แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หนังสือของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านที่ขอให้ ผู้ร้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินคืนแก่กองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 สืบเนื่องมาจากการสอบสวนของผู้คัดค้านในฐานะเจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์และทราบมาว่าลูกหนี้ที่ 1 ได้ทำนิติกรรม โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินรวม 4 แปลง ให้แก่ อ.ต่อมาอ. กับบุคคลอื่นได้รวมโฉนดที่ดินทั้ง 4 แปลง เข้าด้วยกัน เป็นโฉนดเดียว แล้วแบ่งแยกออกเป็นหลายแปลงหรือหลายโฉนด โอนขายให้ผู้ร้อง 8 แปลง การโอนที่ดินระหว่างลูกหนี้ที่ 1 กับ อ.และระหว่างอ. กับผู้ร้องเป็นการโอนภายหลังที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาดการที่ผู้คัดค้านมีความเห็นว่าการที่ลูกหนี้ที่ 1 โอนที่ดิน ให้แก่ อ. และที่ อ. โอนที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่ผู้ร้อง เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายล้มละลายนั้น แต่การกระทำดังกล่าวที่เกี่ยวกับผู้ร้องต้องถือว่าผู้ร้อง เป็นบุคคลภายนอก และสิทธิของบุคคลภายนอกหากจะได้รับ ผลกระทบถึง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องดำเนินคดี ขอให้เพิกถอนต่อไป แต่หนังสือของผู้คัดค้านที่มีไปถึงผู้ร้อง แจ้งหรือเตือนให้ผู้ร้องรับรู้ว่าการโอนกรรมสิทธิ์ ที่ดินดังกล่าวทั้ง 8 แปลง ไม่ชอบเท่านั้น แม้จะมีถ้อยคำ ขอให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินคืนกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 ภายใน 30 วัน ไว้ด้วยก็ตาม แต่เมื่อผลถึงที่สุดแล้ว หากผู้ร้องไม่ปฏิบัติตาม เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ของลูกหนี้ก็หามีอำนาจที่จะถือว่าผู้ร้องเป็นหนี้กองทรัพย์สิน ของลูกหนี้เป็นเด็ดขาดไม่ เพราะไม่ถือว่าการที่จะต้อง โอนที่ดินดังกล่าวคืนเป็นสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ที่มีมาก่อนการขอให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลาย ผู้ร้อง จึงยังไม่ได้รับความเสียหายตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 146 ดังนี้ ผู้ร้องจะยื่นคำร้อง ขอให้ศาลมีคำสั่งกลับคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หาได้ไม่
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ (จำเลย) ทั้งสองเด็ดขาดเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2535 ต่อมาผู้คัดค้านมีหนังสือลงวันที่ 13 มกราคม 2541 ให้ผู้ร้องทั้งสามโอนที่ดินจำนวน 8 แปลง ตามโฉนดเลขที่ 27305 และโฉนดเลขที่ 28062 ถึง 28068 ตำบลนาทุ่ง อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร คืนแก่นายศิริ สวัสดิ์ภักดี ลูกหนี้ที่ 1 ภายใน 30 วัน
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องทั้งสามเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าว โดยจดทะเบียนรับโอนมาจากบุคคลอื่นโดยสุจริตเสียค่าตอบแทน ไม่ได้รับโอนมาจากลูกหนี้ที่ 1 จึงไม่ต้องโอนที่ดินนั้นคืนแก่ลูกหนี้ที่ 1 ขอให้มีคำสั่งกลับคำสั่งของผู้คัดค้านตามหนังสือที่ ยธ.0407/120 ถึง 122 ลงวันที่ 13 มกราคม 2541 เสีย
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ที่ดินทั้ง 8 แปลง ดังกล่าว ลูกหนี้ที่ 1 ทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่นายอนุรักษ์ บุญทรัพย์ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม2536 หลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาดแล้ว จึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ผู้ร้องทั้งสามรับโอนที่ดินนั้นมาจากนิติกรรมที่เป็นโมฆะ ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 หนังสือของผู้คัดค้านที่ให้ผู้ร้องทั้งสามโอนที่ดินทั้ง 8 แปลงนั้น เป็นเพียงแจ้งให้ผู้ร้องทั้งสามทราบก่อนที่จะร้องขอให้เพิกถอนการโอนต่อศาลเท่านั้น มิใช่คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในส่วนที่จะต้องมาร้องคัดค้านตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 146 ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2535 ศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาดตามคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ 5/2535 ผู้ร้องทั้งสามได้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 27305 และ 28062 ถึง 28068 ตำบลนาทุ่ง อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร มาจากบุคคลอื่นที่รับโอนมาเป็นทอดภายหลังที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาดแล้ว มิได้รับโอนที่ดินมาจากลูกหนี้ที่ 1 ต่อมาวันที่ 13 มกราคม 2541 ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 ได้มีหนังสือที่ ยธ.0407/120 ถึง 122 ขอให้ผู้ร้องทั้งสามโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 8 แปลงดังกล่าวคืนให้ลูกหนี้ที่ 1 เพื่อรวบรวมเข้ากองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยฎีกาผู้ร้องทั้งสามตามคำร้องว่าหนังสือที่ ยธ.0407/120 ถึง 122 ลงวันที่ 13 มกราคม 2541 เป็นการกระทำหรือคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 ที่ทำให้ผู้ร้องทั้งสามได้รับความเสียหายตามความหมายของมาตรา 146 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 หรือไม่ปัญหาข้อนี้มีข้อเท็จจริงที่ต่อเนื่องมาจากการกระทำของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จนทำให้ผู้ร้องทั้งสามมีอำนาจที่จะยื่นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนหรือกลับหรือให้แก้ไขคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้วหรือไม่ และเป็นปัญหาที่ผู้คัดค้านขอให้ศาลชั้นต้นชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 24 ประกอบพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153พิเคราะห์แล้วหนังสือของผู้คัดค้านฉบับลงวันที่ 13 มกราคม 2541 ตามเอกสารหมายเลข 1 ท้ายคำร้องลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2541 ของผู้คัดค้านที่ขอให้ผู้ร้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินคืนแก่กองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 นั้นมีข้อเท็จจริงสืบเนื่องมาจากการสอบสวนของผู้คัดค้านในฐานะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และทราบมาว่าเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2536 ลูกหนี้ที่ 1 ได้ทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 25557 ถึงโฉนดเลขที่ 25560 ตำบลนาทุ่ง อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร รวม 4 แปลง ให้แก่ นายอนุรักษ์ บุญทรัพย์ต่อมานายอนุรักษ์กับบุคคลอื่นได้รวมโฉนดที่ดินทั้ง 4 แปลง เข้าด้วยกันเป็นโฉนดเดียวแล้วแบ่งแยกออกเป็นหลายแปลงหรือหลายโฉนดโอนขายให้ผู้ร้องทั้งสาม 8 แปลง การโอนที่ดินระหว่างลูกหนี้ที่ 1 กับนายอนุรักษ์และระหว่างนายอนุรักษ์กับผู้ร้องทั้งสามเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินภายหลังวันที่ 8 มกราคม 2535 อันเป็นการโอนภายหลังที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาด ผู้คัดค้านจึงมีความเห็นว่าการที่ลูกหนี้ที่ 1 โอนที่ดินให้แก่นายอนุรักษ์ และที่นายอนุรักษ์โอนที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องทั้งสามเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายล้มละลาย เห็นว่า การกระทำดังกล่าวที่เกี่ยวกับผู้ร้องทั้งสามนี้ต้องถือว่าผู้ร้องทั้งสามเป็นบุคคลภายนอก และสิทธิของบุคคลภายนอกหากจะได้รับผลกระทบถึงเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องดำเนินคดีขอให้เพิกถอนต่อไป ดังนั้นหนังสือของผู้คัดค้านที่ ยธ.0407/120 ถึง 122 ลงวันที่ 13 มกราคม 2541 จึงเป็นเพียงหนังสือของผู้คัดค้านที่มีไปถึงผู้ร้องทั้งสามแจ้งหรือเตือนให้ผู้ร้องทั้งสามรับรู้ว่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวทั้ง 8 แปลง ไม่ชอบเท่านั้นแม้จะมีถ้อยคำขอให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินคืนกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 ภายใน 30 วัน ไว้ด้วยก็ตามแต่เมื่อผลถึงที่สุดแล้ว หากผู้ร้องทั้งสามไม่ปฏิบัติตาม ผู้คัดค้านหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ก็หามีอำนาจที่จะถือว่าผู้ร้องทั้งสามเป็นหนี้กองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 เป็นเด็ดขาดไม่เพราะไม่ถือว่าการที่จะต้องโอนที่ดินดังกล่าวคืนเป็นสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ที่ 1 ที่มีมาก่อนการขอให้ลูกหนี้ที่ 1 เป็นบุคคลล้มละลาย ผู้ร้องทั้งสาม จึงยังไม่ได้รับความเสียหายตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 146
พิพากษายืน