แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2541 อยู่ในกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง มีวัตถุประสงค์ให้นักเรียนหรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์กู้ยืมเงินเพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการครองชีพระหว่างศึกษา ส่วนการนำส่งคืนกองทุนยังให้โอกาสผู้กู้ยืมชำระคืนเมื่อสำเร็จการศึกษาหรือเลิกการศึกษาแล้วเป็นระยะเวลา 2 ปี ทั้งยังกำหนดให้คิดดอกเบี้ยในอัตราไม่เกินเงินฝากประจำหนึ่งปีของธนาคารออมสิน และห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยทบต้น กำหนดใช้คืนเป็นรายเดือนเป็นระยะเวลาสูงสุดถึงสิบห้าปี ในกรณีผู้ยืมถึงแก่ความตาย ให้หนี้ตามสัญญาระงับไป หรือกรณีผู้กู้พิการหรือทุพลภาพไม่สามารถประกอบการได้ คณะกรรมการกองทุนมีอำนาจระงับการให้ชำระหนี้ตามสัญญาได้ โดยมีเหตุผลการออกพระราชบัญญัติเนื่องจากมีความจำเป็นต้องเร่งดำเนินการพัฒนามนุษย์ เพื่อรองรับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศในการยกฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น ดังนั้นการให้กู้ยืมเงินตามพระราชบัญญัติก็เป็นไปเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่และให้โอกาสแก่บุคคลผู้ด้อยโอกาสในสังคมโดยแท้ กรณีเป็นเรื่องที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดสิบปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 หาใช่เป็นสิทธิเรียกร้องในเงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ อันมีอายุความห้าปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (2) ไม่ เพราะแม้ผู้กู้สามารถเลือกผ่อนชำระหนี้เป็นรายเดือนหรือรายปีได้ แต่หากมีความจำเป็นอาจร้องขอผ่อนผันการชำระหนี้ตามระยะเวลาที่แตกต่างไปหรือชะลอการชำระหนี้เป็นการชั่วคราวได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 337,865.64 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1 ต่อปี และเบี้ยปรับอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน ของต้นเงิน 299,006 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชำระเงินจำนวน 255,223.73 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1 ต่อปี และเบี้ยปรับอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน ของต้นเงิน 225.869.14 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินจำนวน 82,641.92 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1 ต่อปี และเบี้ยปรับอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน ของต้นเงิน 73,136.86 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 337,865.64 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อปี และเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน จำนวน 299,006 บาท นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 30 มิถุนายน 2551) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เป็นเงินจำนวน 255,223.73 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อปี และเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 225,869.14 บาท ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เป็นเงินจำนวน 82,641.92 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อปี และเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 73,136.86 บาท ทั้งนี้ จำนวนความรับผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องไม่เกินจำนวนความรับผิดของจำเลยที่ 1 กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ 7,500 บาท
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามแต่เพียงว่า ฟ้องขาดอายุความหรือไม่ จากคำฟ้องระบุว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2541 อยู่ในกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง มีวัตถุประสงค์ ให้นักเรียนหรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์กู้ยืมเงินเพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการครองชีพระหว่างศึกษา โดยได้ความตามพระราชบัญญัติดังกล่าวว่า กองทุนให้กู้ยืมแก่นักเรียนนักศึกษาโดยทั่วไปที่ประสงค์ขอกู้เงินตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการ โดยสามารถเข้าถึงการกู้ยืมได้โดยง่าย และยังกำหนดไว้อีกว่าคณะกรรมการจะกำหนดให้มีผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ด้วยก็ได้ แต่จะกำหนดจนเป็นอุปสรรคต่อผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ในอันที่จะกู้ยืมไม่ได้ และกำหนดห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่นใดในระหว่างที่ผู้ยืมเงินศึกษาอยู่ ส่วนการนำส่งคืนกองทุนยังให้โอกาสผู้กู้ยืมชำระคืน เมื่อสำเร็จการศึกษาหรือเลิกการศึกษาแล้วเป็นระยะเวลาสองปี ทั้งยังกำหนดให้คิดดอกเบี้ยในอัตราไม่เกินเงินฝากประจำหนึ่งปีของธนาคารออมสิน และห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยทบต้น กำหนดใช้คืนเป็นรายเดือนเป็นระยะเวลาสูงสุดถึงสิบห้าปี ในกรณีผู้ยืมถึงแก่ความตายให้หนี้ตามสัญญาระงับไป และในกรณีที่ผู้กู้พิการหรือทุพลภาพไม่สามารถประกอบการงานได้ คณะกรรมการมีอำนาจระงับการให้ชำระหนี้ตามสัญญาได้ จากเหตุผลการออกพระราชบัญญัติ เนื่องจากมีความจำเป็นต้องเร่งดำเนินการพัฒนามนุษย์ เพื่อรองรับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศในการยกฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น ดังนั้นการให้กู้ยืมเงินตามพระราชบัญญัติก็เป็นไปเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่และให้โอกาสแก่บุคคลผู้ด้อยโอกาสในสังคมโดยแท้กรณีเป็นเรื่องที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดสิบปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 หาใช่เป็นสิทธิเรียกร้องในเงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ อันมีอายุความห้าปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (2) ไม่ เพราะว่าแม้ผู้กู้สามารถเลือกผ่อนชำระเป็นรายเดือนหรือรายปีได้ก็ตาม ก็ไม่ใช่บังคับว่าผู้กู้ต้องชำระแน่นอนตามนั้นเสมอไป หากมีกรณีจำเป็นผู้กู้อาจร้องขอผ่อนผันให้ผู้กู้ชำระหนี้ตามระยะเวลาที่แตกต่างไปหรือชะลอการชำระหนี้เป็นการชั่วคราวก็ได้ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการบริหารกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2539 ข้อ 29 วรรคสอง เมื่อได้ความว่าจำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากโจทก์ 4 ครั้ง ในปี 2539, 2540, 2541 และปี 2542 โดยมีจำเลยที่ 2 ค้ำประกันอย่างลูกหนี้ร่วม เมื่อปี 2539, 2540, 2541 และจำเลยที่ 3 ค้ำประกัน เมื่อปี 2542 เมื่อคู่ความไม่นำสืบเป็นอย่างอื่นจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 สำเร็จการศึกษาหรือเลิกการศึกษาอย่างช้าสุดคือปี 2543 ซึ่งเป็นปีถัดจากปีที่กู้ยืมครั้งสุดท้าย และเมื่อพิจารณาการชำระเงินกู้ยืมเงินคืนกองทุน ตามระเบียบของคณะกรรมการ จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ชำระเงินคืนโจทก์งวดแรกหลังจากครบระยะปลอดหนี้สองปี คือภายในวันที่ 5 กรกฎาคม 2545 เป็นวันที่สิทธิเรียกร้องของโจทก์อาจบังคับได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2551 คดีจึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น
อนึ่งจำเลยทั้งสามเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาเกินมาศาลละ 1,689.50 บาท รวมเป็นเงิน 3,389.50 บาท จึงเห็นควรคืนค่าขึ้นศาลส่วนเกินให้จำเลยทั้งสาม
พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินให้จำเลยทั้งสาม ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ