แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2554 มาตรา 11 ให้ยกเลิกความในมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 ซึ่งแก้ไขโดย พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2542 และให้ใช้ความใหม่แทน ตามมาตรา 14 วรรคสาม (ที่แก้ไขใหม่) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดคดีนี้ได้จำกัดองค์ประกอบความผิดจากเดิมที่กำหนดให้ผู้สนับสนุนการกระทำความผิดเป็นเจ้าพนักงานไม่ว่าจะมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้หรือไม่ก็ตาม เป็นว่าผู้สนับสนุนการกระทำความผิดต้องเป็นเจ้าพนักงานออกบัตร เจ้าพนักงานตรวจบัตร หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวหมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้เท่านั้น ดังนั้น เมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องและนำสืบว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานออกบัตร เจ้าพนักงานตรวจบัตร หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน กรณีไม่อาจลงโทษจำเลยตามมาตรา 14 วรรคสาม ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ได้
องค์ประกอบความผิดในฐานผู้สนับสนุนตามมาตรา 14 วรรคสาม ตามกฎหมายเดิมยังบัญญัติให้การกระทำของจำเลยคงเป็นความผิดอยู่ตามมาตรา 14 (2) วรรคหนึ่ง ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ ประกอบ ป.อ. มาตรา 86 และเมื่อโทษตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 137, 267, 268 พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 4, 14 ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูงเขต 6 ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267 ประกอบมาตรา 86 พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 วรรคสาม ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี ริบบัตรประจำตัวประชาชนของกลาง
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2554 มาตรา 11 ให้ยกเลิกความในมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 ซึ่งแก้ไขโดยพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2542 และให้ใช้ความใหม่แทน โดยมาตรา 14 (ที่แก้ไขใหม่) วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ผู้ใด (1) ยื่นคำขอมีบัตรโดยมิได้มีสัญชาติไทย ด้วยการแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปีหรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และวรรคสาม บัญญัติว่า ถ้าผู้กระทำความผิดหรือผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม (1) (2) (3) หรือ (4) เป็นเจ้าพนักงานออกบัตร เจ้าพนักงานตรวจบัตร หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสามแสนบาท ส่วนตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (เดิม) บัญญัติว่า ผู้ใด (1) แจ้งข้อความหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในการขอมีบัตรตามมาตรา 5 วรรคสี่ หรือมาตรา 6 หรือการขอมีบัตรใหม่ตามมาตรา 6 ตรี หรือการขอมีบัตรใหม่หรือขอเปลี่ยนบัตรตามมาตรา 6 จัตวา ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และวรรคสาม (เดิม) บัญญัติว่า ถ้าผู้กระทำความผิดหรือผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม (1) หรือ (2) หรือ (3) เป็นเจ้าพนักงานไม่ว่าจะมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้หรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบห้าปีและปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสามแสนบาท เห็นได้ว่า ตามมาตรา 14 วรรคสาม (ที่แก้ไขใหม่) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดคดีนี้ได้จำกัดองค์ประกอบความผิดจากเดิมที่กำหนดให้ผู้สนับสนุนการกระทำความผิดเป็นเจ้าพนักงานไม่ว่าจะมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้หรือไม่ก็ตาม เป็นว่าผู้สนับสนุนการกระทำความผิดต้องเป็นเจ้าพนักงานออกบัตร เจ้าพนักงานตรวจบัตร หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวหมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้เท่านั้น ดังนั้น เมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องและนำสืบว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานออกบัตร เจ้าพนักงานตรวจบัตร หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน กรณีไม่อาจลงโทษจำเลยมาตรา 14 วรรคสาม ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาลงโทษจำเลยในฐานผู้สนับสนุนตามมาตรา 14 วรรคสาม ตามกฎหมายเดิม โดยมิได้ปรับบทลงโทษฐานผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของผู้ไม่มีสัญชาติไทยตามมาตรา 14 วรรคสี่ โจทก์ไม่ได้ฎีกา จึงไม่อาจลงโทษจำเลยฐานผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามมาตรา 14 (1) วรรคหนึ่ง ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ได้ ซึ่งในส่วนองค์ประกอบความผิดในฐานผู้สนับสนุนตามมาตรา 14 วรรคสาม ตามกฎหมายเดิมยังบัญญัติให้การกระทำของจำเลยคงเป็นความผิดอยู่ตามมาตรา 14 (2) วรรรคหนึ่ง ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และเมื่อโทษตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267 พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (2) วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (2) (ที่แก้ไขใหม่) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6