แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตป่าสงวน จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(3) และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1305 ห้ามมิให้ที่ดินประเภทดังกล่าวโอนแก่กัน ประกอบกับพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ. 2507 มาตรา 14 ห้ามมิให้บุคคลใดยึดถือหรือครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ทำให้ผู้ที่เข้ายึดถือครอบครองที่ดินไม่ได้สิทธิครอบครองไม่สามารถใช้ยันรัฐได้แต่ระหว่างราษฎรด้วยกันผู้ที่ครอบครองใช้ประโยชน์อยู่ก่อนมีสิทธิที่จะไม่ถูกรบกวนโดยบุคคลอื่น เมื่อที่ดินพิพาทอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติโจทก์จึงไม่มีอำนาจนำที่ดินพิพาทมาให้จำเลยอาศัย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลย
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 กับนางเขียว บรรลังค์ภรรยาได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินเนื้อที่ประมาณ 60 ไร่ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลบุพรามณ์ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรีมาตั้งแต่ปี 2500 ต่อมาในปี 2507 ทางราชการได้ประกาศให้ที่ดินของโจทก์ทั้งสองเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ในปี 2530 โจทก์ที่ 1อนุญาตให้จำเลยปลูกบ้านอยู่อาศัยที่ดินดังกล่าว ต่อมาปี 2532นางเขียวถึงแก่กรรม สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทจึงตกมาเป็นของโจทก์ทั้งสอง ปี 2535 โจทก์ทั้งสองประสงค์จะเข้าทำกินบนที่ดินที่จำเลยปลูกบ้านอยู่อาศัย จึงแจ้งให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไป และส่งมอบที่ดินคืนโจทก์ทั้งสอง แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยและบริวารรื้อถอนบ้านออกไปจากที่ดินของโจทก์ทั้งสองห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์ทั้งสองและให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากที่ดินของโจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยขอโจทก์ทั้งสองเข้าปลูกบ้านอยู่อาศัย จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทมาโดยตลอด จึงมีสิทธิดีกว่าโจทก์ทั้งสอง และที่ดินพิพาทอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่จะวินิจฉัยในชั้นนี้มีว่ามีเหตุที่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นชี้สองสถานและสืบพยานโจทก์ทั้งสองกับจำเลยก่อนแล้วจึงวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่าโจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า เมื่อตามคำฟ้องและคำให้การข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ที่ดินพิพาทจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(3) ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1004 บัญญัติห้ามมิให้ที่ดินประเภทดังกล่าวโอนแก่กัน เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา นอกจากนี้ตามพระราชบัญญัติ ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14 ยังได้บัญญัติห้ามมิให้บุคคลใดยึดถือหรือครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติเห็นได้ว่าตามบทกฎหมายดังกล่าวมีผลให้ราษฎรที่เข้ายึดถือครอบครองที่ดินไม่ได้สิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย ทั้งไม่อาจอ้างสิทธิใด ๆใช้ยันรัฐได้ แต่ในระหว่างราษฎรด้วยกัน ผู้ที่ครอบครองใช้ประโยชน์อยู่ก่อน ย่อมมีสิทธิที่จะไม่ถูกรบกวนโดยบุคคลอื่น มิฉะนั้นจะกลายเป็นว่ากฎหมายเปิดโอกาสให้ราษฎรเข้าแย่งสิทธิระหว่างกันเองได้ตามอำเภอใจ ซึ่งหาใช่เจตนารมณ์อันแท้จริงแห่งกฎหมายไม่ ดังนั้นถ้าหากข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองเป็นฝ่ายครอบครองใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทอยู่ก่อนแล้วจำเลยเข้าไปแย่งการครอบครองอันเป็นการรบกวนสิทธิของโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองย่อมมีอำนาจฟ้องเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนสิทธิของโจทก์ทั้งสอง และฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2967/2524 ระหว่างนายเรือง อินทร์เครือ โจทก์ นางมอญ ล้านนาหรือล้านสม จำเลยแต่คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องอ้างว่าให้จำเลยอาศัยซึ่งข้อเท็จจริงต่างกับคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2967/2524และที่ 3677/2531 ที่โจทก์ทั้งสองอ้าง ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติโจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจนำที่ดินพิพาทดังกล่าวให้จำเลยอาศัยไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยเมื่อโจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องก็เป็นการถูกต้องแล้วที่ศาลชั้นต้นงดชี้สองสถานและงดสืบพยานโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้วฎีกาโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน