คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1595/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ออกเช็คให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ จำเลยที่ 3 เป็นผู้สลักหลัง เมื่อเช็คถึงกำหนดและโจทก์นำไปเข้าบัญชี แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ผู้สั่งจ่ายและจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้สลักหลังต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 967 จำเลยที่ 3 จึงมีฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 มิได้มีฐานะเป็นผู้ค้ำประกัน จะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 700 และ 948 มาบังคับไม่ได้(อ้างฎีกาที่ 1034/2507)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ได้ออกเช็คให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ค่าก่อสร้างโดยจำเลยที่ ๓ เป็นผู้สลักหลังเช็คค้ำประกันผู้สั่งจ่าย โจทก์ได้นำเช็คไปเข้าบัญชีโจทก์ แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยจึงยังเป็นหนี้โจทก์อยู่ ต่อมาจำเลยได้ชำระเงินตามเช็คบางส่วน ที่ค้างไม่ชำระ โจทก์ทวงถามก็ไม่ชำระ จึงต้องขอให้ศาลบังคับ
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า เช็คที่จำเลยที่ ๑ ออกให้โจทก์เป็นเช็คปราศจากมูลหนี้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยได้สลักหลังเช็คไปโดยกลฉ้อฉลของโจทก์ โจทก์ปล่อยเวลาไล่เบี้ยให้ล่วงเลยมานานเกินสมควร และยอมผ่อนเวลาให้ผู้สั่งจ่ายโดยมิได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ ๓ ทราบ โจทก์จึงไม่มีสิทธิไล่เบี้ยเอากับจำเลยที่ ๓ ขอให้ยกฟ้องโจทก์
จำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๔ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ ๑-๒ และ ๔ ร่วมกันรับผิดใช้เงิน ๔๗,๗๖๐ บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ย ถ้าจำเลยที่ ๑-๒ และ ๔ ใช้เงินให้โจทก์ไม่ครบ ยังขาดอยู่อีกเท่าใด ก็ให้จำเลยที่ ๓ ร่วมรับผิดชดใช้ให้แก่โจทก์ในฐานะผู้สลักหลังเช็คหมาย จ.๒๒ ภายในวงเงินไม่เกิน ๒๗,๗๖๐ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๓ อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า เช็คที่จำเลยที่ ๓ สลักหลังเป็นเช็คมีมูลหนี้ การสลักหลังของจำเลยที่ ๓ มิใช่เกิดจากกลฉ้อฉล เมื่อเช็คถึงกำหนดและโจทก์ได้นำไปเข้าบัญชีแล้ว แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเช่นนี้ ผู้สั่งจ่ายและจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้สลักหลังต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๙๖๗ จำเลยที่ ๓ จึงมีฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ ๑ มิได้มีฐานะเป็นผู้ค้ำประกัน จะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๗๐๐ และ ๙๔๘ มาใช้บังคับกรณีนี้มิได้ ดังนัยฎีกาที่ ๑๐๓๔/๒๕๐๗ ส่วนฎีกาข้ออื่นจำเลยมิได้ยกประเด็นขึ้นว่ากล่าวมาแต่ศาลชั้นต้น จึงไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๔๙ ไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share