คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5988/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา จัดให้มีขึ้นเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2549 ต่อมามีผู้ร้องคัดค้านและคณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีคำวินิจฉัยสั่งการ ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2549 ซึ่งช่วงระยะเวลาดังกล่าว พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 มีผลใช้บังคับ แม้ต่อมาจะมี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 ออกมาใช้บังคับ ซึ่งได้กำหนดสัดส่วนองค์ประชุมของคณะกรรมการการเลือกตั้งในมาตรา 8 แตกต่างไปจากกฎหมายฉบับเดิมก็ตาม ศาลจะหยิบยกกฎหมายฉบับที่แก้ไขใหม่ดังกล่าวมาปรับแก่คดีนี้ไม่ได้
ข้อความตามมาตรา 8 วรรคแรก แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 บัญญัติว่า การประชุมของคณะกรรมการการเลือกตั้งต้องมีกรรมการการเลือกตั้งมาประชุมไม่น้อยกว่าสี่ในห้าของจำนวนกรรมการการเลือกตั้งทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ จึงจะเป็นองค์ประชุม หมายถึงจำนวนคนไม่ใช่สัดส่วนที่คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ดังนั้น เมื่อขณะลงมติมีคณะกรรมการการเลือกตั้ง 3 คน และกรรมการการเลือกตั้งทั้งสามคนได้ลงมติให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยและให้มีการเลือกตั้งใหม่ จึงเป็นการลงคะแนนไม่น้อยกว่าสี่ในห้าของจำนวนกรรมการตามนัยแห่งกฎหมายข้างต้นแล้ว
การฟ้องผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งให้รับผิดค่าเสียหายที่เป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ตามมาตรา 99 วรรคหนึ่ง นั้น เป็นการฟ้องให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งรับผิดในทางแพ่งที่มีเหตุมาจากการที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งฝ่าฝืนมาตรา 57 จนเป็นเหตุให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและให้เลือกตั้งใหม่ตามมาตรา 97 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยจะถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาดังกล่าวด้วยก็ตาม กรณีมิใช่เป็นเรื่องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ที่ศาลจะต้องถือข้อเท็จจริงตามปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา เพียงแต่ว่าเมื่อจำเลยให้การปฏิเสธความรับผิดว่าไม่เคยกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 57 จนเป็นเหตุให้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและมีการเลือกตั้งใหม่ จำเลยย่อมมีสิทธินำสืบปฏิเสธความรับผิดตามคำให้การได้ และมีสิทธิอ้างคำพิพากษาในคดีอาญาเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้ และศาลย่อมใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวประกอบได้ แต่พยานหลักฐานดังกล่าวจะมีน้ำหนักให้รับฟังได้ประการใดหรือไม่เป็นกรณีที่ต้องพิจารณาตามหลักเรื่องภาระการพิสูจน์และการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน
มาตรา 99 วรรคแรก แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 บัญญัติว่า ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำสั่งให้มีการการเลือกตั้งใหม่ตามมาตรา 56 หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง…ผู้กระทำการฝ่าฝืน มาตรา 56 หรือผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนั้นต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามจำนวนที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด ซึ่งต้องไม่เกินค่าใช้จ่ายในการให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งมีความหมายอยู่ในตัวว่าเมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้ผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งต้องชำระ คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงมีอำนาจในการยื่นฟ้องเพื่อบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคำสั่ง
ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลในทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางปกครองโดยได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง จึงต้องคืนค่าฤชาธรรมเนียมทั้งหมดแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 336,922 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 22 มกราคม 2549 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 336,922 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 22 มกราคม 2549 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้เงินจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 22 มกราคม 2549 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 รับรองว่ามีเหตุสมควรที่โจทก์และจำเลยตามลำดับจะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2548 ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยาประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา เขตเลือกตั้งที่ 2 อำเภอปง ในวันที่ 22 มกราคม 2549 จำเลยสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา เขตเลือกตั้งที่ 2 หมายเลข 2 ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้ได้รับคะแนนเลือกตั้งสูงสุด ต่อมามีผู้ร้องเรียนต่อประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดพะเยาว่า จำเลยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 57 และมาตรา 60 คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดพะเยาได้สืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว มีหลักฐานเชื่อว่าจำเลยกระทำการฝ่าฝืนต่อกฎหมายการเลือกตั้งดังกล่าวจริง จึงรายงานต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการ ต่อมาคณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีคำวินิจฉัยสั่งการให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งของจำเลยมีกำหนดหนึ่งปี และสั่งให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา เขตเลือกตั้งที่ 2 ใหม่ กับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายตามจำนวนที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดซึ่งต้องไม่เกินค่าใช้จ่ายในการให้มีการเลือกตั้งใหม่ ในเวลาต่อมาผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยาได้ประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยาใหม่ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2549 และใช้งบประมาณเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่เป็นเงินจำนวน 336,922 บาท และของโจทก์เป็นเงินจำนวน 9,600 บาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการแรกว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 หยิบยกปัญหาเรื่ององค์ประชุมของคณะกรรมการการเลือกตั้งตามมาตรา 8 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 ขึ้นมาวินิจฉัยในคดีนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้การเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยาจัดให้มีขึ้นเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2549 ต่อมามีผู้ร้องคัดค้าน คณะกรรมการการเลือกตั้งให้สืบสวนสอบสวนแล้วได้ทำรายงานเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งต่อมาคณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีคำวินิจฉัยสั่งการที่ 812/2549 ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2549 ซึ่งช่วงระยะเวลาดังกล่าวพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 มีผลใช้บังคับ แม้ต่อมาจะมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 ออกมาใช้บังคับ ซึ่งได้กำหนดสัดส่วนองค์ประชุมของคณะกรรมการการเลือกตั้งในมาตรา 8 แตกต่างไปจากกฎหมายฉบับเดิมก็ตาม ศาลจะหยิบยกกฎหมายฉบับที่แก้ไขใหม่ดังกล่าวมาปรับแก่คดีนี้ไม่ได้ คำวินิจฉัยในส่วนนี้ของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยในส่วนนี้ฟังขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการต่อมาว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ข้อความตามมาตรา 8 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 ที่บัญญัติว่า การประชุมของคณะกรรมการการเลือกตั้งต้องมีกรรมการการเลือกตั้งมาประชุมไม่น้อยกว่าสี่ในห้าของจำนวนกรรมการการเลือกตั้งทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ มีความหมายชัดเจนอยู่ในตัวแล้วว่าในขณะที่ลงมติถ้ามีกรรมการการเลือกตั้งเหลืออยู่จำนวนเท่าใด องค์ประชุมของคณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องมีสัดส่วนไม่น้อยกว่าสี่ในห้าของจำนวนกรรมการที่มีอยู่ในขณะนั้น คดีนี้ได้ความว่าขณะลงมติมีกรรมการการเลือกตั้ง 3 คน ได้มาร่วมประชุมและกรรมการการเลือกตั้งทั้งสามคน ได้ลงมติให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยและให้มีการเลือกตั้งใหม่ จึงเป็นการลงคะแนนไม่น้อยกว่าสี่ในห้าของจำนวนกรรมการตามนัยแห่งกฎหมายข้างต้นแล้ว ฎีกาจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อมาว่า การที่จำเลยถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 885/2551 หมายเลขแดงที่ 2288/2552 ของศาลชั้นต้น ในความผิดต่อพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เมื่อจำเลยถูกฟ้องให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายในค่าใช้จ่ายตามจำนวนที่มีการเลือกตั้งใหม่ การฟังข้อเท็จจริงในคดีนี้ ศาลจะต้องถือเอาข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีส่วนอาญาหรือไม่ เห็นว่า การฟ้องผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งให้รับผิดค่าเสียหายที่เป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ตามมาตรา 99 วรรคหนึ่ง นั้น เป็นการฟ้องให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งรับผิดในทางแพ่งที่มีเหตุมาจากการที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งฝ่าฝืนมาตรา 57 จนเป็นเหตุให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและให้เลือกตั้งใหม่ตามมาตรา 97 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยจะถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาดังกล่าวด้วยก็ตาม กรณีมิใช่เป็นเรื่องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ที่ศาลจะต้องถือข้อเท็จจริงตามปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังที่จำเลยอ้าง เพียงแต่ว่าเมื่อจำเลยให้การปฏิเสธความรับผิดว่าไม่เคยกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 57 จนเป็นเหตุให้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและมีการเลือกตั้งใหม่ จำเลยย่อมมีสิทธินำสืบปฏิเสธความรับผิดตามคำให้การได้ และมีสิทธิอ้างคำพิพากษาในคดีอาญาเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้ และศาลย่อมใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวประกอบได้ แต่พยานหลักฐานดังกล่าวจะมีน้ำหนักให้รับฟังได้ประการใดหรือไม่เป็นกรณีที่ต้องพิจารณาตามหลักเรื่องภาระการพิสูจน์และการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน ดังนั้นที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจไม่รอการพิจารณาคดีนี้เพื่อฟังผลคดีอาญาดังกล่าวจึงชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้จำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลในทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางปกครอง โดยได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง ดังนั้น จึงต้องคืนค่าฤชาธรรมเนียมทั้งหมดแก่โจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 336,922 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 22 มกราคม 2549 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คืนค่าฤชาธรรมเนียมทั้งหมดแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นนอกจากนี้ให้เป็นพับ

Share