คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 722/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ห้างหุ้นส่วนจำกัดรับเหมาก่อสร้างโดยจ้างเหมาเฉพาะค่าแรงต่อไปเป็นจ้างแรงงาน ผู้รับเหมาต้องรับผิดในละเมิดที่ลูกจ้างของผู้รับเหมาค่าแรงทำขึ้น หุ้นส่วนผู้จัดการคือหุ้นส่วนประเภทรับผิดไม่จำกัด ต้องรับผิดในฐานะส่วนตัวด้วย

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 59,000 บาท กับดอกเบี้ย ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้จำนวนเงินเป็น 54,000 บาท จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “จำเลยฎีกาในประการแรกว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดกมลกิจก่อสร้างเป็นผู้ก่อสร้างตึกแถวรายนี้ ห้างหุ้นส่วนจำกัดกมลกิจค้าวัสดุก่อสร้างจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้ก่อสร้าง โจทก์จึงฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัดกมลกิจค้าวัสดุก่อสร้างจำเลยที่ 1 ไม่ได้ และโจทก์สืบไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 จัดการก่อสร้างในฐานะส่วนตัวอย่างไร จึงฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวไม่ได้เช่นกัน ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่าตามคำให้การของจำเลยยอมรับแล้วว่าจำเลยเป็นผู้ก่อสร้างตึกแถวรายนี้ ดังนั้นที่จำเลยนำสืบว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดกมลกิจก่อสร้างเป็นผู้ก่อสร้างตึกแถวรายนี้จึงเป็นการนำสืบนอกคำให้การรับฟังไม่ได้ คดีต้องรับฟังตามคำให้การของจำเลยว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ก่อสร้างตึกแถวรายนี้ ส่วนจำเลยที่ 2 นั้นปรากฏจากการนำสืบของคู่ความรับกันว่าจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่ 1 แสดงว่าเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด เมื่อมีหนี้เกิดแต่มูลละเมิดเกี่ยวกับกิจการของห้างจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในฐานะส่วนตัวด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1077(2) ,1087 ฎีกาจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

จำเลยฎีกาในประการต่อไปว่า ห้างจำเลยที่ 1 จ้างเหมาให้นายสมพงษ์เลื่อนลอย ก่อสร้างตึกแถวเป็นกรณีจ้างทำของ คนงานจึงเป็นลูกจ้างของนายสมพงษ์ ไม่ใช่ลูกจ้างของห้างจำเลยที่ 1 ห้างจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิด ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว จำเลยที่ 2 เบิกความว่าได้จ้างเหมานายสมพงษ์ เลื่อนลอย เฉพาะค่าแรงเท่านั้น โดยคิดค่าแรงให้ห้องละ22,000 บาท ได้ทำสัญญากันไว้แต่ได้ฉีกทิ้งไปแล้ว การจ่ายเงินให้นายสมพงษ์นั้น จำเลยที่ 2 จ่ายให้เป็นงวด ๆ แต่งวดละเท่าใดจำไม่ได้ตามคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวไม่พอฟังว่าเป็นการจ้างทำของแต่กลับแสดงว่าหนี้ซึ่งนายสมพงษ์ เลื่อนลอย จะต้องชำระคือแรงงานที่จะต้องปฏิบัติงานให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง และต้องปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างด้วย งานก่อสร้างที่นายสมพงษ์ เลื่อนลอย ทำนั้นย่อมเป็นงานของจำเลย โดยจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเป็นผู้รับผลของงานก่อสร้างนั้น กรณีจึงเป็นจ้างแรงงาน เมื่อคนงานของนายสมพงษ์ เลื่อนลอย ทำละเมิดก็อยู่ในทางการที่จำเลยว่าจ้างแรงงานนายสมพงษ์เลื่อนลอย นั้นเอง จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดนั้นด้วย”

พิพากษายืน

Share