คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2264/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มาสอบถามจำเลยที่ 7 ที่ 8 เพื่อประสงค์จะเล่นแชร์น้ำมันชาร์เตอร์เอง เพราะทราบข่าวจากผู้อื่นหาใช่จำเลยที่ 7 และที่ 8 เอาความเท็จไปพูดหลอกลวงโจทก์ทั้งสามแต่แรกไม่ การที่จำเลยที่ 7 ซึ่งเป็นหัวหน้าสายของบริษัทชาร์เตอร์ฯ จำเลยที่ 1 หาเงินมาลงทุนให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 8 สามีของจำเลยที่ 7 ได้พูดถึงฐานะของจำเลยที่ 1 ว่าเป็นบริษัทที่มั่นคง มีหลักทรัพย์เป็นพันล้านบาท มีกิจการน้ำมันและศูนย์การค้าใหญ่โตให้โจทก์ทั้งสามฟัง ก็เป็นการบอกเล่าตามข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองเชื่อตามคำโฆษณาของจำเลยที่ 1 ประกอบด้วย ทุนจดทะเบียนของจำเลยที่ 1 กำหนดไว้เป็นจำนวน 1,000ล้านบาท นับว่าเป็นจำนวนทุนที่มากพอสมควรที่สามารถทำให้ประชาชนทั่วไปเชื่อถือฐานะของจำเลยที่ 1 แม้แต่โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นปัญญาชนมีการศึกษาดี ยังเชื่อถือถึงกับขวนขวายหาทางเข้าไปร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 1 ยังชักชวนโจทก์ที่ 4 ซึ่งเป็นบุตรชายให้ร่วมเล่นแชร์รายนี้ด้วย นอกจากนี้จำเลยทั้งสองยังมีหลักฐานสัญญาการลงทุนกับจำเลยที่ 1 เป็นเงินประมาณ 4,550,000 บาท เมื่อบริษัทจำเลยที่ 1 ล้ม จำเลยก็ไม่ได้รับผลประโยชน์ และต้นเงินที่ร่วมลงทุนคืน จำเลยที่ 7 และที่ 8 ไม่มีตำแหน่งใด ๆ ในบริษัทจำเลยที่ 1 หรือมีส่วนแบ่งจากจำนวนเงินที่ประชาชนนำมาร่วมลงทุน ต่อมาเมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์ฉ้อโกงประชาชนจำเลยที่ 7 และที่ 8 ก็ได้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเช่นเดียวกับประชาชนผู้ได้รับความเสียหาย เช่นนี้ การที่จำเลยที่ 1 ไม่จ่ายเงินที่ลงทุนคืนให้แก่โจทก์ทั้งสี่ จะสันนิษฐานเอาว่าจำเลยที่ 7และที่ 8 ได้กระทำผิดฐานฉ้อโกงหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341,343, 83, 90, 91 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งว่า คดีมีมูลประทับฟ้องไว้พิจารณา ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 ที่ 5 และที่ 6หลบหนี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวสำหรับจำเลยที่ 1ที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 7 และที่ 8 ให้การปฏิเสธ ระหว่างสืบพยานโจทก์ โจทก์ที่ 5 ขอถอนฟ้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 4ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 3ที่ 4 ที่ 7 และที่ 8 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343โจทก์แต่ละคนที่นำเงินมามอบให้จำเลย แม้บางคนจะนำเงินมามอบให้จำเลยที่ 7 ที่ 8 หลายครั้ง คนละเวลากัน แต่ทุกครั้งที่นำเงินมามอบให้ก็เป็นผลมาจากการถูกหลอกลวงในตอนแรกนั้นเอง จึงเป็นกรรมเดียวกัน ส่วนที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ถูกหลอกลวงคนละวันคนละเวลา จำนวนเงินที่ถูกหลอกลวงก็แตกต่างกัน เช่นนี้เป็นการกระทำคนละกรรมต่างกัน จึงต้องลงโทษจำเลยที่ 3 ที่ 4ที่ 7 และที่ 8 ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปจำคุกจำเลยที่ 3 ที่ 4ที่ 7 และที่ 8 กระทงละ 2 ปี รวม 4 กระทง เป็นจำคุกคนละ 8 ปีโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ที่ 4 และอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 7 ที่ 8สถานหนัก จำเลยที่ 3 ที่ 4 อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ถอนฟ้อง จำเลยที่ 3 ที่ 4 และอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 7 ที่ 8 อุทธรณ์ ขอให้ยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำสั่งของศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 4 จำหน่ายคดีเฉพาะตัวจำเลยที่ 3 และที่ 4 และพิพากษากลับให้ยกฟ้องจำเลยที่ 7 และที่ 8 โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3และที่ 4 ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 7 ที่ 8 สถานหนัก
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดใช้ชื่อว่า บริษัทชาร์เตอร์อินเตอร์เร็คชั่นจำกัดมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 เป็นกรรมการ ปรากฏตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.1 เมื่อระหว่างเดือนตุลาคม 2527 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2527โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ได้นำเงินไปร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ที่ 1 ลงทุนรวมทั้งสิ้น 440,000 บาท โจทก์ที่ 2 ลงทุน 50,000 บาทโจทก์ที่ 3 ลงทุน 150,000 บาท และโจทก์ที่ 4 ลงทุน 15,000 บาทมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ในชั้นนี้ว่า จำเลยที่ 7 และที่ 8 ได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ เกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 นำเงินจำนวนดังกล่าวมาร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 1 นั้น ได้ความจากคำเบิกความของตัวโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ทำนองเดียวกันว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3ทราบข่าวว่า มีการเล่นแชร์น้ำมันชาร์เตอร์ได้ดอกเบี้ยถึงร้อยละ 8 ต่อเดือน ในเดือนกันยายน 2527 จึงไปสอบถามจำเลยที่ 7และที่ 8 เพราะประสงค์จะเล่นแชร์ดังกล่าวด้วย จำเลยที่ 7 และที่ 8ได้บอกแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ว่า บริษัทจำเลยที่ 1 มีฐานะมั่นคง มีเงินลงทุน 1,000 ล้านบาท มีกิจการน้ำมัน ศูนย์การค้าและกิจการต่าง ๆ อีกหลายอย่าง พร้อมทั้งแนะนำวิธีการนำเงินมาลงทุนร่วมกับจำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จึงนำเงินมาลงทุนร่วมกับจำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 1 ยังชักชวนโจทก์ที่ 4ซึ่งเป็นบุตรชายของตนให้นำเงินมาร่วมลงทุนด้วย โดยมอบเงินผ่านจำเลยที่ 7 และที่ 8 เช่นนี้ เห็นว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3มาสอบถามจำเลยที่ 7 และที่ 8 เพื่อประสงค์จะเล่นแชร์น้ำมันชาร์เตอร์เอง เพราะทราบข่าวจากผู้อื่น หาใช่จำเลยที่ 7 และที่ 8 เอาความเท็จไปพูดหลอกลวงโจทก์ทั้งสามแต่แรกแต่อย่างใดไม่การที่จำเลยที่ 7 ซึ่งเป็นหัวหน้าสายของจำเลยที่ 1 หาเงินมาลงทุนให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 8 สามีของจำเลยที่ 7 ได้พูดถึงฐานะของจำเลยที่ 1 ว่าเป็นบริษัทที่มั่นคง มีหลักทรัพย์มากมายเป็นพันล้านบาท มีกิจการน้ำมันและศูนย์การค้าใหญ่โตให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ฟัง ก็เป็นการบอกเล่าตามข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 7 และที่ 8 เชื่อตามคำโฆษณาของจำเลยที่ 1 ประกอบกับทุนจดทะเบียนของจำเลยที่ 1 กำหนดไว้เป็นจำนวน 100 ล้านบาทตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.1 นับว่าเป็นจำนวนทุนที่มากพอสมควรที่สามารถทำให้ประชาชนทั่วไปเชื่อถือฐานะของจำเลยที่ 1แม้แต่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นปัญญาชนมีการศึกษาดีก็ยังเชื่อถือถึงกับขวนขวายหาทางเข้าไปร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 1หรือที่เรียกว่าเล่นแชร์น้ำมันชาร์เตอร์ นอกจากตัวโจทก์ที่ 1เองอยากเล่นแชร์ดังกล่าวแล้ว โจทก์ที่ 1 ก็ยังชักชวนโจทก์ที่ 4ซึ่งเป็นบุตรชายของตนให้ร่วมเล่นแชร์รายนี้ด้วย ข้อนี้ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ที่ 4 ว่า เมื่อประมาณต้นเดือนพฤศจิกายน 2527 โจทก์ที่ 4 ทราบจากบิดามารดาว่า ถ้านำเงินไปร่วมลงทุนกับบริษัทจำเลยที่ 1 จะได้ผลตอบแทนร้อยละ 8 ต่อเดือนโจทก์ที่ 4 ได้สอบถามบิดามารดาถึงเหตุผลที่ทางบริษัทจำเลยที่ 1ให้ผลตอบแทนสูงถึงร้อยละ 8 ต่อเดือน บิดามารดาของโจทก์ที่ 4บอกว่าบริษัทจำเลยที่ 1 มีโรงกลั่นน้ำมัน มีศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่สุดในเอเซียและมีกิจการอีกหลายอย่าง โดยบิดามารดาได้รับทราบมาจากจำเลยที่ 7 และที่ 8 เมื่อโจทก์ที่ 4 ทราบดังกล่าวแล้วก็สนใจและร่วมลงทุนด้วยเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2527 โดยฝากให้บิดามารดาโจทก์ที่ 4 ไปร่วมลงทุนเป็นเงิน 15,000 บาท เช่นนี้แสดงว่าโจทก์ที่ 1 มีความเชื่อถือบริษัทจำเลยที่ 1 ว่ามีฐานะมั่นคงดีประกอบกับมีความประสงค์ที่จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราร้อยละ 8 ต่อเดือนของจำนวนเงินที่ลงทุนไป จึงได้ยอมลงทุนและชักชวนโจทก์ที่ 4 ให้ร่วมลงทุนด้วยก็เพื่อประสงค์ให้โจทก์ที่ 4ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเช่นเดียวกับตน นอกจากนี้ปรากฏตามหลักฐานหนังสือสัญญาการลงทุนของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เอกสารหมาย จ.2ถึงจ4, จ.6 มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงชื่อประทับตราของบริษัทจำเลยที่ 1รับเงินไป ส่วนจำเลยที่ 7 และที่ 8 เพียงลงชื่อเป็นพยาน แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 7 และที่ 8 ได้นำเงินที่ได้รับจากโจทก์ที่ 1ถึงที่ 3 ไปส่งมอบให้จำเลยที่ 2 และยอมลงชื่อเป็นพยานซึ่งเป็นการผูกมัดตนเองเพื่อเป็นหลักฐานแสดงว่าจำเลยที่ 2 ได้รับเงินของโจทก์ทั้งสามไปจริง ส่วนการที่จำเลยที่ 7 ลงชื่อรับเงินจากนางเพ็ญพิมพ์ ภริยาโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาของโจทก์ที่ 4 และรับเงินจากโจทก์ที่ 3 ตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.8 ก็เป็นการปฏิบัติตามระเบียบที่บริษัทจำเลยที่ 1 กำหนดไว้ ซึ่งเป็นการกระทำโดยเปิดเผยไม่มีเหตุส่อไปในทางทุจริต นอกจากนี้จำเลยที่ 7 และที่ 8 ยังมีหลักฐานสัญญาการลงทุนกับบริษัทจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย ล.10มาแสดงว่าจำเลยที่ 7 ที่ 8 และบุคคลในครอบครัวลงทุนไว้กับบริษัทจำเลยที่ 1 รวมเป็นเงินประมาณ 4,550,000 บาท โดยจำเลยที่ 8เบิกความประกอบยืนยันว่า เมื่อบริษัทจำเลยที่ 1 ล้ม จำเลยที่ 8และครอบครัวก็ไม่ได้รับผลประโยชน์และต้นเงินที่ร่วมลงทุนคืนโดยจำเลยที่ 2 และที่ 4 หลบหนีไป ดังนี้ แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 7 และที่ 8 ก็มีความเชื่อเช่นเดียวกับโจทก์ทั้งสี่ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำเงินไปลงทุนจริงตามที่โฆษณา เกี่ยวกับการดำเนินงานและกิจการภายในของบริษัทจำเลยที่ 1 นั้น ก็น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 7 และที่ 8 ไม่ทราบเรื่องด้วยแต่อย่างใด เพราะจำเลยที่ 7 และที่ 8 ไม่ได้มีตำแหน่งใด ๆ ในบริษัทจำเลยที่ 1 คงทำหน้าที่เป็นหัวหน้าสายรับเงินที่ประชาชนนำไปมอบให้แก่บริษัทจำเลยที่ 1 โดยไม่ปรากฏว่ามีส่วนแบ่งจากจำนวนเงินที่ประชาชนนำมาฝากหรือร่วมลงทุนแต่อย่างใด กรณีจึงเป็นไปได้ว่าจำเลยที่ 7 และที่ 8หลงเชื่อการปฏิบัติงานของกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 ว่าเงินที่นำไปลงทุนจะไม่สูญหาย และหวังผลประโยชน์ตอบแทนเช่นเดียวกับโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ทั้งก่อนเกิดเหตุก็ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 จ่ายผลประโยชน์ให้แก่ผู้ที่นำเงินมาลงทุนตามสัญญาโดยมอบเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 7 และที่ 8 นำไปจ่ายแก่ผู้ลงทุนในสายของตนด้วยดีตลอดมา ต่อมาเมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2มีพฤติการณ์ฉ้อโกงประชาชน จำเลยที่ 7 และที่ 8 ในฐานะผู้เสียหายก็ได้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกองปราบปรามเช่นเดียวกับประชาชนผู้ที่ได้รับความเสียหายเช่นกัน พฤติการณ์ส่อพิรุธที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่า จำเลยที่ 7 และที่ 8 ได้ร่วมกันฉ้อโกงโจทก์ทั้งสี่ก็ไม่มี การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่จ่ายเงินลงทุนคืนให้แก่โจทก์ทั้งสี่นั้นจะสันนิษฐานเอาเองว่าจำเลยที่ 7 และที่ 8ได้กระทำผิดฐานฉ้อโกงหาได้ไม่ ปรากฏว่าจำเลยที่ 8 รับราชการเป็นนายทหารสัญญาบัตรมียศเป็นถึงนาวาอากาศเอกย่อมรักษาชื่อเสียงและเกียรติยศของตน ส่วนจำเลยที่ 7 ก็เป็นภริยาของจำเลยที่ 8ย่อมรักษาชื่อเสียงและเกียรติยศของสามี ประกอบกับพฤติการณ์ดังได้วินิจฉัยมาแล้ว ไม่น่าเชื่อว่าจะมีส่วนรู้เห็นร่วมกับบริษัทจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฉ้อโกงโจทก์ทั้งสี่ พยานหลักฐานที่โจทก์ทั้งสี่นำสืบมาเกี่ยวกับพฤติการณ์ของจำเลยที่ 7 และที่ 8ยังไม่มีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอว่าจำเลยที่ 7 และที่ 8 ได้กระทำความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 7และที่ 8 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3และที่ 4 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share