คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22843/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง เป็นการแก้ไขเล็กน้อยและยังคงให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 ฎีกาในปัญหาเรื่องอำนาจสอบสวนและอำนาจฟ้องของโจทก์ โดยอ้างว่า คดีนี้เหตุเกิดที่ร้านบ้านนาการเกษตร อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก และที่บริษัท อ. อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ซึ่งมูลคดีเกิดในเขตอำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวนสถานีตำราจภูธรบ้านนา ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ แต่ไม่มีการจับกุมแจ้งข้อหาแก่บริษัท อ. ทั้งที่ทำการของบริษัทดังกล่าวไม่ใช่ตัวแทนหรือสาขาของจำเลยที่ 1 เมื่อฟ้องว่าจำเลยทั้งสองผลิตจึงต้องให้พนักงานสอบสวนที่อยู่ในเขตภูมิลำเนาของจำเลยทั้งสองรับผิดชอบ คือสถานีตำรวจนครบาลตลิ่งชัน ดังนั้น พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรลาดหลุมแก้ว จึงไม่ใช่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ไม่มีอำนาจสอบสวนและโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เป็นฎีกาโต้แย้งข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในปัญหาข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ผลิตปุ๋ย ณ สถานที่ตั้งหรือสถานที่แบ่งบรรจุ ส่วนเรื่องอำนาจสอบสวนและอำนาจฟ้องของโจทก์เป็นเพียงผลสรุปแห่งข้อโต้แย้งในปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวเท่านั้น จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ.2518 มาตรา 30, 32, 62, 63 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 4, 32, 33, 34, 83, 91 และริบปุ๋ยเคมีปลอม 2 กระสอบ ของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ.2518 มาตรา 30 (1), 32 (5), 63 วรรคหนึ่ง, 64 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานผลิตปุ๋ยปลอม จำเลยที่ 1 ปรับ 200,000 บาท จำเลยที่ 2 จำคุก 5 ปี ฐานขายปุ๋ยปลอม จำเลยที่ 1 ปรับ 120,000 บาท จำเลยที่ 2 จำคุก 3 ปี รวม 2 กระทง จำเลยที่ 1 ปรับ 320,000 บาท จำเลยที่ 2 จำคุก 8 ปี คำเบิกความของจำเลย (ที่ถูก จำเลยที่ 2) เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จำเลยที่ 1 ปรับ 240,000 บาท จำเลยที่ 2 จำคุก 6 ปี หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ริบปุ๋ยเคมีปลอม 2 กระสอบ ของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ.2518 มาตรา 30 (1) (เดิม), 32 (5) (เดิม), 62 (เดิม), 63 วรรคหนึ่ง (เดิม) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ฐานร่วมกันผลิตปุ๋ยเคมีปลอม จำเลยที่ 1 ปรับ 50,000 บาท จำเลยที่ 2 จำคุก 5 ปี ฐานร่วมกันขายปุ๋ยเคมีปลอม จำเลยที่ 1 ปรับ 30,000 บาท จำเลยที่ 2 จำคุก 3 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานร่วมกันผลิตปุ๋ยเคมีปลอม จำเลยที่ 1 ปรับ 37,500 บาท จำเลยที่ 2 จำคุก 3 ปี 9 เดือน ฐานร่วมกันขายปุ๋ยเคมีปลอม จำเลยที่ 1 ปรับ 22,500 บาท จำเลยที่ 2 จำคุก 2 ปี 3 เดือน รวมจำเลยที่ 1 ปรับ 60,000 บาท จำเลยที่ 2 จำคุก 5 ปี 12 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องอันเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและยังคงให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ฎีกาจำเลยที่ 2 ในปัญหาเรื่องอำนาจสอบสวนและอำนาจฟ้องของโจทก์นั้น เหตุที่จำเลยที่ 2 อาศัยเป็นหลักแห่งข้อโต้แย้ง คือ คดีนี้เหตุเกิดที่ร้านบ้านนาการเกษตร อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก และที่บริษัทอินฟินิตี้ เฟอร์ติไลเซอร์ จำกัด เลขที่ 37/6 ตำบลคลองพระอุดม อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ซึ่งมูลคดีเกิดในเขตอำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรบ้านนา ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ แต่ไม่มีการจับกุมแจ้งข้อหาแก่บริษัทอินฟินิตี้ เฟอร์ติไลเซอร์ จำกัด ทั้งที่ทำการของบริษัทดังกล่าวไม่ใช่ตัวแทนหรือสาขาของจำเลยที่ 1 เมื่อฟ้องว่าจำเลยทั้งสองผลิตจึงต้องให้พนักงานสอบสวนที่อยู่ในเขตภูมิลำเนาของจำเลยทั้งสองรับผิดชอบคือสถานีตำรวจนครบาลตลิ่งชัน ดังนั้น พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรลาดหลุมแก้ว ซึ่งไม่ใช่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบจึงไม่มีอำนาจสอบสวน และโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฎีกาจำเลยที่ 2 ดังกล่าวจึงเป็นการโต้แย้งข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในปัญหาข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ผลิตปุ๋ย ณ สถานที่ตั้งหรือสถานที่แบ่งบรรจุ ซึ่งระบุที่ผลิตว่าอยู่ที่อำเภอลาดหลุมแก้ว ส่วนเรื่องอำนาจสอบสวนและอำนาจฟ้องของโจทก์เป็นเพียงผลสรุปแห่งข้อโต้แย้งในปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวเท่านั้น ฎีกาของจำเลยที่ 2 จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาจำเลยที่ 2

Share