คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2828/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้บ้านและที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินที่โจทก์ได้มาโดยการซื้อจากการขายทอดตลาดของศาลก็ตาม แต่ที่ดินพิพาททางราชการประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดินและได้ออกหนังสืออนุญาต ให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินในนามของ ศ.อันเป็นการออกให้โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518ซึ่งจะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรมหรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกร ฯลฯ และเมื่อการขายทอดตลาดดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากคณะกรรมการฯ ตามบทกฎหมายดังกล่าวการขายทอดตลาดจึงเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150แม้โจทก์จะซื้อบ้านและที่ดินพิพาทโดยสุจริตในการขายทอดตลาด ตามคำสั่งศาล โจทก์ก็ไม่ได้สิทธิในที่ดินพิพาท ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1330 เมื่อจำเลยครอบครองบ้านและที่ดินพิพาทย่อมมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน 1 แปลง พร้อมบ้านเลขที่ 28 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดิน เนื้อที่ประมาณ 50 ไร่ โจทก์ได้มาโดยซื้อจากการขายทอดตลาดของศาล ขอให้บังคับจำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและบ้านของโจทก์และส่งมอบให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 4,000 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากบ้านและที่ดินตามฟ้องเสร็จสิ้น
จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทตามฟ้องเป็นที่ดินที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติบ้านนา-ทุ่งควายกิน ซึ่งนายศิลา โสภาครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา โดยเมื่อประมาณปี 2518นายศิลาซื้อจากบุคคลอื่นประมาณ 30 ไร่ และเมื่อปี 2523ซื้อเพิ่มจากบุคคลอื่นอีกประมาณ 20 ไร่ ปัจจุบันนายศิลาปลูกทุเรียนในที่ดินพิพาทเป็นเนื้อที่ 20 ไร่เศษ และปลูกยางพารา30 ไร่เศษ นอกจากนี้เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2539 นายศิลาได้ปลูกบ้านพิพาทลงในที่ดิน ต่อมาทางราชการดำเนินการปฏิรูปที่ดินและออกหลักฐานสำหรับที่ดิน (ส.ป.ภ.4-01 ก.)ให้แก่นายศิลา ที่ดินดังกล่าวจะแบ่งแยกหรือโอนสิทธิให้ผู้อื่นไม่ได้ การที่โจทก์ซื้อมาจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงตกเป็นโมฆะ โจทก์มิใช่เจ้าของที่ดินและบ้านพิพาท ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า บ้านและที่ดินพิพาท เป็นทรัพย์สินที่โจทก์ได้มาโดยการซื้อจากการขายทอดตลาดของศาล ที่ดินพิพาททางราชการประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดินและได้ออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินในนามของนายศิลาอันเป็นการออกให้โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ขณะโจทก์ยื่นฟ้อง จำเลยกับนายศิลายังคงอาศัยและทำประโยชน์ในบ้านและที่ดินพิพาทมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกาข้อเดียวว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 12518 มาตรา 39 บัญญัติว่าที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยก หรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรมหรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกร ฯลฯ และมาตรา 28 วรรคแรก บัญญัติว่าภายในระยะเวลาสามปี นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินตามมาตรา 25 ใช้บังคับ ห้ามมิให้ผู้ใดจำหน่ายด้วยประการใด ๆ หรือก่อให้เกิดภาระติดพันใด ๆ ซึ่งที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากคณะกรรมการหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมาย ดังนี้เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าการขายทอดตลาดดังกล่าวได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากคณะกรรมการหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมายการขายทอดตลาดจึงเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150แม้โจทก์จะซื้อบ้านและที่ดินพิพาทโดยสุจริตในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยก็ไม่ได้สิทธิในที่ดินพิพาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1330 เมื่อจำเลยครอบครองบ้านและที่ดินพิพาทย่อมมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่
พิพากษายืน

Share