แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า “จำเลยใช้อุบายหลอกลวง โดยเอาความเท็จมากล่าวว่าจำเลยสามารถใช้วิทยาอาคมทำน้ำธรรมดาให้เป็นน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ สามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บทุกชนิดให้หายได้ โดยจำเลยมีเจตนาทุจริตคิดหลอกลวงให้พวกเจ้าทุกข์ส่งเงินให้แก่จำเลย”
และว่า “จำเลยใช้อุบายหลอกลวงโดยเอาความเท็จมากล่าวว่า จำเลยมีความสามารถใช้วิทยาคมได้”
และว่า “จำเลยใช้อุบายหลอกลวงว่าน้ำมนต์ที่จำเลยทำสามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บทุกชนิดให้หายได้” เหล่านี้ย่อมชัดแจ้งตามกฎหมายที่โจทก์ฟ้องไม่เคลือบคลุม.
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่า เมื่อระหว่างตั้งแต่วันที่ ๑๒ ถึง ๒๑ กรกฎาคม ๒๔๙๘ เวลากลางวันและกลางคืน จำเลยใช้อุบาย หลอกลวงประชาชนในเขตตำบลพานพร้าว อำเภอท่าบ่อ โดยเอาความเท็จมากล่าวว่า จำเลยมีความสามารถใช้วิทยาคม ได้ โดยจำเลยเอาน้ำธรรมดาใส่ภาชนะและใช้พระเครื่องนาคปรกลงแกว่งในน้ำนั้น สำรวมจิตภาวนามนต์และ แผ่เมตตาจิต น้ำนั้นจะกลายเป็นน้ำมนต์อันศักดิ์สิทธิ์สามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ทุกชนิดให้หายได้ และตามวันเวลา ดังกล่าวแล้วจำเลยได้โฆษณาให้ประชาชนหลงเชื่อว่าน้ำที่จำเลยทำขึ้นดังกล่าวแล้วเป็นน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ จนทำให้ ประชาชนหลงเชื่อคำหลอกลวงของจำเลย แล้วซื้อน้ำมนต์ที่จำเลยทำขึ้น คือพลตำรวจโชติ ธรรมพินิจ และ นายสิบตำรวจตรีไพศาล แลบัว ซื้อคนละ ๑ ขวด ๆ ละ ๒ บาท นายสำรองซื้อ ๒ ขวดราคา ๔ บาทและมีคนอื่น ๆ อีก จำเลย ขายได้เงิน ๖๐๐ บาท ทั้งนี้โดยจำเลยมีเจตนาทุจริตคิดหลอกลวงบุคคลดังกล่าวแล้วให้ส่งเงินให้แก่จำเลยตามคำหลอกลวง เหตุเกิดที่ตำบลพานพร้าว อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย เจ้าทุกข์ได้มอบคดีให้เจ้าพนักงานว่ากล่าวเอาโทษแก่จำเลย แล้ว ขอให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๓๐๔ และ ๓๐๖ และขอให้จำเลยคืนทรัพย์แก่เจ้าทุกข์และ
คนอื่นด้วย
ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานทั้งสองฝ่ายแล้วตัดสินว่า ตามฟ้องโจทก์เป็นเรื่องจำเลยพูดจาหลอกลวงเพื่อขายตาม ม.๓๑๐ และ คำฟ้องขัดแย้งไม่ชอบด้วยประมวลวิธีพิจารณาความอาญา ม.๑๕๘(๕) และโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยหลอกลวงให้ ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด – สภาพ – คุณภาพ ฯลฯ อันเป็นองค์ประกอบความผิด ทั้งไม่ยืนยันว่าน้ำมนต์ที่จำเลยขายนั้น รักษาโรคภัยไม่ได้เลย จึงได้พิพากษาให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน และพิพากษาว่าฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวไว้ในฟ้องว่า “จำเลยใช้อุบายหลอกลวง โดยเอาความเท็จมากล่าวว่า จำเลย สามารถใช้วิทยาคมทำน้ำธรรมดาให้เป็นน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ สามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บทุกชนิดให้หายได้ โดยจำเลยมี เจตนาทุจริตคิดหลอกลวงให้พวกเจ้าทุกข์ส่งเงินให้แก่จำเลย (เป็นค่าน้ำมนต์) ” นั้น นับว่าครบองค์ความผิดตาม กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๓๐๔, และที่กล่าวในข้อต่อมาว่า” จำเลยใช้อุบายหลอกลวงโยเอาความเห็จมากล่าวว่า จำเลย มีความสามารถใช้วิทยาคมได้” ก็เป็นข้อที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำการตามความในข้อ ๒ มาตรา ๓๐๖(๒) และข้อต่อไปที่ โจทก์กล่าวว่า “จำเลยใช้อุบายหลอกลวงว่าน้ำมนต์ที่จำเลยทำสามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บทุกชนิดให้หายได้” ก็ย่อมเป็นที่ เข้าใจได้ว่า โจทก์กล่าวหาว่าที่จำเลยกล่าวนั้นเป็นความเท็จ ไม่จำต้องย้ำความซ้ำ จึงพิพากษาว่าฟ้องของโจทก์สมบูรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘(๕) จึงพิพากษาให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาคดีแล้ว พิพากษาใหม่.