คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1858/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้ถูกกล่าวหายื่นคำร้องขอปล่อยตัวจำเลยชั่วคราวในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นโดยนำหนังสือมอบอำนาจและหนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินซึ่งเป็นเอกสารปลอมมายื่นต่อศาลชั้นต้นประกอบคำร้องขอปล่อยชั่วคราว เป็นการก่อให้เกิดความเสียหายแก่ศาล เจ้าของหลักทรัพย์ ตลอดจนจำเลย ถือเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล อันเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 31 (1), 33 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 180

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากผู้ถูกกล่าวหายื่นคำร้องขอปล่อยตัวจำเลยชั่วคราวต่อศาลชั้นต้น อ้างว่าเป็นผู้ได้รับมอบอำนาจจากนางสาวสมพร โตอ่วม ให้นำโฉนดที่ดินเลขที่ 14163 และ 14164 ตำบลเหมืองแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ของนางสาวสมพรมาเป็นหลักทรัพย์ในการประกันตัวจำเลย โดยมีนายมานิตย์ กล้าไพรี ขอเป็นผู้ประกันด้วยบุคคลร่วมด้วย แต่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาต เนื่องจากบุคคลผู้ประกันไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับจำเลย ต่อมาเจ้าหน้าที่ศาลชั้นต้นโทรศัพท์สอบถามไปยังนายเชิงชาญ แจ่มอัมพร เจ้าพนักงานปกครอง 4 ฝ่ายทะเบียน สำนักงานเขตบางกะปิ ผู้มีชื่อระบุว่าเป็นผู้รับรองลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจของนางสาวสมพรที่ผู้ถูกกล่าวหานำมายื่นจึงทราบจากนายเชิงชาญว่าไม่ได้รับรองลายมือชื่อดังกล่าวและได้โทรศัพท์สอบถามไปยังสำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ สาขาแม่ริม ทราบว่าไม่ได้ออกหนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินจำนวน 2 ฉบับ ที่ผู้ถูกกล่าวหานำมายื่นประกอบการขอปล่อยชั่วคราว และผู้ที่ระบุว่าเป็นผู้ออกหนังสือรับรองดังกล่าว คือนางจรูญศรี ธรรมแสง นักวิชาการที่ดิน 6 ก็ไม่ใช่เจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งว่า ผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1), 33 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 180 ให้จำคุก 6 เดือน
ผู้ถูกกล่าวหาอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ถูกกล่าวหาฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าผู้ถูกกล่าวหายื่นคำร้องขอปล่อยตัวจำเลยชั่วคราวในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นโดยนำหนังสือมอบอำนาจและหนังสือรับรองราคาประเมินที่ดิน (เอกสารหมายเลข 6 และ 7) ซึ่งเป็นเอกสารปลอมมายื่นต่อศาลชั้นต้นประกอบคำร้องขอปล่อยชั่วคราว คดีจึงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลหรือไม่ ผู้ถูกกล่าวหาฎีกาโดยสรุปว่าผู้ถูกกล่าวหามิได้มีส่วนร่วมในการปลอมเอกสารดังกล่าว ผู้ถูกกล่าวหาไม่ทราบว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารปลอมมิได้มีเจตนาที่จะใช้เอกสารปลอมดังกล่าวในการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวนั้น เห็นว่า ตามคำเบิกความของผู้ถูกกล่าวหาได้ความว่าผู้ถูกกล่าวหาประกอบอาชีพเป็นนายประกันอาชีพซึ่งเคยยื่นคำร้องขอปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลยมาหลายราย ย่อมต้องทราบดีว่าการจะนำหลักทรัพย์ของผู้อื่นมายื่นคำร้อง จะต้องได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของหลักทรัพย์ผู้ถูกกล่าวหาไม่เคยรู้จักนางสาวสมพร โตอ่วม เจ้าของหลักทรัพย์ไม่เคยได้รับมอบอำนาจให้นำหลักทรัพย์มาประกันตัวจำเลย แต่กลับแสดงตนเป็นผู้รับมอบอำนาจยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวต่อศาลที่อ้างว่านางศุภาพร คล้ายหร่าย เป็นผู้จัดหาเอกสารดังกล่าวมาให้โดยที่ผู้กล่าวหาไม่ทราบว่านางศุภาพรได้มาอย่างไร โดยมีนางศุภาพรมาเบิกความเป็นพยานสนับสนุนนั้น ก็ได้ความว่านางศุภาพรเป็นนายประกันอาชีพและร่วมกิจการกับผู้ถูกกล่าวหามาเป็นเวลา 1 ปี ย่อมจะต้องมีผลประโยชน์ร่วมกันอยู่ มิฉะนั้นผู้ถูกกล่าวหาคงจะไม่รับดำเนินการแทนนางศุภาพรก็เบิกความอ้างว่าได้เอกสารปลอมดังกล่าวมาจากบุคคลอื่นอีกทอดหนึ่ง เป็นการปฏิเสธความรับผิดอย่างไม่มีเหตุผล ที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่าไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ จากนางศุภาพรในการยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวคดีนี้ ยิ่งเป็นข้อพิรุธ พฤติการณ์แห่งคดีบ่งชี้ให้เห็นเจตนาอันไม่สุจริตของผู้ถูกกล่าวหา ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ศาล เจ้าของหลักทรัพย์ตลอดจนจำเลย ถือเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลอันเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1), 33 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 180 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษผู้ถูกกล่าวหามานั้นชอบด้วยเหตุผลและเหมาะสมแล้ว ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share