แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ค่าทนายความใช้แทนไม่ใช่ค่าธรรมเนียมที่ ป.วิ.อ. มาตรา 253 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้มิให้เรียก แต่เป็นค่าฤชาธรรมเนียมอย่างหนึ่งซึ่งศาลมีอำนาจกำหนดได้ตามดุลพินิจ เมื่อคดีที่พิจารณาในศาลนั้น ๆ สิ้นสุดลง คดีนี้มีโจทก์ร่วมทั้งสองแต่งตั้งทนายความดำเนินกระบวนพิจารณาคดีส่วนแพ่ง ศาลย่อมมีอำนาจกำหนดค่าทนายความให้จำเลยใช้แทนแก่โจทก์ร่วมทั้งสองได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 80, 91, 288, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ ริบของกลาง
ระหว่างพิจารณานางงามพิศและนายอานันท์ มารดาและบิดาของนายวิศิษฐ์ ผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ศาลชั้นต้นอนุญาต โดยให้เรียกว่าผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับในฐานะโจทก์ร่วมที่ 1 และยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดไร้อุปการะ ด้วยผู้ตายเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายและประกอบกิจการโรงงานผลิตน้ำแข็งและน้ำดื่ม ค่ารักษาพยาบาลและค่าบริการทางการแพทย์ ค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการนี้ ค่าซ่อมรถยนต์ รวมจำนวน 5,388,493.15 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 5,280,000 บาท นับจากวันยื่นคำร้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
นายไพรัช ผู้เสียหายที่ 1 นายกมล ผู้เสียหายที่ 2 และนายชาญพิทย์ ผู้เสียหายที่ 3 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ศาลชั้นต้นอนุญาต โดยให้เรียกว่าผู้เสียหายที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ตามลำดับในฐานะโจทก์ร่วมที่ 2 และยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายทั้งสาม คนละ 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับจากวันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่เมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ และให้การในคดีส่วนแพ่งโดยขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 288 ประกอบมาตรา 80, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฆ่าผู้อื่นและพยายามฆ่าผู้อื่น เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ประหารชีวิต และฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและไม่มีเหตุสมควร เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ปรับ 2,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา รับราชการมีคุณงามความดีมาก่อน และวางเงินบรรเทาผลร้ายให้แก่ผู้เสียหายบางส่วน มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78, 52 (2) คงจำคุกตลอดชีวิต และปรับ 1,000 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง และให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมที่ 1 เป็นเงิน 5,280,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมที่ 2 ทั้งสามคนเป็นเงินคนละ 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าทนายความ 10,000 บาท แทนโจทก์ร่วมที่ 1 และโจทก์ร่วมที่ 2 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะข้อหาฆ่าผู้อื่นให้จำคุก 20 ปี เมื่อลดโทษลงกึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก 10 ปี รวมโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในข้อหาอื่นแล้ว คงจำคุก 10 ปี และปรับ 1,000 บาท ให้จำเลยชำระเงินแก่นางงามพิศและนายอานันท์ รวม 1,400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2552 จนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยชำระเงินแก่นายไพรัช นายกมลและนายชาญพิทย์ ผู้เสียหายทั้งสามคนละ 20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2552 จนกว่าจะชำระเสร็จ ยกคำสั่ง (ที่ถูก คำพิพากษา) ในส่วนที่ให้จำเลยใช้ค่าทนายความแทนโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ร่วมทั้งสองและจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้เป็นยุติในชั้นฎีกาว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง รถยนต์กระบะของผู้ตายที่มีผู้ตายเป็นคนขับและผู้เสียหายที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 นั่งมาด้วยเฉี่ยวชนทางด้านท้ายของรถยนต์กระบะของจำเลย จำเลยใช้อาวุธปืนยิงเข้าไปในห้องผู้โดยสารรถของผู้ตายรวม 7 นัด เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมทั้งสองอีกข้อหนึ่งว่า ค่าทนายความใช้แทนไม่ใช่ค่าธรรมเนียมในความหมายของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 253 วรรคหนึ่ง จึงขอให้กำหนด ค่าทนายความให้จำเลยใช้แทนโจทก์ร่วมทั้งสองด้วยนั้น โจทก์ร่วมทั้งสองยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในฐานะผู้เสียหายในคดีที่กล่าวหาว่าจำเลยทำอันตรายแก่ชีวิตของผู้ตายและแก่ร่างกายและจิตใจของผู้เสียหายเป็นการใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง ซึ่งวรรคสองบัญญัติให้ถือว่าคำร้องเช่นนี้ของโจทก์ร่วมทั้งสองเป็นคำฟ้องตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและโจทก์ร่วมทั้งสองอยู่ในฐานะโจทก์ในคดีส่วนแพ่ง เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตามมาตรา 40 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่บัญญัติให้การพิจารณาคดีแพ่งนี้ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จึงมีประเด็นปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมทั้งสองว่า ค่าทนายความตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์ร่วมทั้งสองเป็นค่าธรรมเนียมที่มิให้เรียกตามความหมายที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 253 หรือไม่ เห็นว่า ในประการแรกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 149 วรรคหนึ่ง (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2551) ได้วางหลักเรื่องทั่วไปของค่าฤชาธรรมเนียมไว้ว่า ได้แก่ ค่าธรรมเนียมศาลค่าสืบพยานหลักฐานนอกศาล ค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง และค่าเช่าที่พักของพยาน ผู้เชี่ยวชาญ ล่าม และเจ้าพนักงานศาล ค่าทนายความ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี ตลอดจนค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ บรรดาที่กฎหมายบังคับให้ชำระ ค่าต่าง ๆ แต่ละอย่างที่บัญญัติไว้ในกฎหมายมาตรานี้จึงเป็นอิสระที่แยกกันต่างหาก แต่ทุกอย่างที่บัญญัติไว้ต่างเป็นค่าฤชาธรรมเนียม แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นค่าธรรมเนียมเพราะคำว่าค่าธรรมเนียมได้มีบัญญัติไว้ 2 แห่ง ในมาตรานี้คือค่าธรรมเนียมศาล และค่าธรรมเนียมอื่น ๆ บรรดาที่กฎหมายบังคับให้ชำระ ค่าทนายความได้มีบัญญัติไว้ต่างหากในมาตรานี้อย่างชัดเจนซึ่งแตกต่างจากบทบัญญัติกฎหมายมาตรานี้ก่อนการแก้ไขในปี 2551 ที่มิได้บัญญัติแยกเรื่องค่าทนายความออกมาไว้ต่างหาก ดังนั้น ค่าทนายความ จึงเป็นค่าฤชาธรรมเนียมประเภทหนึ่งที่เป็นอิสระมิได้ไปรวมอยู่กับค่าธรรมเนียม 2 อย่างตามที่กล่าวมาข้างต้น เพราะมิฉะนั้นก็คงไม่ต้องบัญญัติไว้ต่างหาก ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 253 วรรคหนึ่ง ก็บัญญัติไว้ชัดเจนตรง ๆ ว่าคำขอของผู้เสียหายขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนมิให้เรียกค่าธรรมเนียม คำว่า “ค่าธรรมเนียม” ตามกฎหมายมาตรานี้จึงน่าจะหมายความถึงค่าธรรมเนียม 2 อย่างที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 149 วรรคหนึ่ง คือค่าธรรมเนียมศาล และค่าธรรมเนียมอื่น ๆ บรรดาที่กฎหมายบังคับให้ชำระเท่านั้น ไม่รวมถึงค่าทนายความที่บัญญัติไว้ต่างหากแล้ว ประการที่สอง ค่าทนายความคือค่าใช้จ่ายของคู่ความที่มีความจำเป็นต้องมีทนายความซึ่งถือว่าเป็นผู้รู้กฎหมายและขั้นตอนการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในทางปฏิบัติมาคอยเป็นผู้ระวังดูและรักษาผลประโยชน์ในคดีฝ่ายตน ค่าทนายความควรจะเป็นเท่าใดจึงจะเหมาะสมภายใต้กรอบกฎหมายที่กำหนดขั้นสูงขั้นต่ำไว้ในตารางท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งจึงเป็นเรื่องที่ศาลจะกำหนดเมื่อการดำเนินคดีในศาลนั้น ๆ ได้สิ้นสุดลงแล้ว โดยต้องพิจารณาถึงความยากง่ายของคดีตลอดจนผลงานรวมทั้งจริยธรรมในการดำเนินคดีของทนายความแต่ละฝ่ายหลังจากคดีสิ้นสุดลง จึงเป็นค่าฤชาธรรมเนียมประเภทความรับผิดชั้นที่สุดชนิดหนึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 มิใช่ค่าธรรมเนียมที่ศาลจะเรียกเก็บเอาได้ทันทีในขณะมีการยื่นคำฟ้องอย่างเช่นค่าธรรมเนียมศาล หรือศาลมีหน้าที่ต้องเรียกเก็บตามที่กฎหมายบัญญัติเอาไว้อย่างเช่นค่าคำร้องต่าง ๆ ค่าทนายความจึงมิใช่ค่าธรรมเนียมที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 253 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้มิให้เรียก แต่เป็นค่าฤชาธรรมเนียมอย่างหนึ่งซึ่งศาลที่พิจารณาคดีมีอำนาจกำหนดได้ตามดุลพินิจเมื่อคดีที่พิจารณาในศาลนั้น ๆ ได้สิ้นสุดลง คดีนี้โจทก์ร่วมทั้งสองได้มีการแต่งตั้งทนายความมาเป็นทนายโจทก์ร่วมทั้งสอง ซึ่งได้ทำหน้าที่ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแพ่งที่โจทก์ร่วมทั้งสองร้องขอค่าสินไหมทดแทนด้วย ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ให้ใช้แทนแก่โจทก์ร่วมทั้งสองได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยกคำพิพากษาส่วนนี้ของศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ร่วมทั้งสองฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะในส่วนที่ให้จำเลยใช้ค่าทนายความแทนโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 โดยให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าสินไหมทดแทนที่ให้จำเลยชำระแก่นางงามพิศ ผู้เสียหายที่ 1 และนายอานันท์ ผู้เสียหายที่ 2 ในฐานะโจทก์ร่วมที่ 1 ให้เปลี่ยนเฉพาะต้นเงินจาก 1,400,000 บาท เป็นเงิน 2,010,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ