แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การขายทอดตลาดทรัพย์ในคดีล้มละลาย มีลักษณะแตกต่างจากการขายทอดตลาดโดยทั่วไป กล่าวคือ การขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ถือว่าเป็นการกระทำอย่างหนึ่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งจะมีการยกเลิก เพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าวได้ก็แต่โดยการร้องคัดค้านการกระทำหรือคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 146
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์ของลูกหนี้ให้แก่ผู้ร้อง แม้จะมีผู้อื่นยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนการขายทอดตลาดแต่ศาลชั้นต้นก็มีคำสั่งว่าการขายทอดตลาดชอบด้วยกฎหมาย ให้ยกคำร้องคดีถึงที่สุดจึงรับฟังเป็นยุติว่าการขายทอดตลาดเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงสามารถโอนทรัพย์สินให้ผู้ร้องได้ จะถือว่าการชำระหนี้เป็นพ้นวิสัยและทำให้ผู้ร้องหลุดพ้นจากการชำระหนี้สามารถบอกเลิกสัญญามิได้ ผู้ร้องต้องปฏิบัติตามสัญญาโดยใช้ราคาทรัพย์สินที่ค้างชำระให้ครบ หากไม่ชำระเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจเอาออกขายอีกซ้ำหนึ่ง ถ้าได้เงินเป็นจำนวนสุทธิไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิม ผู้ร้องต้องรับผิดในส่วนที่ขาดตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและขอเงินมัดจำคืน
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่เป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2533 ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านได้ดำเนินการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 6560 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 ซึ่งผู้ร้องเป็นผู้ซื้อทรัพย์ได้ในราคา 151,000,000 บาท เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2538 และผู้ร้องได้วางเงินมัดจำไว้เป็นจำนวน 7,550,000 บาท แต่ยังไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ขายให้แก่ผู้ร้อง เพราะมีผู้อื่นยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าว คดีนั้นศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าการขายทอดตลาดชอบด้วยกฎหมายแล้วให้ยกคำร้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ผู้ร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดฎีกา แล้วต่อมาขอถอนฎีกาศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2545 คดีที่ร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดจึงถึงที่สุดตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 แต่ขณะคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาดังกล่าวผู้ร้องยื่นคำร้องต่อผู้คัดค้านเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2544 อันเป็นเวลาภายหลังวันขายทอดตลาดประมาณ 5 ปีเศษว่า ผู้ร้องไม่ประสงค์ที่จะซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดดังกล่าวอีกต่อไปเพราะนับเป็นเวลานานแล้วก็ยังไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้ร้องได้ เนื่องจากมีการคัดค้านการขายทอดตลาด จึงขอเลิกสัญญาจะซื้อจะขายและให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิมโดยให้ผู้คัดค้านคืนเงินมัดจำจำนวน 7,550,000 บาท แก่ผู้ร้อง ผู้คัดค้านมีคำสั่งให้ยกคำร้องเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2544
ผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งของผู้คัดค้าน ขอให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งผู้คัดค้านและคืนเงินมัดจำจำนวน 7,550,000 บาท แก่ผู้ร้อง
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องเป็นผู้ซื้อทรัพย์ได้จากการขายทอดตลาดจะยกเหตุที่มีผู้ร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดมาเป็นเหตุเลิกสัญญาซื้อขายทอดตลาดทรัพย์ไม่ได้ ทั้งกรมบังคับคดีก็มีนโยบายให้ผู้ซื้อทรัพย์มารับเงินประมูลที่วางไว้คืนได้ เมื่อปรากฏว่ามีการพิจารณาคดีร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาด ซึ่งผู้ร้องได้มาขอรับเงินประมูลที่วางไว้ร้อยละ 25 ของจำนวนเงินที่ประมูลได้คิดเป็นเงิน 37,750,000 บาท คืนไปแล้ว โดยส่วนแรกจำนวน 30,200,000 บาท รับคืนไปวันที่ 29 กันยายน 2538 ส่วนที่เหลือจำนวน 7,550,000 บาทนั้น ผู้ร้องมาขอรับเงินคืนเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2539 โดยธนาคารสหธนาคาร จำกัด (มหาชน) ได้ออกหนังสือค้ำประกันการซื้อทรัพย์จากขายทอดตลาดดังกล่าวในวงเงิน 7,550,000 บาท มอบให้ผู้คัดค้านไว้แล้ว ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอรับเงินมัดจำคืนอีก ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องขอให้ผู้คัดค้านคืนเงินมัดจำจำนวน 7,550,000 บาท ให้แก่ผู้ร้องได้หรือไม่ ผู้ร้องฎีกาว่า ผู้คัดค้านไม่อาจโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์ที่ขายทอดตลาดได้เนื่องจากมีผู้คัดค้านการขายทอดตลาด ถือได้ว่าการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยที่จะทำได้ผู้ร้องจึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 219 และมาตรา 388 และขอคืนเงินมัดจำได้ เห็นว่า การขายทอดตลาดทรัพย์ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายนั้นมีลักษณะแตกต่างจากนิติกรรมอื่น และการขายทอดตลาดโดยทั่วไป กล่าวคือ การขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ถือว่าเป็นการกระทำอย่างหนึ่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งจะมีการยกเลิก เพิกถอน การขายทอดตลาดดังกล่าวได้ก็แต่โดยการร้องคัดค้านการกระทำหรือคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 146 คดีนี้แม้จะมีผู้อื่นยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนการขายทอดตลาด แต่ศาลชั้นต้นก็มีคำสั่งว่าการขายทอดตลาดชอบด้วยกฎหมายให้ยกคำร้องศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ในที่สุดคดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาอนุญาตให้ถอนฎีกา คดีจึงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ว่าการขายทอดตลาดเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้คัดค้านจึงสามารถโอนทรัพย์สินให้ผู้ร้องได้ จะถือว่าการชำระหนี้เป็นพ้นวิสัยและทำให้ผู้ร้องหลุดพ้นจากการชำระหนี้สามารถบอกเลิกสัญญาได้ตามที่ผู้ร้องฎีกาไม่ ผู้ร้องต้องปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายในการขายทอดตลาดทรัพย์โดยใช้ราคาทรัพย์สินที่ค้างชำระให้ครบ หากไม่ชำระผู้คัดค้านมีอำนาจเอาทรัพย์สินนั้นออกขายอีกซ้ำหนึ่ง ถ้าได้เงินเป็นจำนวนสุทธิไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิม ผู้ร้องต้องรับผิดในส่วนที่ขาดตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 516 ผู้ร้องไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและขอเงินมัดจำคืน ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง และศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและศาลฎีกาให้เป็นพับ