แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1461 วรรคสอง กำหนดให้สามีภริยาต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน จำเลยจึงต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูภริยาใหม่ด้วยเพราะเป็นหน้าที่ตามกฎหมายจะต้องกระทำ จะอ้างว่าภริยาใหม่มีรายได้มากไม่น่าจะเดือดร้อน จำเลยไม่จำต้องอุปการะเลี้ยงดูหาได้ไม่ และมาตรา 1564 วรรคแรก กำหนดให้บิดาและมารดามีหน้าที่ร่วมกันในการให้การอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์ ดังนั้นโจทก์จำเลยจึงสมควรร่วมกันจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์คนละครึ่ง ค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1598/38 และมาตรา 1598/39 บัญญัติให้ศาลคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้และฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณี ทั้งศาลจะสั่งแก้ไขค่าอุปการะเลี้ยงดูเพิ่มอีกในภายหลังก็ได้ ขณะฟ้องโจทก์และจำเลยต่างมีรายได้ จำเลยมีภริยาใหม่และมีบุตรจำเลยย่อมจะต้องมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูภริยาและบุตร มิใช่จำเลยมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูแต่เพียงผู้เยาว์คนเดียว การกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูให้ผู้เยาว์ต้องคำนึงถึงรายได้จำเลยกับรายจ่ายในครอบครัวของจำเลย ความจำเป็นทางด้านการเงินของผู้เยาว์อายุและระดับการศึกษาของผู้เยาว์ด้วย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูเด็กหญิงธัญธิดา ถิราติบุตรผู้เยาว์ 10,000 บาท และต่อไปอีกเดือนละ 5,000บาท กับจ่ายค่าใช้จ่ายในการศึกษาของผู้เยาว์ปีละ 10,000 บาทนับแต่เดือนที่ฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าผู้เยาว์จะบรรลุนิติภาวะ
จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้มีฐานะมั่นคงและร่ำรวย จำเลยคงมีรายได้จากเงินเดือนประจำซึ่งจำเลยมีภาระค่าใช้จ่ายส่วนตัวโจทก์มีตำแหน่งหน้าที่การงาน รายได้มั่นคงและมีทรัพย์สินของตนเองด้วย ถ้าโจทก์ไม่สามารถเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่ผู้เยาว์ได้จำเลยยินดีที่จะรับผู้เยาว์มาเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่ฐานะเอง หากผู้เยาว์ยังอยู่ในความปกครองของโจทก์ จำเลยยินดีจ่ายค่าเล่าเรียนให้ปีละสองภาคเรียน โดยจำเลยขอจ่ายให้แก่สถานศึกษาของผู้เยาว์เอง ขอให้ยกฟ้องโจทก์
จำเลยขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดู 10,000 บาทและต่อไปอีกเดือนละ 5,000 บาท นับแต่เดือนมีนาคม 2532 จนกว่าเด็กหญิงธัญธิดา ถิราติ บรรลุนิติภาวะให้โจทก์ และให้จำเลยจ่ายเงินค่าใช้จ่ายในการศึกษาปีละสองภาคเรียน ภาคเรียนละ 5,000 บาทที่สถานศึกษาของเด็กหญิงธัญธิดา จนกว่าเด็กหญิงธัญธิดา บรรลุนิติภาวะ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์เดือนละ 1,500 บาท นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2532 เป็นต้นไปและจ่ายค่าใช้จ่ายในการศึกษาของผู้เยาว์ปีละหนึ่งภาคเรียนภาคเรียนละ 3,660 บาท โดยให้จำเลยจ่ายภาคเรียนแรกของปีการศึกษาทุกปี เริ่มแต่ปี 2532 เป็น ต้นไปให้โจทก์จนกว่าผู้เยาว์จะบรรลุนิติภาวะ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564วรรคแรก บัญญัติว่า “บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์” ตามบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า ทั้งบิดาและมารดามีหน้าที่ร่วมกันในการให้การอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์ หาใช่เป็นหน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้นไม่ ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยมีภริยาใหม่เป็นแพทย์จำเลยไม่จำต้องอุปการะเลี้ยงดูและจำเลยมีทรัพย์มรดกอีก จำเลยไม่มีความเดือนร้อน เห็นว่า ตามมาตรา 1461 วรรคสอง บัญญัติว่า”สามีภริยาต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน” บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้จำเลยจะต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูภริยาใหม่ด้วย เพราะเป็นหน้าที่ตามกฎหมายจะต้องกระทำ จะอ้างว่าภริยาจำเลยมีรายได้มากไม่น่าจะเดือดร้อนจำเลยไม่จำต้องอุปการะเลี้ยงดูหาได้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ให้โจทก์จำเลยร่วมกันจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่ผู้เยาว์คนละครึ่งจึงชอบแล้ว คงมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยควรจะต้องรับผิดในค่าอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์เป็นเงินเท่าใด ซึ่งโจทก์ฎีกาว่าโจทก์เป็นพนักงานของธนาคารเอเซียจำกัด ตำแหน่งผู้ช่วยสมุห์บัญชีได้รับเงินเดือนละ 5,600 บาท ส่วนจำเลยมีเงินเดือนเดือนละ 13,000 บาท และมีโบนัสสองเท่าครึ่งของเงินเดือน ภริยาใหม่ของจำเลยเป็นแพทย์ ย่อมมีรายได้มากที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูเดือนละ 1,500 บาทจึงน้อยมาก ควรจะให้ในอัตราเดือนละ 5,000 บาทตามศาลชั้นต้นเห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/38 บัญญัติว่า”ค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภริยาหรือระหว่างบิดามารดากับบุตรนั้น ย่อมเรียกจากกันได้ในเมื่อฝ่ายที่ควรได้รับอุปการะเลี้ยงดูไม่ได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือได้รับการอุปการะเลี้ยงดูไม่เพียงพอแก่อัตภาพ ค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณี” และมาตรา 1598/39 วรรคแรก บัญญัติว่า”เมื่อผู้มีส่วนได้เสียแสดงว่าพฤติการณ์ รายได้ หรือฐานะของคู่กรณีได้เปลี่ยนแปลงไป ศาลจะสั่งแก้ในเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูโดยให้เพิกถอน ลด เพิ่ม หรือกลับให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูอีกก็ได้” ตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นให้ศาลคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้คือบิดาและมารดาหรือโจทก์ จำเลย ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณี และเมื่อศาลได้มีคำสั่งให้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูไปแล้วหากต่อมาในภายหลังโจทก์สามารถแสดงให้ศาลเห็นว่ารายได้หรือฐานะของจำเลยได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือผู้เยาว์เรียงสูงขึ้นไป ศาลจะสั่งแก้ไขเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูเพิ่มอีกก็ได้ ข้อเท็จจริงขณะฟ้องโจทก์และจำเลยต่างมีรายได้คือเงินเดือนประจำ จำเลยมีภริยาใหม่และมีบุตร จำเลยย่อมจะต้องมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูภริยาและบุตรจำเลย มิใช่จำเลยมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูเพียงผู้เยาว์คนเดียวเท่านั้น เมื่อคำนึงถึงรายได้จำเลยกับรายจ่ายในครอบครัวของจำเลย ความจำเป็นทางด้านการเงินของผู้เยาว์ อายุและระดับการศึกษาของผู้เยาว์แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่ผู้เยาว์เดือนละ 1,500 บาท กับค่าเล่าเรียน ค่ารถรับส่ง ค่าเครื่องเขียนค่าหนังสือเรียนซึ่งทางโรงเรียนไม่ได้ออกใบเสร็จให้อีกปีละ3,660 บาท ขณะผู้เยาว์อายุ 7-8 ปี และเรียกอยู่ระดับชั้นประถมนั้น นับว่าเป็นจำนวนพอสมควรและเป็นการเพียงพอแก่อัตภาพในปัจจุบันของจำเลยและผู้เยาว์แล้ว
พิพากษายืน.