แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่ผู้กระทำความผิดจะได้รับประโยชน์จาก พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 นั้น ต้องประกอบด้วยเหตุสองประการ คือ ผู้กระทำผิดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญ และข้อมูลนั้นต้องเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ลำพังเพียงให้ข้อมูลแต่ไม่เป็นประโยชน์ หรือเป็นประโยชน์ธรรมดามิได้เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง หรือเป็นประโยชน์แต่มิใช่ข้อมูลสำคัญ ผู้ให้ข้อมูลหารับประโยชน์จากบทบัญญัติดังกล่าวไม่ เมื่อข้อเท็จจริงในคดีได้ความว่า หลังจากพันตำรวจตรี ธ. ค้นพบเมทแอมเฟตามีนของกลางบางส่วนที่ห้องพักเลขที่ 203 และ 209 แล้ว ได้สอบปากคำจำเลยที่ 3 เพิ่มเติม โดยจำเลยที่ 3 ให้การว่า ที่ห้องพักเลขที่ 203 น่าจะมีเมทแอมเฟตามีนซุกซ่อนไว้อีก พันตำรวจตรี ธ. กับพวก จึงไปตรวจค้นที่ห้องพักดังกล่าวอีกครั้งโดยไม่ได้นำจำเลยที่ 3 ไปด้วย ชี้ให้เห็นว่าการค้นห้องพักเลขที่ 203 ครั้งที่ 2 เป็นการขยายผลการตรวจค้นเพื่อหาเมทแอมเฟตามีนเพิ่มเติมสืบเนื่องมาจากการตรวจค้นครั้งแรก อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติของเจ้าพนักงานที่ต้องกระทำอยู่แล้ว ประกอบกับการตรวจค้นในครั้งหลัง จำเลยที่ 3 ก็มิได้ไปด้วย ทั้งคำให้การของจำเลยที่ 3 ก็ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าเมทแอมเฟตามีนซ่อนอยู่ที่ใด เมื่อเมทแอมเฟตามีนของกลางซุกซ่อนอยู่ในตู้ทีวี ตุ๊กตาผ้า ม้วนฟูกที่นอน และช่องลับใต้โต๊ะตั้งพระบูชา ย่อมเป็นที่คาดหมายได้ว่าสามารถตรวจค้นพบได้โดยไม่ยาก ดังนี้ กรณีดังกล่าวไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ได้ให้ข้อมูลสำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันจะเป็นเหตุให้ได้รับประโยชน์ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 100/1, 102 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3, 7, 8, 14 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58, 80, 83, 91 ริบเมทแอมเฟตามีนโทรศัพท์เคลื่อนที่ และกระเป๋าถือสีชมพูของกลาง บวกโทษจำคุก 4 เดือน ของจำเลยที่ 2 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 178/2557 ของศาลจังหวัดนครนายก เข้ากับโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ และจำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83 และพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 7, 8 วรรคสอง ฐานร่วมกันพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 7 ให้ระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดสำเร็จ ส่วนฐานสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและได้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้สมคบกันตามมาตรา 8 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติเดียวกันนี้ให้ระวางโทษตามที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น เมื่อเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยทั้งสามร่วมกันมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและพยายามจำหน่ายเป็นจำนวนเดียวกัน การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 (ที่ถูก ต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดแก่จำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่ความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและร่วมกันพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนซึ่งต้องลงโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดสำเร็จมีอัตราโทษเท่ากัน จึงให้ลงโทษจำเลยทั้งสามฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเพียงบทเดียว) จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนี้ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 30 ปี และปรับคนละ 2,000,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 3 ตลอดชีวิต และปรับ 4,000,000 บาท จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 15 ปี และปรับคนละ 1,000,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 25 ปี และปรับ 2,000,000 บาท และจำเลยที่ 3 มีความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอีกกรรมหนึ่ง ให้ลงโทษประหารชีวิต จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 (2) (ที่ถูก 52 (2)) คงจำคุกตลอดชีวิต เมื่อรวมทุกกระทงความผิดแล้ว คงให้จำคุกจำเลยที่ 3 ตลอดชีวิตเพียงสถานเดียว และปรับ 2,000,000 บาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) บวกโทษจำคุก 4 เดือน ของจำเลยที่ 2 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 178/2557 ของศาลจังหวัดนครนายกเข้ากับโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ เป็นจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 15 ปี 4 เดือน และปรับ 1,000,000 บาท จำเลยทั้งสามไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 หากต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังได้เกินคนละ 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี ริบของกลาง
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 7, 8 วรรคสอง และพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีน 40,000 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 30 ปี และปรับ 2,000,000 บาท ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีน 112,800 เม็ด และชนิดเกล็ด 6 ถุง ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 40 ปี และปรับ 4,000,000 บาท รวมจำคุก 70 ปี และปรับ 6,000,000 บาท ลดโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา 78 แล้ว คงจำคุก 35 ปี และปรับ 3,000,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2557 พันตำรวจตรี ธิติสรรค์ เจ้าพนักงานตำรวจ กองกำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติด 1 ให้สายลับล่อซื้อเมทแอมเฟตามีน 20 มัด 40,000 เม็ด ราคามัดละ 150,000 บาท เป็นเงิน 3,000,000 บาท จากจำเลยที่ 1 นัดส่งมอบวันที่ 5 มีนาคม 2557 ที่ห้างเทสโก้โลตัส รังสิต โดยพันตำรวจตรี ธิติสรรค์ ได้มอบหมายให้ร้อยตำรวจตรี สมศักดิ์ และร้อยตำรวจตรี เทพพิภพ อำพรางตัวเป็นผู้ล่อซื้อยาเสพติดด้วย ต่อมาวันที่ 5 มีนาคม 2557 เวลาประมาณ 14 นาฬิกา พันตำรวจตรี ธิติสรรค์ ร้อยตำรวจตรี สมศักดิ์ ร้อยตำรวจตรี เทพพิภพ กับพวก และสายลับ เดินทางไปที่ห้างเทสโก้โลตัส รังสิต เมื่อจำเลยที่ 1 เดินทางมาถึง สายลับ ร้อยตำรวจตรี สมศักดิ์ และร้อยตำรวจตรี เทพพิภพ เดินเข้าไปพบจำเลยที่ 1 จากนั้นพาจำเลยที่ 1 ไปดูเงินจำนวน 3,000,000 บาท ที่เก็บไว้ภายในรถยนต์ที่จอดอยู่บริเวณลานจอดรถ เมื่อดูเงินแล้วจำเลยที่ 1 บอกให้ร้อยตำรวจตรี สมศักดิ์ และร้อยตำรวจตรี เทพพิภพ รออยู่บริเวณดังกล่าว โดยจำเลยที่ 1 จะไปนำเมทแอมเฟตามีนมาส่งมอบให้ หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 เดินทางไปบริเวณหน้าโรงพยาบาลบีแคร์ ต่อมาจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน จท 252 กรุงเทพมหานคร มาจอดบริเวณที่จำเลยที่ 1 ยืนรอ จำเลยที่ 1 ขึ้นรถยนต์คันดังกล่าว พันตำรวจตรี ธิติสรรค์ กับพวก จึงเข้าจับกุม จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 มารับจำเลยที่ 1 เพื่อไปรับเมทแอมเฟตามีนที่ห้างแพลตตินั่ม จากนั้นจำเลยที่ 2 โทรศัพท์ติดต่อจำเลยที่ 3 นัดรับมอบเมทแอมเฟตามีนที่บริเวณหน้าร้านโคโค่ ห้างแพลตตินั่ม เวลา 19.30 นาฬิกา ต่อมาพันตำรวจตรี ธิติสรรค์ กับพวก พาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปบริเวณดังกล่าว เมื่อถึงเวลานัดหมาย จำเลยที่ 3 นำเมทแอมเฟตามีน 40,000 เม็ด น้ำหนักสุทธิ 3,682.423 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 654.671 กรัม มาส่งมอบให้จำเลยที่ 2 พันตำรวจตรี ธิติสรรค์ กับพวก จึงจับกุมจำเลยที่ 3 แล้วนำจำเลยทั้งสามไปที่กองบังคับการยาเสพติด 1 จำเลยที่ 3 ให้การว่า นางนัน เป็นเจ้าของเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวโดยเก็บเมทแอมเฟตามีนไว้ที่ห้องพักเลขที่ 203 กรุงเทพมหานคร และนางนัน มีห้องพักที่ 209 จังหวัดปทุมธานีด้วย พันตำรวจตรี ธิติสรรค์ กับพวก จึงนำจำเลยที่ 3 ไปที่ห้องพักดังกล่าว ตรวจค้นเมทแอมเฟตามีน 76,000 เม็ด ที่ห้องพักเลขที่ 203 และเมทแอมเฟตามีน 30,000 เม็ด ที่ห้องพักเลขที่ 209 หลังจากนั้นพันตำรวจตรี ธิติสรรค์ สอบปากคำจำเลยที่ 3 เพิ่มเติมอีก จำเลยที่ 3 ให้การว่าที่ห้องพักเลขที่ 203 น่าจะมีเมทแอมเฟตามีนซุกซ่อนไว้อีก วันที่ 6 มีนาคม 2557 เวลาประมาณ 16 นาฬิกา พันตำรวจตรี ธิติสรรค์ กับพวก จึงไปตรวจค้นห้องพักเลขที่ 203 โดยจำเลยที่ 3 ไม่ได้ไปด้วยพบเมทแอมเฟตามีน 6,800 เม็ด ห่อด้วยผ้าอ้อมซุกซ่อนอยู่ในตู้ทีวี เมทแอมเฟตามีน 2,000 เม็ด ซุกซ่อนอยู่ในตุ๊กตาผ้าและม้วนฟูกที่นอนกับเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ด 6 ถุง น้ำหนักถุงละประมาณ 100 กรัม รวมน้ำหนักประมาณ 650 กรัม ซุกซ่อนที่ช่องลับใต้โต๊ะตั้งพระบูชา รวมเมทแอมเฟตามีนที่ตรวจค้นพบได้ในห้องพักทั้งสองห้องดังกล่าวเป็น 112,800 เม็ด น้ำหนักสุทธิ 10,429.100 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 1,828.027 กรัม และชนิดเกล็ด น้ำหนักสุทธิ 593.370 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 576.993 กรัม รวมน้ำหนักสุทธิ 11,022.470 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 2,405.020 กรัม คดีสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การให้ข้อมูลของจำเลยที่ 3 จนนำไปสู่การตรวจค้นห้องพักเลขที่ 203 ในครั้งที่ 2 ถือได้ว่าเป็นการให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจ อันจะเป็นเหตุให้สมควรใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยที่ 3 น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 หรือไม่ เห็นว่า การที่ผู้กระทำความผิดจะได้รับประโยชน์ตามบทบัญญัติดังกล่าวจะต้องประกอบด้วยเหตุสองประการ กล่าวคือ ผู้กระทำความผิดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญ และข้อมูลนั้นจะต้องเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ลำพังเพียงให้ข้อมูลแต่ไม่เป็นประโยชน์ หรือเป็นประโยชน์ธรรมดาที่มิได้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งหรือเป็นประโยชน์แต่มิใช่ข้อมูลที่สำคัญ ผู้ให้ข้อมูลหาได้รับประโยชน์จากบทบัญญัติดังกล่าวไม่ คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า หลังจากที่พันตำรวจตรี ธิติสรรค์ ค้นพบเมทแอมเฟตามีนของกลางบางส่วนที่ห้องพักเลขที่ 203 และเลขที่ 209 แล้ว ได้สอบปากคำจำเลยที่ 3 เพิ่มเติม ซึ่งจำเลยที่ 3 ให้การว่าที่ห้องพักเลขที่ 203 น่าจะมีเมทแอมเฟตามีนซุกซ่อนไว้อีก พันตำรวจตรี ธิติสรรค์ กับพวก จึงไปตรวจค้นที่ห้องพักดังกล่าวอีกครั้งโดยไม่ได้นำจำเลยที่ 3 ไปด้วย ชี้ให้เห็นได้ว่าการตรวจค้นห้องพักเลขที่ 203 ของพันตำรวจตรี ธิติสรรค์ กับพวก ครั้งที่ 2 เป็นการขยายผลตรวจค้นเพื่อหาเมทแอมเฟตามีนเพิ่มเติมสืบเนื่องมาจากการตรวจค้นครั้งแรก อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติของเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งต้องกระทำอยู่แล้ว ประกอบกับการตรวจค้นครั้งที่ 2 จำเลยที่ 3 ก็ไม่ได้ไปด้วย และคำให้การของจำเลยที่ 3 ก็ไม่ปรากฏอย่างชัดแจ้งว่าเมทแอมเฟตามีนชนิดเม็ดและชนิดเกล็ดซุกซ่อนอยู่ที่ใด เมื่อเมทแอมเฟตามีนชนิดเม็ดและชนิดเกล็ดของกลางซุกซ่อนอยู่ในตู้ทีวี ตุ๊กตาผ้า ม้วนฟูกที่นอน และช่องลับใต้โต๊ะตั้งพระบูชา ย่อมเป็นที่คาดหมายได้ว่าพันตำรวจตรี ธิติสรรค์ กับพวก สามารถตรวจค้นพบได้โดยไม่ยาก ดังนี้ กรณีดังกล่าวจึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจอันจะเป็นเหตุให้ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยที่ 3 น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2559 ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 25) พ.ศ.2559 ใช้บังคับ โดยมาตรา 5 ให้ยกเลิกความในมาตรา 30 และให้ใช้ความใหม่แทน ซึ่งกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดเป็นคุณกว่ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสามไม่ว่าในทางใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีสำหรับจำเลยที่ 3 ไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 (ที่แก้ไขใหม่) กรณีกักขังแทนค่าปรับให้กักขังได้เกินคนละ 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์