คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1581/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ติดตั้งหลังคาเสร็จ พนักงานของจำเลยที่ 1 ตรวจสอบงานแล้วโดยเมื่อฝนตกไม่ปรากฏการรั่วซึม จึงลงลายมือชื่อรับมอบงาน แสดงว่าขณะจำเลยที่ 1 รับมอบงานความชำรุดบกพร่องยังมิได้เห็นประจักษ์ หากแต่มาปรากฏภายหลังจากมีการรับมอบสินค้าแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 รับมอบสินค้าที่เห็นความชำรุดบกพร่องประจักษ์โดยมิได้อิดเอื้อน เมื่อความชำรุดบกพร่องเกิดจากการติดตั้งสินค้าของโจทก์ เป็นเหตุให้เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ ถือเป็นความชำรุดบกพร่องที่มีอยู่ขณะส่งมอบสินค้า โจทก์ผู้ขายจึงต้องรับผิดแม้จะรู้หรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 472 และการที่บริษัทผู้ว่าจ้างปรับลดค่าจ้างแก่จำเลยที่ 1 ในส่วนหลังคาดังกล่าว ถือได้ว่าไม่ประสงค์ให้โจทก์เข้าไปแก้ไขความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นอีก จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจใช้สิทธิยึดหน่วงเงินราคาค่าสินค้าได้อีกต่อไป คงมีสิทธิหักทอนเป็นค่าความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ได้รับจากความชำรุดบกพร่องนั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,358,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,300,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 1,300,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2550 แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 58,500 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหรือชำระหนี้ไม่ครบถ้วน ให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้แทน โดยรับผิดไม่เกิน 2,260,000 บาท กับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 12,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความรวม 16,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ที่เหลืออยู่แก่โจทก์หรือไม่ ตามคำเบิกความของนายสมบูรณ์ พนักงานของโจทก์ตำแหน่งผู้ควบคุมงานการติดตั้งแผ่นหลังคารายนี้ว่า หลังจากโจทก์ติดตั้งหลังคาเสร็จแล้ว พนักงานของจำเลยที่ 1 ใช้วิธีตรวจสอบโดยรอให้ฝนตกลงมา เมื่อฝนตกแล้ว ไม่ปรากฏว่าน้ำฝนรั่วซึมแผ่นหลังคา พนักงานของจำเลยที่ 1 จึงลงลายมือชื่อรับมอบงาน แสดงว่าขณะจำเลยที่ 1 รับมอบงานติดตั้งหลังคาจากโจทก์ ความชำรุดบกพร่องยังมิได้เห็นประจักษ์ หากแต่มาปรากฏภายหลังจากมีการรับมอบสินค้าแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 รับมอบสินค้าที่เห็นความชำรุดบกพร่องประจักษ์โดยมิได้อิดเอื้อน ปัญหาว่าความชำรุดบกพร่องของสินค้าเกิดขึ้นก่อนหรือขณะที่โจทก์ส่งมอบ หรือเกิดขึ้นภายหลังส่งมอบเนื่องจากจำเลยที่ 1 ให้ผู้รับเหมารายอื่นขึ้นไปติดตั้งเครื่องดูดอากาศ ทำให้มีการเหยียบหลังคาจนเกิดความชำรุดบกพร่องขึ้น ข้อนี้ได้ความจากนายสมบูรณ์ว่า เมื่อปรากฏความชำรุดบกพร่องขึ้น และโจทก์ส่งคนงานไปแก้ไขนั้น ได้ใช้วิธีหยอดกาวซิลิโคนในบริเวณที่รั่วซึม โดยปกติแล้วการแก้ไขด้วยวิธีนี้จะป้องกันน้ำไม่ให้รั่วซึมได้นานประมาณ 5 ปี แต่หลังจากการแก้ไขครั้งแรก จำเลยที่ 1 ยังมีการแจ้งให้โจทก์ดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำรั่วซึมอีกในเดือนกรกฎาคม 2550 เดือนพฤษภาคม 2551 และเดือนสิงหาคม 2551 ตามคำเบิกความของนายสมบูรณ์ดังกล่าวเป็นข้อบ่งชี้ว่า การแก้ไขปัญหาน้ำรั่วซึมของโจทก์ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างถาวร ข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของนายสมบูรณ์กับนายประเสริฐซึ่งเป็นพนักงานของทั้งสองฝ่ายมีสาระสำคัญใกล้เคียงกัน ฟังได้ว่า ปัญหาน้ำรั่วซึมที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากการติดตั้งของโจทก์ไม่มีคุณภาพเพียงพอ หลังคาเหล็กกับหลังคาแผ่นใสมีความโค้งไม่เท่ากันต้องใช้ครอบหลังคาทับหลังคาแผ่นใสไว้ แต่ไม่อาจครอบทับได้อย่างถาวร หลังคาแผ่นใสที่เป็นแผ่นแข็งมีการดีดตัวขึ้น จนเกิดช่องว่างน้ำรั่วซึมได้ ตามคำเบิกความของนายสมบูรณ์และนายประเสริฐดังกล่าว มิได้มีข้อเท็จจริงใด ๆ ที่ชี้ชัดว่าการที่จำเลยที่ 1 ให้ผู้รับเหมารายอื่นขึ้นไปติดตั้งเครื่องดูดอากาศบนหลังคาจะเป็นสาเหตุให้เกิดน้ำรั่วซึม ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากการติดตั้งสินค้าของโจทก์ตั้งแต่ต้น เป็นเหตุให้เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ ถือเป็นความชำรุดบกพร่องที่มีอยู่ขณะส่งมอบสินค้า โจทก์ผู้ขายจึงต้องรับผิดแม้จะรู้หรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 472
ปัญหาว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิยึดหน่วงหรือมีสิทธิหักลดราคาที่ค้างอยู่หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า บริษัทที เอส เอ ผลิตภัณฑ์ยาง จำกัด ผู้ว่าจ้างมีหนังสือลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2550 ถึงจำเลยที่ 1 แจ้งการปรับและหักส่วนลดคุณภาพค่าก่อสร้างอาคารโรงงานที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบงานล่าช้าและคุณภาพงานต่ำกว่ามาตรฐาน เฉพาะการปรับเกี่ยวกับคุณภาพงานต่ำกว่ามาตรฐาน ได้ระบุเหตุที่ปรับรวม 4 ประการ คือ (1) พื้นโรงงานเป็นคลื่น ไม่สม่ำเสมอ มีรอยร้าว (2) หลังคารั่วซึมเนื่องจากมีรอยต่อหลายชิ้น ได้แก้ไขหลายครั้งแต่ยังพบปัญหาเดิม (3) ถนนทรุดตัวเร็วกว่าที่ควรจะเป็น (4) การดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมเป็นไปอย่างล่าช้า ทั้งนี้ บริษัทผู้ว่าจ้างขอปรับในสาเหตุคุณภาพงานต่ำกว่ามาตรฐานร้อยละ 5 ของมูลค่าทั้งหมดเป็นเงิน 2,256,100 บาท ต่อมาบริษัทที เอส เอ ผลิตภัณฑ์ยาง จำกัด มีหนังสือลงวันที่ 13 มีนาคม 2551 ถึงจำเลยที่ 1 แจ้งสรุปว่าได้หักส่วนลดคุณภาพงานที่ต่ำกว่ามาตรฐาน จำนวน 1,500,000 บาท ลดจากที่เคยแจ้งขอปรับลงกว่า 750,000 บาท ในขณะที่ค่าปรับในส่วนส่งมอบงานล่าช้าและค่าปรับส่วนอื่นยังคงจำนวนเท่าเดิมตามที่ระบุ การที่บริษัทผู้ว่าจ้างหักส่วนลดคุณภาพงานที่ต่ำกว่ามาตรฐาน จำนวน 1,500,000 บาท ได้ระบุสาเหตุหลายประการทั้งกรณีพื้นโรงงานเป็นคลื่น หลังคารั่วซึม และถนนทรุดตัวเร็วกว่าที่ควรจะเป็น โดยไม่สามารถแยกได้ชัดเจนว่าการหักส่วนลดในแต่ละสาเหตุเป็นเงินเท่าใด เมื่อพิจารณาถึงความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นเปรียบเทียบกับราคาสินค้าที่โจทก์ขายให้แก่จำเลยที่ 1 และโจทก์ขวนขวายแก้ไขความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นหลายครั้งแล้ว เห็นควรกำหนดค่าเสียหายในอัตราเดียวกับที่บริษัทผู้ว่าจ้างปรับส่วนลดจากจำเลยที่ 1 คืออัตราร้อยละ 5 ของราคาสินค้า เป็นเงิน 302,275 บาท ส่วนค่าซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซมหลังคาจำนวน 7,597 บาท จำเลยที่ 1 ไม่นำสืบให้ปรากฏ จึงไม่อาจนำมาหักลดแก่โจทก์ได้ จำเลยที่ 1 ค้างชำระราคาแก่โจทก์จำนวน 1,300,000 บาท เมื่อหักค่าเสียหายแล้ว จึงต้องชำระแก่โจทก์จำนวน 997,725 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันด้วย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 997,725 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2550 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (วันที่ 25 มกราคม 2551) ต้องไม่เกิน 58,500 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้แทนโดยให้รับผิดไม่เกิน 2,260,000 บาท ตามวงเงินที่ค้ำประกัน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้รับผิดเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความทั้งสามศาลรวม 40,000 บาท

Share