเอง ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารปลอม แต่เพียงกระทงเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานใช้บัตรข้าราชการต่างกันปลอม (ที่ถูก ฐานใช้บัตรประจำตัวข้าราชการตำรวจปลอม) จำคุก 3 ปี ลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฐานร่วมกันใช้ใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ หมายเลขทะเบียน 1ฬ – 2678 กรุงเทพมหานคร จำคุกคนละ 3 ปี ฐานร่วมกันใช้ป้ายแสดงการเสียภาษีปลอมของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 1ฬ – 2678 กรุงเทพมหานคร จำคุกคนละ 3 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 6 ปี ลงโทษจำเลยที่ 4 ฐานใช้ใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์หมายเลขทะเบียน 7ฮ – 9961 กรุงเทพมหานคร จำคุก 3 ปี ฐานปลอมหนังสือแสดงการจดทะเบียนรถบรรทุกส่วนบุคคลหมายเลขทะเบียน 81 – 0409 กรุงเทพมหานคร จำคุก 3 ปี ฐานปลอมแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีรถยนต์ประจำปีของรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลหมายเลขทะเบียน 81 – 0409 กรุงเทพมหานคร จำคุก 3 ปี ฐานปลอมแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษี จำคุก 3 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 4 เป็นเวลา 12 ปี ให้นับโทษของจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีหมายเลขแดง (ที่ถูก คดีอาญาหมายเลขดำ) ที่ 425/2546 หมายเลขแดงที่ 1367/2547 ของศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี (ที่ถูก ข้อหาอื่นให้ยก) ริบของกลาง
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 และจำเลยที่ 3 และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานปลอมบัตรประจำตัวข้าราชการตำรวจ จำคุก 2 ปี จำเลยที่ 3 เป็นผู้ปลอมเอกสารราชการใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 1ฬ – 2678 กรุงเทพมหานคร และแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีรถยนต์ของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 1ฬ – 2678 กรุงเทพมหานคร และจำเลยที่ 4 เป็นผู้ปลอมเอกสารราชการใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 7ฮ – 9961 กรุงเทพมหานคร จึงให้ลงโทษฐานใช้เอกสารราชการปลอมดังกล่าว แต่เพียงกระทงเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง จำคุกคนละ 2 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและสอบสวนและจำเลยที่ 4 ให้การในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 1 ปี 4 เดือน ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก สำหรับจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง ให้คืนตรายางที่ระบุอักษรว่า “สขพ.3” “โอนกรรมสิทธิ์จาก…”, “แจ้งการใช้รถในกรุงเทพฯ ตามภูมิลำเนา”, “ปฏิบัติราชการแทน”, “ค่าธรรมเนียม (FEE) 505 บาท”, “กระบะบรรทุกส่วนบุคคล (ร.ย.3)”, “รถยนต์ส่วนบุคคลนั่งเกิน 7 คน “, “ใบคู่มือสูญหาย”, “ต่อก่อนล่วงหน้า 6 เดือน ให้นำรูปถ่ายมาต่ออายุทุกครั้ง”, “ออกแทนเล่มที่สูญหาย”, “(จทบ. รับชำระภาษีแทน)” และชื่อจังหวัดต่าง ๆ ยกเว้นชื่อจังหวัด “กรุงเทพมหานคร” ของกลางให้แก่เจ้าของ ไม่นับโทษของจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 425/2546 หมายเลขแดงที่ 1367/2547 ของศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 4 ฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้จำเลยที่ 4 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ เจ้าพนักงานตำรวจร่วมกันจับกุมจำเลยทั้งสี่และยึดใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 1ฬ – 2678 กรุงเทพมหานคร กับแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีรถยนต์คันดังกล่าว ใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 7ฮ – 9961 กรุงเทพมหานคร หนังสือแสดงการจดทะเบียนของรถบรรทุกส่วนบุคคลหมายเลขทะเบียน 81 – 0409 กรุงเทพมหานคร กับแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีของรถบรรทุกส่วนบุคคลดังกล่าว แผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีรถยนต์ประจำปี 2548 ที่ยังไม่ได้กรอกข้อความ 3 ฉบับ บัตรประจำตัวข้าราชการตำรวจของร้อยตำรวจตรีปรีชา ที่มีรูปถ่ายของจำเลยที่ 1 ติดอยู่อันเป็นเอกสารราชการปลอม และยึดตรายาง 25 อัน รวมทั้งเอกสารอื่น ๆ เป็นของกลางนำส่งพนักงานสอบสวน คดีในส่วนของจำเลยที่ 3 ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดฐานปลอมและใช้ใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 1ฬ – 2678 กรุงเทพมหานคร กับแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีรถยนต์ของรถยนต์คันดังกล่าวอันเป็นเอกสารราชการปลอม ลงโทษฐานใช้เอกสารราชการปลอมกระทงเดียว โจทก์ไม่ฎีกา จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ส่วนจำเลยที่ 1 ไม่ฎีกา ข้อเท็จจริงจึงฟังยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 นำรูปถ่ายของตนซึ่งแต่งเครื่องแบบเจ้าพนักงานตำรวจมาติดแทนรูปถ่ายของร้อยตำรวจตรีปรีชาในบัตรประจำตัวข้าราชการตำรวจของร้อยตำรวจตรีปรีชา โดยมีเจตนาเพื่อให้ผู้พบเห็นหลงเชื่อว่า รูปถ่ายของจำเลยที่ 1 ในบัตรประจำตัวข้าราชการตำรวจดังกล่าวเป็นรูปถ่ายของร้อยตำรวจตรีปรีชาโดยมีตำแหน่งตามที่ระบุไว้และเป็นบัตรประจำตัวข้าราชการตำรวจที่แท้จริงของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานปลอมบัตรประจำตัวข้าราชการตำรวจอันเป็นเอกสารราชการ สำหรับจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานปลอมใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์หมายเลขทะเบียน 7ฮ – 9961 ฐานปลอมหนังสือแสดงรายการจดทะเบียนรถบรรทุกส่วนบุคคลหมายเลขทะเบียน 81 – 0409 ฐานปลอมแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีรถยนต์ประจำปี 2547 ของรถบรรทุกส่วนบุคคลหมายเลขทะเบียน 81 – 0409 ฐานปลอมแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีรถยนต์ประจำปี 2548 จำนวน 3 ฉบับ และฐานใช้ใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์หมายเลขทะเบียน 7ฮ – 9961 ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ จึงต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาโจทก์ในส่วนนี้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานใช้บัตรประจำข้าราชการตำรวจปลอมดังกล่าวตามฟ้องโจทก์ด้วยหรือไม่ เห็นว่า แม้บันทึกการจับกุมจะไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงในรายละเอียดว่า จำเลยที่ 1 แสดงบัตรประจำตัวข้าราชการตำรวจปลอมให้พันตำรวจตรีบัณฑิต และจ่าสิบตำรวจตรีศักดิ์ เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมดู แต่โจทก์มีพันตำรวจตรีบัณฑิตและจ่าสิบตำรวจตรีศักดิ์ ซึ่งเป็นประจักษ์พยานที่รู้เห็นเหตุการณ์ในขณะเกิดเหตุมาเบิกความยืนยันประกอบบันทึกการจับกุมดังกล่าวว่า เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจแสดงตัวเข้าจับกุม จำเลยที่ 1 แสดงบัตรประจำตัวข้าราชการตำรวจดังกล่าว ให้เจ้าพนักงานตำรวจดู พร้อมกับกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจตามบัตร ในชั้นจับกุมยึดบัตรประจำตัวข้าราชการตำรวจดังกล่าวเป็นของกลางและแจ้งข้อหาจำเลยที่ 1 ว่าปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม (บัตรประจำตัวข้าราชการ) พยานโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ไม่เคยรู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1 มาก่อน จึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะเบิกความกลั่นแกล้งหรือปรักปรำจำเลยที่ 1 โดยปราศจากมูลความจริง เชื่อว่าเบิกความไปตามความจริงที่ปรากฏในชั้นสอบสวน ร้อยตำรวจเอกรามชัย พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาจำเลยที่ 1 ว่า ปลอมและใช้บัตรประจำตัวข้าราชการตำรวจปลอม จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพข้อหาใช้เอกสารราชการปลอม เมื่อพิจารณาว่า จำเลยที่ 1 ปลอมบัตรประจำตัวข้าราชการตำรวจเพื่อใช้แสดงต่อผู้พบเห็นให้หลงเชื่อว่าตนเป็นข้าราชการตำรวจ การที่จำเลยที่ 1 ใช้บัตรประจำตัวข้าราชการตำรวจแสดงต่อเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมเพื่อให้เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมหลงเชื่อว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจเช่นเดียวกันและไม่ให้จับกุมหรือปล่อยจำเลยที่ 1 ไป จึงหาใช่เรื่องผิดปกติดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ พยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวมีเหตุผลและน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 แสดงบัตรประจำตัวข้าราชการตำรวจต่อเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุม จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานใช้บัตรประจำตัวข้าราชการตำรวจปลอมตามฟ้องโจทก์ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ในข้อหานี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น
ส่วนฎีกาของโจทก์ในประการอื่น ๆ และฎีกาของจำเลยที่ 4 ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกฎีกาของจำเลยที่ 4 ขึ้นวินิจฉัยเสียก่อน แล้วจะวินิจฉัยฎีกาของโจทก์เป็นลำดับถัดไป โดยมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ว่า จำเลยที่ 4 มีความผิดฐานปลอมและใช้ใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 7ฮ – 9961 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเอกสารราชการปลอมตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีพันตำรวจเอกบัณฑิตเจ้าพนักงานตำรวจผู้ร่วมจับกุมเป็นพยานเบิกความว่า หลังจากจับกุมจำเลยที่ 3 แล้วยึดเอกสารซึ่งเป็นกระดาษจดด้วยลายมือเขียนได้จากจำเลยที่ 3 สอบถามจำเลยที่ 3 เกี่ยวกับเอกสารดังกล่าว จำเลยที่ 3 แจ้งว่าเป็นเอกสารที่ลูกค้าสั่งให้ทำใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ปลอมสำหรับรถยนต์ยี่ห้อวอลโว่ และในวันนี้จำเลยที่ 3 จะไปรับใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ปลอมเพื่อนำไปส่งให้ลูกค้าที่สั่งทำอีกรายหนึ่ง พยานกับพวกจึงวางแผนเพื่อจับกุมตัวการใหญ่ โดยให้จำเลยที่ 3 โทรศัพท์ไปหาจำเลยที่ 4 แจ้งว่า ได้เงินแล้วจะนำเงินไปให้และจะรับใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ นัดรับมอบใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ที่ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี สาขาสะพานใหม่ เวลา 21.30 นาฬิกา จากนั้นนำธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท 5 ฉบับ ทำเครื่องหมายขีดถูกใต้ครุฑด้านหน้าธนบัตรทุกฉบับและถ่ายเอกสารไว้ ครั้นถึงเวลานัดหมาย จำเลยที่ 4 ขับรถมายังจุดนัดหมายและส่งมอบใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 7ฮ – 9961 กรุงเทพมหานคร ให้แก่จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 ส่งมอบเงินให้จำเลยที่ 4 หลังจากนั้นพยานกับพวกแสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานตำรวจขอตรวจค้นและจับกุมจำเลยที่ 4 พร้อมกับยึดธนบัตรทั้ง 5 ฉบับ ดังกล่าวได้จากจำเลยที่ 4 คำเบิกความของพันตำรวจตรีบัณฑิตดังกล่าวสอดคล้องกับคำให้การของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งให้การในชั้นจับกุมว่า จำเลยที่ 3 รับใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์และแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีรถยนต์ของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 1ฬ – 2678 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเอกสารปลอมมาจากจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 2 สั่งจำเลยที่ 3 ทำใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ยี่ห้อวอลโว่แล้ว แต่ยังไม่ได้จ่ายเงิน จึงให้จำเลยที่ 3 โทรศัพท์แจ้งจำเลยที่ 4 ว่า เงินที่เป็นค่าสั่งทำใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ยี่ห้อวอลโว่ได้แล้ว ให้นำใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์มาส่งมอบให้ จนกระทั่งจับกุมจำเลยที่ 4 พร้อมกับยึดใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 7ฮ – 9961 กรุงเทพมหานคร เป็นของกลาง เมื่อตรวจดูกระดาษจดด้วยลายมือเขียน ที่จำเลยที่ 3 แจ้งว่าเป็นเอกสารที่ลูกค้าสั่งให้ทำใบคู่มือทะเบียนรถยนต์ปลอมสำหรับรถยนต์ยี่ห้อวอลโว่ ปรากฏว่ามีรายละเอียดหมายเลขตัวถังรถ หมายเลขเครื่องยนต์ ยี่ห้อรถวอลโว่ สีเขียว ระบุชื่อนายพงษ์ศักดิ์ ตรงกับรายละเอียดในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ที่มีชื่อนายพงษ์ศักดิ์ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ดังกล่าว และจำเลยที่ 4 นำมาส่งมอบให้จำเลยที่ 3 ส่วนใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ยี่ห้อวอลโว่ที่แท้จริงปรากฏตามรายการจดทะเบียนรถ ซึ่งเป็นรถยนต์ยี่ห้อวอลโว่ สีเขียว หมายเลขทะเบียน กม 101 เชียงใหม่ ที่จำเลยที่ 1 ขับมายังที่เกิดเหตุ หาใช่หมายเลขทะเบียน 7ฮ – 9961 กรุงเทพมหานคร ตามที่ปรากฏในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ไม่ และจากการตรวจค้นรถยนต์ที่จำเลยที่ 4 ขับมา พบตรายาง 25 อัน ที่ระบุอักษรเกี่ยวกับการใช้ในการปลอมเอกสารราชการของกรมการขนส่งทางบก รวมทั้งแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีรถยนต์ประจำปี 2548 ที่ยังไม่ได้กรอกข้อความ 3 ฉบับ แบบคำขอโอนและรับโอนของกรมการขนส่งทางบกที่ยังไม่ได้กรอกข้อความอีกหลายแผ่น และเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนรถยนต์ของกรมการขนส่งทางบกซึ่งเป็นเอกสารราชการปลอมอีกหลายรายการและบัญชีของกลาง พยานหลักฐานของโจทก์ข้างต้นมีเหตุผลเชื่อมโยงและสอดคล้องต้องกันให้รับฟังได้ปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 4 เป็นผู้ปลอมเอกสารราชการใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 7ฮ – 9961 กรุงเทพมหานคร และการที่จำเลยที่ 4 นำเอกสารปลอมดังกล่าวมาส่งมอบให้จำเลยที่ 3 ตามที่จำเลยที่ 3 สั่งทำนั้น ถือได้ว่าเป็นการนำเอกสารปลอมมาใช้ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนแล้ว จำเลยที่ 4 จึงมีความผิดฐานปลอมเอกสารราชการใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ของรถยนต์ หมายเลขทะเบียน 7ฮ – 9961 กรุงเทพมหานคร และใช้เอกสารปลอมฉบับดังกล่าวตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ที่จำเลยที่ 4 ฎีกาอ้างว่า จำเลยที่ 4 ไม่ทราบว่าเอกสารที่นำมาส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 3 เป็นเอกสารปลอมนั้น เป็นเพียงข้อแก้ตัวเพื่อให้ตนเองพ้นผิด ไม่อาจรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ส่วนที่จำเลยที่ 4 ฎีกาอ้างว่า ขณะจับกุมจำเลยที่ 4 เป็นนายทหารยศนาวาโท และการกระทำของจำเลยที่ 4 ไม่เกี่ยวข้องและเป็นคนละกรณีกับการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นพลเรือน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นทหารต่อศาลชั้นต้นได้นั้น เห็นว่า ในวันรุ่งขึ้นหลังการจับกุม พนักงานสอบสวนได้สอบคำให้การของจำเลยที่ 4 ไว้ตามเอกสารและในชั้นพิจารณาที่จำเลยที่ 4 เบิกความต่อศาล จำเลยที่ 4 ไม่เคยกล่าวอ้างเลยว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 4 รับราชการทหารยศนาวาโท ทั้งขณะฟ้องคดีนี้ไม่ปรากฏหลักฐานว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 4 รับราชการทหารยศนาวาโท ฎีกาของจำเลยที่ 4 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อมาว่า จำเลยที่ 4 กระทำความผิดฐานปลอมหนังสือแสดงการจดทะเบียนของรถบรรทุกส่วนบุคคลหมายเลขทะเบียน 81 – 0409 กรุงเทพมหานคร กับปลอมแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีของรถบรรทุกส่วนบุคคลคันดังกล่าวและปลอมแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีรถยนต์ประจำปี 2548 ที่ยังไม่ได้กรอกข้อความ 3 ฉบับ หรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์จะไม่มีพยานหลักฐานที่รู้เห็นว่า จำเลยที่ 4 ปลอมเอกสารดังกล่าว แต่โดยลักษณะความผิดฐานปลอมเอกสาร ผู้กระทำความผิดย่อมกระทำในที่ปกปิดลับตาผู้คน และยากที่จะหาพยานหลักฐานมานำสืบเพื่อยืนยันถึงการกระทำความผิดเช่นนั้นได้ เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้ติดต่อจำเลยที่ 4 ให้จัดทำใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 7ฮ – 9961 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเอกสารราชการปลอม และจำเลยที่ 4 นำมาส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 3 ดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้นแล้ว ประกอบพยานแวดล้อมกรณีที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดหนังสือแสดงการจดทะเบียนของรถบรรทุกส่วนบุคคลหมายเลขทะเบียน 81 – 0409 กรุงเทพมหานคร กับแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีของรถบรรทุกส่วนบุคคลคันดังกล่าวและแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีรถยนต์ประจำปี 2548 ที่ยังไม่ได้กรอกข้อความ 3 ฉบับ ได้จากการตรวจค้นภายในรถยนต์ของจำเลยที่ 4 ที่ขับมายังที่เกิดเหตุ นอกจากนี้ยังตรวจค้นพบตรายาง 25 อัน ที่ระบุอักษรเกี่ยวกับการใช้ในการปลอมเอกสารราชการของกรมการขนส่งทางบกรวมทั้งแบบคำขอโอนและรับโอนของกรมการขนส่งทางบกที่ยังไม่ได้กรอกข้อความอีกหลายแผ่น ซึ่งเป็นวัตถุที่ใช้ในการปลอมเอกสารราชการ จึงยึดเป็นของกลาง พยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าว ล้วนเป็นข้อบ่งชี้และมีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 4 ปลอมหนังสือแสดงการจดทะเบียนของรถบรรทุกส่วนบุคคลหมายเลขทะเบียน 81 – 0409 กรุงเทพมหานคร กับปลอมแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีของรถบรรทุกส่วนบุคคลคันดังกล่าว และปลอมแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีรถยนต์ประจำปี 2548 ที่ยังไม่ได้กรอกข้อความ 3 ฉบับ จำเลยที่ 4 จึงมีความผิดฐานปลอมเอกสารราชการดังกล่าว แต่ที่จำเลยที่ 4 ปลอมหนังสือแสดงการจดทะเบียนของรถบรรทุกส่วนบุคคลหมายเลขทะเบียน 81 – 0409 กรุงเทพมหานคร กับปลอมแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีของรถบรรทุกส่วนบุคคลนั้น จำเลยที่ 4 มีเจตนาอย่างเดียวกันคือ ก็เพื่อนำไปใช้หรือแสดงต่อผู้พบเห็นว่า รถยนต์คันดังกล่าวเป็นรถยนต์ที่จดทะเบียนและเสียภาษีถูกต้องเพื่อจะได้ใช้รถยนต์คันดังกล่าวโดยชอบ การกระทำของจำเลยที่ 4 เกี่ยวกับการปลอมและใช้หนังสือแสดงการจดทะเบียนและแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีของรถบรรทุกส่วนบุคคลหมายเลขทะเบียน 81 – 0409 กรุงเทพมหานคร จึงเป็นความผิดกรรมเดียว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่า ตรายาง 25 อัน ของกลางที่ระบุอักษรอื่น ๆ นอกจากคำว่า “รถยนต์นั่งไม่เกิน 7 คน” , “ออกแทนเล่มทะเบียนชำรุด” และ “กรุงเทพมหานคร” ซึ่งศาลอุทธรณ์สั่งคืนแก่เจ้าของเป็นทรัพย์สินที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดอันต้องริบหรือไม่ เห็นว่า การริบทรัพย์สินเป็นโทษอย่างหนึ่งสำหรับลงแก่ผู้กระทำความผิด ศาลจะสั่งริบทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดได้ต่อเมื่อมีการกระทำความผิดเกิดขึ้นและโจทก์ได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานนั้นด้วย คดีนี้ แม้ตรายางที่ยึดได้ภายในรถยนต์ของจำเลยที่ 4 บางอันจะไม่ใช่ตรายางที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้ใช้ในการกระทำความผิดในคดีนี้ แต่ตรายางที่ยึดได้นั้น เห็นได้ชัดว่า เป็นอุปกรณ์ที่มีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารราชการของกรมการขนส่งทางบกโดยเฉพาะ และโจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ขอให้ลงโทษในข้อหาร่วมกันปลอมและใช้เอกสารราชการปลอมมาด้วยแล้ว จึงต้องริบตรายางทั้ง 25 อัน ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาในส่วนนี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้ว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบ มาตรา 265 ด้วย ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานใช้บัตรประจำตัวข้าราชการตำรวจปลอมกระทงเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง จำคุก 2 ปี จำเลยที่ 4 มีความผิดฐานปลอมหนังสือแสดงการจดทะเบียนของรถบรรทุกส่วนบุคคลหมายเลขทะเบียน 81 – 0409 กรุงเทพมหานคร กับปลอมแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีรถยนต์ของรถยนต์คันดังกล่าว และปลอมแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีรถยนต์ประจำปี 2548 ที่ยังไม่ได้กรอกข้อความ 3 ฉบับ ซึ่งเป็นเอกสารราชการอีก 2 กระทง ลงโทษจำเลยที่ 4 ฐานปลอมหนังสือแสดงการจดทะเบียนของรถบรรทุกส่วนบุคคลหมายเลขทะเบียน 81 – 0409 กรุงเทพมหานคร กับปลอมแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีรถยนต์ของรถยนต์คันดังกล่าวกระทงหนึ่ง และปลอมแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีรถยนต์ประจำปี 2548 ที่ยังไม่ได้กรอกข้อความ 3 ฉบับ อีกกระทงหนึ่ง ลงโทษกระทงละ 2 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและจำเลยที่ 4 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี 4 เดือน และจำคุกจำเลยที่ 4 กระทงละ 1 ปี 4 เดือน รวม 2 กระทงจำคุก 2 ปี 8 เดือน เมื่อรวมโทษจำคุกของจำเลยที่ 4 ในกระทงอื่นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 3 ปี 12 เดือน และให้ริบตรายางของกลางที่ระบุอักษรอื่น ๆ ที่ศาลอุทธรณ์สั่งคืนให้แก่เจ้าของทั้งสิ้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์