แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ผู้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในเงินกำไรที่จำหน่ายออกไปจากประเทศไทยตามมาตรา 70 ทวิ แห่ง ป.รัษฎากร ได้แก่ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นผู้จำหน่ายเงินกำไรนั้น โจทก์เพียงแต่เป็นผู้ติดต่อหาลูกค้าในประเทศไทยให้ซื้อสินค้าจากบริษัทในต่างประเทศ เมื่อลูกค้าตกลงซื้อสินค้าจากบริษัทผู้ขายแล้ว ลูกค้าจะส่งเงินค่าสินค้าไปชำระให้บริษัทผู้ขายในต่างประเทศโดยตรง ไม่ผ่านโจทก์ซึ่งนอกจากจะถือไม่ได้ว่ามีการจำหน่ายเงินกำไรแล้ว ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้จำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทยด้วย โจทก์จึงไม่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ในเงินจำนวนนั้นตามมาตรา 70ทิว แห่งป.รัษฎากร.(ที่มา-ส่งเสริม)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ อ้างเหตุว่าการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ให้โจทก์เสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 70 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรนั้นไม่ชอบเพราะไม่มีการจำหน่ายเงินกำไรและโจทก์มิใช่ผู้จำหน่ายเงินกำไร
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบแล้ว
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ข้อเท็จจริงคู่ความไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่า บริษัทโจทก์เป็นผู้ติดต่อหาลูกค้าในประเทศไทยให้ซื้อสินค้าจากบริษัทคาเนมัทสุ-โกโช จำกัด (ญี่ปุ่น)และสาขาและบริษัทคาเนมัทสุ-โกโช จำกัด (อเมริกา) เวียตนาม) และ (อิตาลี)ซึ่งเป็นบริษัทในต่างประเทศ เมื่อลูกค้าตกลงซื้อสินค้าจากบริษัทผู้ขายแล้ว การชำระเงิน การส่งมอบสินค้า เป็นเรื่องของลูกค้าและบริษัทผู้ขายโดยตรง ไม่ผ่านโจทก์เฉพาะการชำระเงิน ลูกค้าส่งเงินไปชำระให้ผู้ขายยังต่างประเทศ ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินหมายเรียกโจทก์มาทำการตรวจสอบไต่สวนเกี่ยวกับเรื่องการเสียภาษีอากรของบริษัทคาเนมัทสุ-โกโช จำกัด(ญี่ปุ่น) และสาขา และบริษัทคาเนมัทสุ-โกโช จำกัด (อเมริกา)(เวียตนาม) และ (อิตาลี) ผลการตรวจสอบปรากฏว่า แต่ละบริษัทมีกำไรจากการค้าขายกับลูกค้าในประเทศไทย เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทคาเนมัทสุ-โกโช จำกัด ในต่างประเทศแต่ละบริษัทโจทก์ตกลงชำระให้ หลังจากนั้นเจ้าพนักงานประเมินจึงมีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลให้โจทก์ชำระภาษีอากรให้จำเลยที่ 1 รวม 5,575,494.61 บาท เนื่องจากบริษัทคาเนมัทสุ-โกโช จำกัดในต่างประเทศแต่ละบริษัทได้รับชำระค่าสินค้าจากลูกค้าในประเทศไทย ซึ่งมีผลเสมือนว่า บริษัทเหล่านั้นได้จำหน่ายกำไรออกไปจากประเทศไทย ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา70 ทวิ แล้ว มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ว่า โจทก์มีหน้าที่ต้องชำระภาษีดังกล่าวหรือไม่
พิเคราะห์แล้ว ประมวลรัษฎากร มาตรา 70 ทวิ บัญญัติไว้เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ‘บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใด จำหน่ายเงินกำไร ฯลฯ ออกไปจากประเทศไทยให้เสียภาษีเงินได้ในจำนวนเงินที่จำหน่ายนั้น ฯลฯ’ ตามนี้แสดงว่า ผู้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในเงินกำไรที่จำหน่ายออกไปจากประเทศไทยได้แก่ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นผู้จำหน่ายเงินกำไรนั้น ทั้งได้มีคำพิพากษาฎีกาที่ 4/2521 ระหว่างบริษัทมิตชุย แอนด์ คัมปนี (ไทยแลนด์) จำกัด โจทก์ กรมสรรพากรกับพวก จำเลยคำพิพากษาฎีกาที่ 358/2524 ระหว่าง บริษัทอาตาก้า(ไทย) จำกัด โจทก์กรมสรรพากร กับพวก จำเลย และคำพิพากษาฎีกาที่3744/2530 ระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัด นิชโช-อีวาย (ประเทศไทย) โจทก์กรมสรรพากร กับพวก จำเลยวินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานแล้วเป็นทำนองเดียวกันว่า ผู้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในการจำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย ตามประมวลรัษฎากร มาตรา70 ทวิ นั้น ต้องเป็นผู้จำหน่ายเงินกำไร และเงินที่จำหน่ายนั้นต้องเป็นกำไรที่แท้จริง หรือที่ถือได้ว่าเป็นกำไรแต่คดีนี้ไม่ปรากฏเลยว่า โจทก์เป็นผู้จำหน่ายเงินกำไรข้อเท็จจริงได้ความแต่เพียงว่า ลูกค้าในประเทศไทยส่งเงินค่าสินค้าไปชำระให้บริษัทคาเนมัทสุ-โกโช จำกัด (ญี่ปุ่น) และสาขา และบริษัทคาเนมัทสุ-โกโช จำกัด (อเมริกา) (เวียตนาม) และ(อิตาลี) ผู้ขายในต่างประเทศ ซึ่งนอกจากจะถือไม่ได้ว่ามีการจำหน่ายเงินกำไรแล้ว ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้จำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทยด้วยโจทก์จึงไม่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ในเงินจำนวนนั้น ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 70 ทวิ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาคดีชอบแล้ว ฎีกาจำเลยทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน.