คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1145/2505

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 191 นั้น หมายความว่าคู่กรณีจะตกลงกันแก้ไขเปลี่ยนแปลงอายุความตามกฎหมายให้สั้นเข้ามาหรือให้ยาวออกไปไม่ได้ แต่อายุความก็เป็นระยะเวลาอย่างหนึ่งเหมือนกัน จึงนำความในมาตรา 161 มาใช้ได้ เมื่อวันสุดท้ายแห่งอายุความเป็นวันหยุด ก็ให้นับวันที่เริ่มทำงานใหม่เข้าด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นภรรยาของพระยาประสิทธิสงครามพระยาประสิทธิสงครามมีสิทธิเป็นเจ้าของร่วมสองในสามส่วนของที่ดิน2 แปลงที่มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดิน 2 แปลงนี้ให้แก่จำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 2 โอนขายให้แก่จำเลยที่ 3 โดยจำเลยทั้งสามสมรู้กันแสดงเจตนาลวง ต่อมาจำเลยที่ 3 โดยการสมคบกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ขายที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์หลังจากนั้นพระยาประสิทธิสงครามได้ฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 และโจทก์คดีนี้ คดีนั้นศาลได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2501 ซึ่งพิพากษาให้ลงชื่อพระยาประสิทธิสงครามในโฉนดให้มีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์สองในสามส่วน ทำให้โจทก์ต้องเสียกรรมสิทธิ์ในที่ดินไปสองในสามส่วน ซึ่งเงินราคาที่ดินที่เสียไปนี้เป็นลาภมิควรได้ตกแก่จำเลยทั้งสามกับโจทก์ต้องเสียค่าภาษีที่ดินในระหว่างที่มีชื่อโจทก์เป็นเจ้าของรวม 5 ปี ซึ่งเสียไปเพราะการกระทำของจำเลยสองในสามส่วน ทั้งยังต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียม ค่าทนายในคดีที่ถูกพระยาประสิทธิสงครามฟ้องด้วย ขอให้บังคับจำเลยร่วมกันใช้เงินให้โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธความรับผิด กับตัดฟ้องว่าคดีขาดอายุความ จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธความรับผิด ส่วนจำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ

ในวันนัดชี้สองสถาน โจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ท้ากันขอให้ศาลวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เป็นข้อแพ้ชนะคดี

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีขาดอายุความแล้ว พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คดีไม่ขาดอายุความ พิพากษาแก้ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาอันโจทก์ถือเป็นมูลเหตุฟ้องเรียกเงินฐานลาภมิควรได้และละเมิดจากจำเลยเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2501 วันครบ 1 ปีนับแต่วันอ่าน คือวันที่ 1 พฤศจิกายน2502 แต่วันนั้นเป็นวันอาทิตย์หยุดราชการ โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2502 จำเลยฎีกาว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 191 อายุความหาอาจขยายหรือย่นได้ไม่ และจะนำมาตรา 161 มาใช้ก็ไม่ได้ ศาลฎีกาเห็นว่าตามมาตรา 191 นั้นหมายความว่าคู่กรณีจะตกลงกันแก้ไขเปลี่ยนแปลงอายุความตามกฎหมายให้สั้นเข้ามาหรือให้ยาวออกไปย่อมไม่ได้ แต่ในเรื่องที่อายุความครบกำหนดลงในวันหยุดนั้นมีบัญญัติไว้ตามมาตรา 161 ว่า ถ้าวันสุดท้ายแห่งระยะเวลาเป็นวันหยุด ซึ่งตามประเพณีงดเว้นการงาน ท่านให้นับวันที่เริ่มทำงานใหม่เข้าด้วย จึงนำความข้อนี้มาใช้ในกรณีเรื่องอายุความได้เพราะอายุความก็เป็นระยะเวลาอย่างหนึ่งเหมือนกัน ฟ้องโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1479/2493

พิพากษายืน

Share