คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1595/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำร้องของจำเลยอ้างว่า จำเลยได้โอนสิทธิเรียกร้องการรับเงินค่าจ้างตามสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารให้แก่ธนาคารแล้ว จึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคาร มิใช่ของจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิยื่นคำขอให้อายัดเงินจำนวนดังกล่าว เนื่องจากเป็นการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของบุคคลภายนอกผู้สุจริต และจำเลยไม่ทราบเรื่องการขออายัดเงินดังกล่าวเพราะการส่งหมายให้จำเลยทำโดยวิธีปิดหมายการบังคับคดีจึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายขอให้เพิกถอนคำสั่งอายัดเงินนั้น เป็นคำร้องที่มีความหมายว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 นั่นเอง จึงต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของระยะเวลาตามมาตรา 296 วรรคสาม
มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ส่งเงินค่าจ้างจำเลยก่อสร้างอาคารตามที่โจทก์ขออายัดมายังเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดขอนแก่น ซึ่งได้ทำบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงินและส่งเงินสุทธิที่ได้จากการอายัดจำนวน 4,198,251 บาท ให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้แจ้งการอายัดให้จำเลยทราบโดยชอบด้วยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2543 และได้จัดทำบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงินให้โจทก์ตรวจรับรองกับจ่ายเงินให้แก่โจทก์ไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2543 การบังคับคดีจึงเสร็จสิ้นลงในวันดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสี่ (2), 318 จำเลยเพิ่งมายื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งอายัดเงินเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2544 จึงพ้นกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 4,111,472 บาท แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ ศาลชั้นต้นออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคดีจังหวัดเชียงใหม่ ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยทั้งสอง ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงใหม่ขอให้ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดขอนแก่นบังคับคดีแทนโดยอายัดเงินค่าจ้างก่อสร้างอาคารศูนย์หัวใจสิริกิติ์ที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับจำนวน 4,350,000 บาท จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และส่งเงินที่อายัดดังกล่าวให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงใหม่
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 1 โอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินตามสัญญาจ้างจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นให้แก่ธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) ไปก่อนแล้วและเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่เคยมีหนังสือแจ้งการอายัดเงินให้จำเลยที่ 1 ทราบ จึงเป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่มีสิทธิอายัดเงินดังกล่าว ขอให้เพิกถอนคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดี และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีคืนเงินดังกล่าวให้แก่มหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อจ่ายให้แก่ธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) ต่อไป
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2542 ศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ ต่อมาจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ โจทก์จึงขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีศาลชั้นต้นออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี ต่อมาวันที่ 14 พฤษภาคม 2544 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องคัดค้านการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินค่าจ้างตามสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารศูนย์หัวใจสิริกิติ์ จำนวน 4,350,000 บาท จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการแรกว่าการยื่นคำร้องคัดค้านของจำเลยที่ 1 ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 หรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาอ้างว่า จำเลยที่ 1 ได้โอนสิทธิเรียกร้องการรับเงินค่าจ้างตามสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารศูนย์หัวใจสิริกิติ์ให้แก่ธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) แล้ว เงินค่าจ้างดังกล่าวจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) มิใช่ของจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิยื่นคำขอให้อายัดเงินจำนวนดังกล่าว เนื่องจากเป็นการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของบุคคลภายนอกผู้สุจริต และจำเลยที่ 1 ไม่ทราบเรื่องการขออายัดเงินดังกล่าวเพราะการส่งหมายให้จำเลยที่ 1 ทำโดยวิธีปิดหมายการบังคับคดีจึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มิใช่เพียงแต่ฝ่าฝืนมาตรา 296 การยื่นคำร้องคัดค้านจึงไม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขของระยะเวลาตามมาตรา 296 เห็นว่า ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวมีความหมายว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 นั่นเอง การยื่นคำร้องคัดค้านของจำเลยที่ 1 จึงต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของระยะเวลาตามมาตรา 296 วรรคสาม ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการต่อไปมีว่าจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องคัดค้านล่วงเลยกำหนดระยะเวลาตามกฎหมายแล้วหรือไม่ เห็นว่า ตามมาตรา 296 วรรคสาม จำเลยที่ 1 ต้องยื่นคำร้องก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง แต่ต้องไม่ช้ากว่า 15 วัน นับแต่วันที่ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น ตามข้อเท็จจริงได้ความว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ส่งเงินตามที่โจทก์ขออายัดมายังเจ้าพนักงานบังคับคดีสำนักงานบังคับคดีจังหวัดขอนแก่นซึ่งได้ทำบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงินและส่งเงินสุทธิที่ได้จากการอายัดจำนวน 4,198,251 บาท ให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้แจ้งการอายัดให้จำเลยที่ 1 ทราบโดยชอบด้วยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2543 และได้จัดทำบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงินให้โจทก์ตรวจรับรองกับจ่ายเงินให้แก่โจทก์ไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2543 การบังคับคดีจึงเสร็จสิ้นลงในวันดังกล่าวแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสี่ (2), 318 จำเลยที่ 1 เพิ่งมายื่นคำร้องคัดค้านเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2544 จึงพ้นกำหนดระยะเวลาตามกฎหมายแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 1 ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share