คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1040/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลชั้นต้นได้พิพากษาตามยอมแล้ว ได้ระบุข้อตกลงในการปฏิบัติการชำระหนี้ไว้อย่างชัดแจ้งโดยข้อ 1 ระบุให้จำเลยที่ 1 เพียงคนเดียว เป็นผู้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติการชำระหนี้แก่โจทก์ ส่วนข้อ 2 ระบุให้จำเลยทั้งสองหรือจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 คนใดคนหนึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ในการชำระหนี้ และในข้อ 3 ระบุให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีหน้าที่ต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ตามข้อตกลงดังกล่าวแสดงว่าจำเลยทั้งสองแยกกันรับผิดในการปฏิบัติการชำระหนี้แก่โจทก์เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 1 เพียงคนเดียว จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาโจทก์ชอบที่จะบังคับคดีเอาแก่จำเลยที่ 1 เท่านั้นส่วนสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 6 ที่ระบุว่าหากจำเลยที่ 1ที่ 2 ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความข้อหนึ่งข้อใดให้โจทก์มีสิทธิบังคับคดีได้ทันที มีความหมายเพียงว่า ถ้าจำเลยคนใดผิดสัญญาข้อใดก็ให้บังคับคดีเอาแก่จำเลยคนนั้นตามสัญญา แต่ละข้อเท่านั้น เพราะในสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับ ดังกล่าวมิได้มีข้อตกลงให้จำเลยทั้งสองรับผิดร่วมกันในการชำระหนี้แก่โจทก์ การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นของจำเลยที่ 2 เป็นการไม่ชอบ จึงให้เพิกถอนการบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 นั้นเสีย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์และจำเลยทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยข้อ 1 ตกลงกันว่าจำเลยที่ 1จะชำระเงินที่ได้จากการขายหุ้นธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)จำนวน 2,000 หุ้น เป็นเงิน 308,450 บาท ให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่งเป็นเงิน 154,225 บาท ข้อ 2 ตกลงกันว่าโจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 และ/หรือจำเลยที่ 2 ขายรถยนต์เก๋งหมายเลขทะเบียน 9ค-1699 แก่บุคคลภายนอกในราคาไม่ต่ำกว่า30,000 บาท และหากขายได้ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระเงินแก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง ข้อ 3 ตกลงกันว่าโจทก์ตกลงขายหุ้นธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในส่วนที่โจทก์มีสิทธิได้รับมรดกร่วมกับจำเลยที่ 1 เท่า ๆ กัน คือหุ้นหมายเลข 0302218จำนวน 40 หุ้น และหมายเลข 0302219 จำนวน 40 หุ้นโดยโจทก์ตกลงขายในส่วนของโจทก์จำนวน 40 หุ้น ให้แก่จำเลยที่ 2ในราคาหุ้นละ 155 บาท เป็นเงิน 6,200 บาท เมื่อหักภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 434 บาท แล้ว คงเหลือเงินที่จำเลยที่ 2ต้องชำระแก่โจทก์เป็นเงิน 5,766 บาท ข้อ 4 ตกลงกันว่าการชำระหนี้ตามข้อ 1, 2 และข้อ 3 ให้ชำระภายในวันที่1 เมษายน 2539 และข้อ 6 ตกลงกันว่าหากจำเลยที่ 1 ที่ 2ผิดสัญญาให้บังคับคดีได้ทันที ศาลชั้นต้นพิพากษาไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว ภายหลังทำสัญญาประนีประนอมยอมความโจทก์ได้รับชำระหนี้เพียง 20,766 บาท ส่วนหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 1 อีก 154,225 บาท ยังไม่ได้รับชำระและเกินกำหนดระยะเวลาชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว โจทก์จึงบังคับคดีโดยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 คือที่ดินโฉนดเลขที่ 106894 พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน เพื่อนำออกขายทอดตลาด
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 2 ได้ชำระหนี้ในส่วนที่จำเลยที่ 2 จะต้องปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้วแต่โจทก์ยืนยันให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินของจำเลยที่ 2 ต่อไปขอให้เพิกถอนการบังคับคดีและแจ้งเจ้าพนักงานบังคับคดีงดการบังคับคดีไว้ก่อน
โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้าน ขอให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2539 ที่ศาลชั้นต้นได้พิพากษาตามยอมแล้วนั้นได้ระบุข้อตกลงในการปฏิบัติการชำระหนี้ไว้อย่างชัดแจ้งโดยข้อ 1 ระบุให้จำเลยที่ 1 เพียงคนเดียวเป็นผู้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติการชำระหนี้แก่โจทก์ ส่วนข้อ 2ระบุให้จำเลยทั้งสองหรือจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2คนใดคนหนึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ในการชำระหนี้ และในข้อ 3 ระบุให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีหน้าที่ต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามข้อตกลงดังกล่าวแสดงว่าจำเลยทั้งสองแยกกันรับผิดในการปฏิบัติการชำระหนี้แก่โจทก์ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 1 เพียงคนเดียว จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ชอบที่จะบังคับคดีเอาแก่จำเลยที่ 1 เท่านั้นแม้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 6 จะระบุว่าหากจำเลยที่ 1ที่ 2 ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความข้อหนึ่งข้อใดให้โจทก์มีสิทธิบังคับคดีได้ทันทีก็มีความหมายเพียงว่า ถ้าจำเลยคนใดผิดสัญญาข้อใดก็ให้บังคับคดีเอาแก่จำเลยคนนั้นตามสัญญาแต่ละข้อเท่านั้น เพราะในสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับดังกล่าวมิได้มีข้อตกลงให้จำเลยทั้งสองรับผิดร่วมกันในการชำระหนี้แก่โจทก์ การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นของจำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิกถอนการบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 นั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน

Share