คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1584/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ที่อ้างสิทธิตามกฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จบทที่ 42 จำต้องแสดงให้เห็นว่าที่ดินนั้นเป็นที่บ้านที่สวนตามความหมายในบทนั้น ถ้าไม่มีข้อเท็จจริงให้เห็นได้ว่าเป็นที่บ้านที่สวน มาก่อนประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้วก็จำต้องบังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อันว่าด้วยที่ดินมือเปล่า
การที่จำเลยร้องเรียนต่อคณะกรรมการพิจารณากรณีพิพาทเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดินว่าโจทก์บุกรุกแย่งการครอบครองที่ดินมือเปล่านั้น ไม่ทำให้การครอบครองของโจทก์สะดุดหยุดลง ฉะนั้น หากจำเลยมิได้ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองเสียภายใน 1 ปีจำเลยก็ย่อมหมดสิทธิเรียกร้องคืนแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อ พ.ศ. 2493 โจทก์กับนายจำเนียรจับจองโค่นสร้างที่ดินรกร้างว่างเปล่าหนึ่งแปลง เนื้อที่ 47 ไร่ ปลูกต้นผลไม้และบ้านพัก นายจำเนียรตายโจทก์ครอบครองที่ดินติดต่อกันมา10 ปีเศษแล้ว จึงได้สิทธิครอบครอง เมื่อ พ.ศ. 2502 จำเลยซึ่งไม่เคยครอบครองที่พิพาทได้ยื่นเรื่องราวต่อเจ้าพนักงานที่ดินขอออกโฉนด โจทก์คัดค้าน เจ้าพนักงานที่ดินสั่งให้โจทก์นำคดีมาฟ้องจึงขอศาลพิพากษาว่าโจทก์เป็นเจ้าของและมีสิทธิครอบครอง ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้อง

จำเลยให้การว่า ที่พิพาทเป็นของจำเลยและสามีตั้งแต่ก่อนพ.ศ. 2463 เมื่อ พ.ศ. 2495 – 2496 นายจำเนียรบุกรุกทำลายต้นไม้ที่จำเลยปลูก และสร้างโรงเรือนขึ้น จำเลยห้ามปรามและร้องเรียนต่อคณะกรรมการสำรวจออกโฉนดที่ดินเมื่อ พ.ศ. 2498 ในที่สุดทางราชการสั่งไล่เจ้าพนักงานทุจริตออกจากราชการ และสลักหลังใบเหยียบย่ำที่ออกให้นายจำเนียรว่าเป็นใบเหยียบย่ำที่ไม่ชอบ จำเลยไม่เคยละทิ้งการครอบครอง โจทก์หรือนายจำเนียรเข้าครอบครองมายังไม่ถึง 10 ปีขอให้ยกฟ้อง

คู่ความรับกันว่าที่พิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า ไม่มีโฉนดหนังสือสำคัญสำหรับที่

ศาลจังหวัดตากเห็นว่า จำเลยมีสิทธิในที่พิพาทดีกว่าโจทก์แม้นายจำเนียรและพวกจะบุกรุกที่พิพาท แต่จำเลยกลัวอิทธิพลนายจำเนียรไม่กล้าเข้าทำประโยชน์ ทั้งระหว่างนั้นจำเลยกำลังรอฟังผลของคณะกรรมการอยู่ ถือเป็นเหตุชั่วคราวมาขัดขวางมิให้จำเลยยึดถือทรัพย์พิพาทการครอบครองของจำเลยหาสิ้นสุดไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1377 พิพากษาว่า จำเลยเป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครองที่พิพาทให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยถูกฝ่ายโจทก์แย่งการครอบครองเกิน 1 ปี ย่อมหมดสิทธิที่จะฟ้องเรียกคืนการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 โจทก์มีสิทธิในที่พิพาทดีกว่าจำเลย พิพากษากลับห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องที่พิพาท

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยฎีกาว่าที่พิพาทเป็นที่บ้านที่สวนตามกฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จบทที่ 42 ต้องครอบครองปรปักษ์ 9-10 ปีจึงจะได้กรรมสิทธิ์นั้น เห็นว่า ที่ดินดังกล่าวจะต้องมีสภาพเป็นที่บ้าน ที่สวนมาก่อนประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แต่คดีนี้ไม่มีประเด็นกล่าวถึงเลยว่า ที่พิพาทมีสภาพเป็นที่บ้านที่สวนมาแต่เมื่อใด คำให้การของจำเลยก็มิได้กล่าวยืนยันว่าที่พิพาทมีสภาพเป็นที่บ้านที่สวนมาตั้งแต่เมื่อใด คงได้ความเพียงว่าที่พิพาทตกเป็นของจำเลยมาก่อน พ.ศ. 2463 ได้ครอบครองตลอดมาจน พ.ศ. 2485พยานหลักฐานในสำนวนก็ได้ความว่า พ.ศ. 2493 ที่พิพาทมีสภาพเป็นป่าไม้เบญจพรรณ มีฎีกาที่ 882/2494 และ 5/2495 วินิจฉัยทำนองเดียวกันว่า บุคคลจะอ้างสิทธิตามกฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จบทที่ 42จำต้องแสดงให้เห็นว่าที่ดินนั้นเป็นที่บ้าน ที่สวนตามความหมายในกฎหมายบทนั้น ถ้าไม่มีข้อเท็จจริงให้เห็นได้ว่าเป็นที่บ้านที่สวน มาก่อนประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว ศาลก็จำต้องบังคับไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อันว่าด้วยที่ดินมือเปล่า เมื่อที่พิพาทเป็นที่ดินมือเปล่าและจำเลยถูกแย่งการครอบครองมาตั้งแต่ พ.ศ. 2495 แต่จำเลยมิได้ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองภายใน 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1375 จำเลยก็ย่อมหมดสิทธิเรียกร้องคืนแล้ว

ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการพิจารณากรณีพิพาทเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดินและรอฟังผลอยู่ แสดงว่าจำเลยไม่ได้สละเจตนาครอบครอง ศาลฎีกาเห็นว่า ประเด็นเรื่องนี้มิได้อยู่ที่ว่าจำเลยสละครอบครองหรือไม่ มีประเด็นเพียงว่า จำเลยได้ถูกแย่งการครอบครองเกิน 1 ปี หรือไม่ การสละการครอบครองนั้นเมื่อสละเสียแล้วสิทธิครอบครองก็สิ้นสุดลงใครเข้าครอบครองก็ไม่ถือว่าเป็นการแย่งการครอบครอง เพราะเมื่อทรัพย์ถูกสละละทิ้งก็ไม่มีเจ้าของ ไม่ต้องแย่งจากใคร ส่วนการแย่งนั้นหมายถึงว่าแย่งจากเจ้าของ แม้เจ้าของจะยังหวงแหนอยู่ ยังไม่สละ แต่เมื่อปล่อยให้เขาแย่งการครอบครอง จะเรียกเอาคืนก็ต้องฟ้องเรียกคืนภายใน 1 ปี ตามกำหนดเวลาที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375มิฉะนั้นหมดสิทธิเรียกร้อง การที่จำเลยไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการพิจารณากรณีพิพาทเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดินนั้น ไม่ทำให้การครอบครองของโจทก์สะดุดหยุดลง เพราะจำเลยมิได้ฟ้องต่อศาลภายใน 1 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 และนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 282/2490

ฯลฯ

พิพากษายืน

Share