คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16108/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 78 วรรคสาม ป.อ. มาตรา 289 (4) และมาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80 วางโทษประหารชีวิต ลดโทษให้จำเลยที่ 2 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 2 ตลอดชีวิต ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง วรรคสาม ป.อ. มาตรา 288 และมาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 โดยวางโทษจำเลยทั้งสองคงเดิมตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้จากความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้ตายและพยายามฆ่าผู้เสียหายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) และมาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80 มาเป็นความผิดฐานร่วมกันใช้อาวุธปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ในการกระทำความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้ตายและพยายามฆ่าผู้เสียหายตาม ป.อ. มาตรา 288 และมาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 และยังคงลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ 1 กับจำคุกจำเลยที่ 2 ตลอดชีวิต เป็นการแก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองเกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคสอง
โจทก์ฎีกาว่า พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักรับฟังว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันวางแผนไตร่ตรองที่จะใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายและผู้เสียหายมาก่อนนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 9 จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ เรียกจำเลยสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 2
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 60, 80, 83, 91, 289 (4), 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 55, 72, 72 ทวิ, 78 และริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 55, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง, 78 วรรคสาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80, 289 (4), 371 ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 2 ปี ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนซึ่งนายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง จำคุกคนละ 4 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวและโดยไม่มีเหตุสมควร เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 3 ปี ฐานร่วมกันใช้อาวุธปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 2 ให้การในชั้นสอบสวนและเบิกความเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 รวมแล้วให้ลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ 1 สถานเดียว และลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ตลอดชีวิตสถานเดียว ริบของกลางที่เจ้าพนักงานเก็บรักษาไว้
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง อีกบทหนึ่งด้วย และมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 และมาตรา 288,80 ความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง ฐานร่วมกันใช้อาวุธปืนเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ในการกระทำความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นและฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นและฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ในการกระทำความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นและฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นซึ่งเป็นกฎหมายบทมีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งสอง ลดโทษให้จำเลยที่ 2 หนึ่งในสามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) คงให้จำคุกตลอดชีวิต รวมโทษทุกกระทงแล้ว คงให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 1 เพียงสถานเดียว และลงโทษจำเลยที่ 2 จำคุกตลอดชีวิตเพียงสถานเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า นายภูรีหรือตู่ ผู้ตาย เปิดร้านจำหน่ายสุราหนีภาษีทั้งขายปลีกและขายส่ง มีร้านตั้งอยู่ที่ถนนนิพัทธ์อุทิศ 3 ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2550 เวลาประมาณ 19 นาฬิกา ผู้ตายบอกนายตวงสิทธิ์ ลูกจ้างว่า มีจ่าศักดิ์โทรศัพท์มาสั่งซื้อสุราและไวน์ 21 ลัง แต่เนื่องจากจ่าศักดิ์เป็นลูกค้าใหม่และสั่งซื้อจำนวนมาก ผู้ตายจึงตกลงที่จะไปส่งของกับนายตวงสิทธิ์ ผู้ตายโทรศัพท์สั่งของจากนายพรภวิชย์ ผู้เสียหายอีกต่อหนึ่ง ผู้ตายขายสุราและไวน์หนีภาษีโดยเอากำไรจากส่วนต่างที่สั่งซื้อจากผู้เสียหาย โดยมีการนัดส่งมอบสุราและไวน์ที่บริเวณหน้าร้านบาโรย หลังจากนั้นผู้ตายซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของนายตวงสิทธิ์เดินทางไปยังบริเวณหน้าร้านบาโรย ต่อมามีรถยนต์กระบะสีแดง ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนเข้ามาจอดที่บริเวณหน้าร้าน มีคนขับและคนนั่งคู่คนขับมากัน 2 คน คนร้ายได้พูดกับผู้ตายว่าชื่อจ่าศักดิ์และสอบถามว่าสุราอยู่ที่ไหน ผู้ตายจึงโทรศัพท์ไปหาผู้เสียหายเพื่อให้นำสุรามาส่ง หลังจากนั้นคนร้ายได้ขับรถเลื่อนเข้าไปจอดลึกจากปากซอยเข้าอีกโดยอ้างว่ากลัวคนอื่นจะเห็น ต่อมาผู้เสียหายขับรถยนต์เก๋งเข้ามาจอดระหว่างรถยนต์กระบะและรถจักรยานยนต์ รถยนต์กระบะของคนร้ายและรถยนต์ของผู้เสียหายยังติดเครื่องยนต์และเปิดไฟหน้าอยู่ทั้งสองคัน นายตวงสิทธิ์ยกสุราจากรถยนต์ของผู้เสียหายไปวางไว้บนกระบะของรถคนร้ายได้ 3 เที่ยว หลังจากนั้นคนร้ายสองคนร่วมกันใช้อาวุธปืนพกขนาด .45 (11 มม.) และอาวุธปืนกลขนาด .223 (5.56 มม.) ยิงผู้ตาย กระสุนปืนถูกบริเวณสะบัก ก้น และต้นขาทะลุเข้าไปทำลายอวัยวะสำคัญในร่างกายจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย และกระสุนปืนยังถูกผู้เสียหายที่บริเวณต้นขาเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส ผู้เสียหายขับรถยนต์เก๋งหลบหนีออกไปได้ หลังเกิดเหตุคนร้ายขับรถยนต์กระบะเพื่อหลบหนี แต่รถยนต์กระบะเสียหลักล้อหลังตกลงไปในคูระบายน้ำทำให้ไม่สามารถขับรถต่อไปได้ คนร้ายทั้งสองจึงเดินหลบหนีไป ส่วนนายตวงสิทธิ์ขับรถจักรยานยนต์นำผู้ตายนั่งซ้อนท้ายไปที่โรงพยาบาล ผู้ตายถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา พันตำรวจโทศักดา สารวัตรสืบสวนสอบสวนเดินทางมาที่เกิดเหตุพบรถยนต์กระบะยี่ห้ออีซูซุสีแดงไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนตกอยู่ที่คูระบายน้ำ สภาพล้อหน้าและล้อหลังขวาตกอยู่ในร่องคูระบายน้ำ ที่กระบะหลังมีลังสุราและไวน์รวม 7 ลัง พบปลอกกระสุนปืนเอ็ม 16 จำนวน 4 ปลอก เมื่อตรวจสอบภายในรถพบแม็กกาซีนอาวุธปืนเอ็ม 16 จำนวน 2 อัน พันด้วยสก็อตเทปสีเขียวติดกัน ในแม็กกาซีนบรรจุกระสุนปืนไว้ 50 นัด และยังพบซองปืนพกอีก 1 ซอง ที่บริเวณเบาะนั่งด้านหน้า นอกจากนั้นเมื่อเดินทางไปยังจุดเกิดเหตุพบกองเลือดและพบสุราต่างประเทศ 2 ลัง ปลอกกระสุนปืนขนาด .45 จำนวน 1 ปลอก และปลอกกระสุนปืนเอ็ม 16 อีก 1 ปลอก
มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดฐานฆ่าผู้ตายและพยายามฆ่าผู้เสียหายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนนั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 78 วรรคสาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) และมาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80 วางโทษประหารชีวิต ลดโทษให้จำเลยที่ 2 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 2 ตลอดชีวิต ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง วรรคสาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 และมาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 โดยวางโทษจำเลยทั้งสองคงเดิมตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้จากความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้ตายและพยายามฆ่าผู้เสียหายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) และมาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80 มาเป็นความผิดฐานร่วมกันใช้อาวุธปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ในการกระทำความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้ตายและพยายามฆ่าผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 และมาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 และยังคงลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ 1 กับจำคุกจำเลยที่ 2 ตลอดชีวิต เป็นการแก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองเกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคสอง ที่โจทก์ฎีกาว่า พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันวางแผนไตร่ตรองที่จะใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายและผู้เสียหายมาก่อนนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 9 จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน

Share