คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 828/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อค่าครองชีพซึ่งรัฐวิสาหกิจจ่ายให้ตามมติของคณะรัฐมนตรีเป็นค่าจ้างประเภทหนึ่งซึ่งจะต้องจ่ายในอัตราเหมาเดือนมิได้จ่ายให้เฉพาะวันที่มาทำงานและไม่มีการหักวันหยุดวันลาต่างๆ อันแตกต่างกับการจ่ายค่าจ้างรายชั่วโมงตามปกติของโจทก์ ดังนั้นการคำนวณค่าล่วงเวลารายชั่วโมงของค่าครองชีพให้แก่โจทก์จึงต้องเอาจำนวนค่าครองชีพหารด้วย 30 คูณด้วย 8 (จำนวนชั่วโมงที่โจทก์ทำงานแต่ละวัน) หาใช่เอา 21.75 อันเป็นวันทำงานโดยเฉลี่ยของโจทก์ในแต่ละเดือนคูณด้วย 8 มาเป็นตัวหารไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ ได้รับค่าจ้างเป็นรายชั่วโมง ทำงานวันละ ๘ ชั่วโมง สัปดาห์หนึ่งทำงาน ๕ วัน ไม่มีการจ่ายค่าจ้างในวันหยุดโจทก์ได้รับค่าจ้างจากจำเลยเฉลี่ยเป็นรายเดือนเท่ากับอัตราชั่วโมงคูณด้วยจำนวนชั่วโมงที่ทำงานในหนึ่งวันคูณด้วยจำนวนวันโดยเฉลี่ยต่อหนึ่งเดือน เท่ากับอัตราค่าจ้างชั่วโมงละ x ๘ x ๒๑.๗๕ จำเลยคำนวณค่าจ้างของโจทก์โดยวิธีดังกล่าวในการจ่ายเงินทุกชนิดให้แก่โจทก์ เช่น โบนัส ค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้าง แต่เมื่อจำเลยจ่ายค่าครองชีพให้แก่โจทก์เดือนละ ๓๐๐ บาท จำเลยเฉลี่ยรายชั่วโมงเพื่อนำมาคิดค่าล่วงเวลาโดยวิธีหารเฉลี่ยด้วย เศษ ๓๐๐ ส่วน ๘ x ๓๐ ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในการทำงานของโจทก์และในการคิดค่าจ้างตามปกติให้โจทก์ จำเลยควรจะต้องคำนวณโดยเฉลี่ยจาก เศษ ๓๐๐ ส่วน ๘ x ๒๑.๗๕ จึงจะถูกต้อง เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับค่าจ้างโดยเฉลี่ยของเงินค่าครองชีพน้อยลงเมื่อโจทก์ทำงานล่วงเวลาหรือทำงานในวันหยุด ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุดที่ขาดไปและให้จำเลยคิดเฉลี่ยเงินค่าครองชีพเป็นรายชั่วโมงโดยถือเอา ๘ x ๒๑.๗๕ เป็นตัวหารตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป
จำเลยให้การว่า การที่จำเลยจ่ายค่าครองชีพโดยใช้ ๓๐ เป็นตัวหารนั้นปฏิบัติตามติดคณะรัฐมนตรี จำเลยเฉลี่ยอัตราค่าครองชีพสำหรับลูกจ้างรายชั่วโมงโดยใช้สูตร เศษ ๓๐๐ ส่วน ๘ x ๓๐ ค่าครองชีพถือเป็นค่าจ้างอีกประเภทหนึ่งซึ่งจ่ายในอัตราเหมาเดือน ไม่มีการหักวันหยุด วันลาต่าง ๆ แตกต่างจากค่าแรงปกติ ซึ่งจะหักวันหยุด วันลาต่าง ๆ คงจ่ายเฉพาะวันเวลาที่โจทก์ทำงานจริง ๆ เท่านั้น การจ่ายค่าแรงให้โจทก์ถือว่าในหนึ่งเดือน โจทก์จะมีเวลาทำงาน ๒๑.๗๕ วัน จำเลยไม่สามารถจ่ายค่าครองชีพให้โจทก์โดยการคำนวณเฉลี่ยจาก เศษ ๓๐๐ ส่วน ๘ x ๒๑.๗๕ ตามฟ้องได้ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยคำนวณจำนวนเงินค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดให้โจทก์ถูกต้องแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ตามหนังสือสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนมาก ที่ สร. ๐๒๐๒/ว. ๒๐๗ ลงวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๒๓ ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แจ้งมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้จ่ายเงินค่าครองชีพแก่พนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจมีความดังนี้ “๑.๑ กรณีที่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างรายเดือนให้จ่ายเงินค่าครองชีพในอัตราเดือนละ ๔๐๐ บาท สำหรับผู้ที่ได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างเท่ากับหรือต่ำกว่า ๓,๐๓๐ บาทต่อเดือน หรือในอัตราเดือนละ ๓๐๐ บาท สำหรับผู้ที่ได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างเกินกว่า ๓,๐๓๐ บาท แต่ไม่เกิน ๕,๖๕๐ บาทต่อเดือน” “๑.๒ กรณีที่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างรายวันให้ได้รับเงินค่าครองชีพดังกล่าวตามข้อ ๑.๑ หารด้วย ๓๐” จะเห็นว่าการจ่ายค่าครองชีพนี้เป็นค่าจ้างประเภทหนึ่งซึ่งจะต้องจ่ายในอัตราเหมาเดือน มิได้จ่ายให้เฉพาะวันที่มาทำงาน และไม่มีการหักวันหยุด วันลาต่าง ๆ อันแตกต่างกับการจ่ายค่าจ้างของโจทก์ตามปกติซึ่งถือว่าในหนึ่งเดือนจะมีเวลาทำงาน ๒๑.๗๕ วัน ทั้งในกรณีที่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างรายวันตามข้อ ๑.๒ ก็กำหนดให้หารด้วย ๓๐ ฉะนั้น ที่จำเลยใช้ ๓๐ เป็นตัวหารจึงถูกต้องตามมติคณะรัฐมนตรีแล้ว
พิพากษายืน

Share