คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1585/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมโจทก์เป็นลูกจ้างของธนาคารอาคารสงเคราะห์ ต่อมามี ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 316 ให้โอนโจทก์มาเป็นลูกจ้างของการเคหะแห่งชาติจำเลย การโอนเช่นนี้ฐานะความเป็น ลูกจ้างของโจทก์ยังคงมีอยู่ มิได้สิ้นสุดลงเช่นการ เลิกจ้าง เมื่อมิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น การนับอายุ การทำงานของโจทก์จึงต้องนับต่อเนื่องกันตั้งแต่โจทก์เข้าทำงานกับธนาคาร ข้อบังคับของจำเลยซึ่งให้นับอายุการทำงาน ตั้งแต่เมื่อเริ่มเข้าทำงานกับจำเลย ต้องใช้บังคับเฉพาะพนักงานหรือลูกจ้างที่สมัครเข้าทำงานใหม่เท่านั้น มิใช่ ถูกโอนมาเช่นกรณีของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างประจำที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ต่อมาได้มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๑๖ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๕ ให้โอนกิจการบางส่วนและหนี้สิน รวมทั้งโอนพนักงานลูกจ้างของธนาคารอาคารสงเคราะห์มาเป็นของจำเลย ครั้งสุดท้ายโจทก์ทำหน้าที่พนักงานจัดการทรัพย์สินที่สำนักงานดูแลเคหะชุมชนห้วยขวาง ต่อมาวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๒๖ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุโจทก์ป่วยเป็นอัมพาตจนไม่สามารถทำงานได้และได้จ่ายเงินกองทุนสงเคราะห์ตามข้อบังคับของจำเลยให้แก่โจทก์ โดยคำนวณเวลาทำงานของโจทก์เพียง ๑๐ ปี นับระยะเวลาเพียงเท่าที่โจทก์ถูกโอนมาทำงานกับจำเลย ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะจะต้องนับเวลาทำงานของจำเลยตั้งแต่วันเริ่มเข้าทำงานที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ต่อเนื่องจนถึงวันถูกเลิกจ้างรวมเป็นเวลาทำงานที่ถูกต้อง ๑๘ ปี เงินกองทุนสงเคราะห์ตามสิทธิของโจทก์จึงขาดอีก๔๘,๗๒๐ บาท ขอให้พิพากษาบังคับจำเลยจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปี นับแต่เดือนเมษายน ๒๕๒๖ เป็นต้นไป ให้แก่โจทก์จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์จะนำอายุการทำงานที่ธนาคารสงเคราะห์มานับรวมเป็นอายุการทำงานกับจำเลยด้วยไม่ได้ เพราะเป็นนิติบุคคลต่างรายกัน อีกทั้งกิจการของจำเลยเพิ่งเริ่มก่อตั้งและดำเนินการเมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์๒๕๑๖ สิทธิในกองทุนสงเคราะห์กำหนดขึ้นตามข้อบังคับของจำเลยฉบับที่ ๓๒ ซึ่งมีคำจำกัดความของ “อายุการทำงาน” ว่า “หมายความว่า ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ผู้ปฏิบัติงานเข้าประจำทำงานในการเคหะแห่งชาติ ในฐานะพนักงานหรือลูกจ้างประจำตามงบทำการจนถึงวันสุดท้ายก่อนพ้นจากตำแหน่งในการเคหะแห่งชาติ” จึงเห็นได้ชัดว่าอายุการทำงานของโจทก์ที่จะนำมาเป็นตัวคำนวณเงินกองทุนสงเคราะห์ จะต้องเริ่มตั้งแต่วันที่โจทก์เข้าทำงานกับจำเลย จนถึงวันสุดท้ายที่โจทก์ทำงานกับจำเลย เงินกองทุนสงเคราะห์ซึ่งจำเลยให้แก่โจทก์ถูกต้องครบถ้วนแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินให้โจทก์ ๔๘,๗๒๐ บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปี นับแต่เดือนเมษายน ๒๕๒๖ ให้แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์มาทำงานที่การเคหะแห่งชาติก็เพราะผลของการโอนโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๑๖ มิใช่โจทก์ลาออกจากหน่วยงานเดิมมาสมัครเข้าทำงานกับจำเลยใหม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๗ บัญญัติว่า นายจ้างจะโอนสิทธิของตนให้แก่บุคคลภายนอกก็ได้เมื่อลูกจ้างยินยอมพร้อมใจด้วย การโอนสิทธิการจ้างเช่นนี้ ฐานะความเป็นลูกจ้างของลูกจ้างไม่สิ้นสุดลง ซึ่งแตกต่างกับการเลิกจ้าง เมื่อมิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น การนับอายุการทำงานจึงต้องนับต่อเนื่องกันไป คำจำกัดความ”อายุการทำงาน” ตามข้อบังคับของจำเลย ใช้ในกรณีพนักงานหรือลูกจ้างที่สมัครเข้าทำงานกับจำเลยใหม่มิใช่เป็นการโอนมา อีกทั้งข้อบังคับของจำเลยมิได้กำหนดจำกัดสิทธิเป็นเงื่อนไขว่าระยะเวลาที่พนักงานหรือลูกจ้างโอนมาจากหน่วยงานเดิมไม่ให้นับเป็นอายุการทำงานด้วยแม้ธนาคารอาคารสงเคราะห์จะได้ออกระเบียบข้อบังคับขึ้นภายหลังจากที่โจทก์โอนมาแล้วแต่ปรากฏว่ามีการให้สิทธิแก่พนักงานหรือลูกจ้างเช่นเดียวกันข้อบังคับของจำเลย คืออายุการทำงานให้เริ่มแต่เมื่อเข้าทำงาน โจทก์จึงไม่ควรจะต้องเสียสิทธิที่ควรจะได้หากโจทก์มิได้โอนมาโดยผลของประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าว การนับอายุการทำงานของโจทก์จึงควรต้องนับต่อเนื่องกัน ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share