แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องละเมิด เรียกค่าเสียหาย โดยบรรยายชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ใช้ให้พนักงานของจำเลยที่ 1 ใส่กุญแจประตูทางเข้าบริเวณที่เช่า เป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถเข้าออก ใช้สอยและผลิตสินค้าในที่เช่าได้ เป็นการกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ และยอมรับว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลหน่วยงานของรัฐ จำเลยที่ 2 เป็นผู้อำนวยการซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ให้พนักงานของจำเลยที่1 กระทำการดังกล่าว แม้จะบรรยายในลักษณะว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำละเมิดก็ตาม จำเลยที่ 2 เป็นผู้แทนจำเลยที่ 1 การแสดงออกถึงวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ย่อมผ่านทางจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้อำนวยการผู้รับผิดชอบโดยตรง กรณีต้องด้วยมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ที่บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ โจทก์ชอบที่จะฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐได้โดยตรง จำเลยที่ 2 ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ในขอบเขตของตนจึงไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 784,075,494.17 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยที่ 1 โดยกำหนดค่าทนายความ 500,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบรับกันฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลหน่วยงานของรัฐ มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้อำนวยการ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2546 โจทก์ได้ทำสัญญาเช่าพื้นที่บางส่วนของอาคารโรงงานต้นแบบศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติและสัญญาให้บริการในพื้นที่ซึ่งโจทก์เช่าพื้นที่อาคารโรงงานต้นแบบตามสำเนาสัญญาเช่าพื้นที่อาคารโรงงานต้นแบบและสัญญาให้บริการ โจทก์ค้างชำระค่าเช่าและค่าน้ำประปาค่าไฟฟ้าตลอดจนค่าใช้จ่ายต่างๆ ตลอดมา เมื่อจำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาแล้ว วันที่ 30 พฤศจิกายน 2549 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 มีคำสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ใส่กุญแจประตูทางเข้าบริเวณพื้นที่เช่าดังกล่าว โจทก์ไม่สามารถใช้สอยอาคารที่เช่าและเครื่องมือเครื่องจักรเพื่อผลิตสินค้าได้ตามปกติ หลังจากที่โจทก์ฟ้องคดีนี้แล้ว จำเลยที่ 1 เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยเรื่องผิดสัญญาเช่าพื้นที่อาคารโรงงานต้นแบบและสัญญาให้บริการ ต่อศาลจังหวัดพระโขนง ศาลจังหวัดพระโขนงมีคำพิพากษาให้โจทก์ชำระค่าเช่าและค่าบริการแก่จำเลยที่ 1 ตามสำเนาคำพิพากษา คู่ความไม่อุทธรณ์ คดีถึงที่สุดแล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า คำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องละเมิด เรียกค่าเสียหาย โดยบรรยายชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ใช้ให้พนักงานของจำเลยที่ 1 ใส่กุญแจประตูทางเข้าบริเวณที่เช่า เป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถเข้าออก ใช้สอยและผลิตสินค้าในที่เช่าได้ ซึ่งเป็นการรบกวนการครอบครองของโจทก์ เป็นการกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิด ต่อโจทก์โดยกระทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย และยอมรับว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลหน่วยงานของรัฐ จำเลยที่ 2 เป็นผู้อำนวยการซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ให้พนักงานของจำเลยที่ 1 กระทำการดังกล่าว แม้จะบรรยายในลักษณะว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำละเมิดก็ตาม จำเลยที่ 2 เป็นผู้แทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย การแสดงออกถึงวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ย่อมผ่านทางจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้อำนวยการผู้รับผิดชอบโดยตรง กรณีต้องด้วยมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ที่บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ เช่นนี้ โจทก์ชอบที่จะฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐได้โดยตรง จำเลยที่ 2 ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ในขอบเขตของตนจึงไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ ประกอบกับคำฟ้องของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 กระทำการนอกเหนือหน้าที่ขอบอำนาจของจำเลยที่ 1 แต่ประการใด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 141 (5) และ 167 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้องได้
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนจำเลยที่ 1 โดยกำหนดค่าทนายความ 100,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ยื่นคำแก้อุทธรณ์และคำแก้ฎีกา จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้