คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 143-144/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เช็คที่สั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือนั้น เมื่อไม่ได้มอบให้แก่ผู้ใดโดยเช็คนั้นหายไปเสียก่อน ผู้ใดได้รับเช็คนั้นไว้โดยไม่สุจริต ผู้สั่งจ่ายย่อมปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้นได้ และถ้าผู้นั้นไปรับเงินตามเช็คจากธนาคารมาแล้ว ผู้สั่งจ่ายก็มีอำนาจเรียกเงินคืนจากผู้นั้นได้

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ ศาลพิจารณาพิพากษารวมกัน สำนวนแรกนายสุดใจเปรมานนท์ เป็นโจทก์ฟ้องร้านสหกรณ์พระนครจำกัดสินใช้เป็นจำเลยกล่าวว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คซึ่งจำเลยเป็นผู้สั่งจ่ายเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2496 รวม 2 ฉบับ คือ เช็คเลขที่ ก. 325685 ของ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สั่งจ่ายเงิน 33,503.38 บาท และเช็คเลขที่ ก.325687 ของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สั่งจ่ายเงิน 27,954.56 บาท รวม 2 ฉบับ เป็นเงิน 61,457.94 บาท โดยนายพจน์ ศังขฤกษ์ และนายปัว สาลิคุปต์ เป็นผู้เซ็นสั่งจ่ายในนามจำเลย โจทก์ได้นำเช็คทั้ง 2 ฉบับเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ ที่ธนาคารแหลมทอง เพื่อหักโอนบัญชีกับธนาคารไทยพาณิชย์ ๆ คืนเช็คของจำเลยกลับคืนมาให้โจทก์ติดต่อกับผู้สั่งจ่ายเพราะจำเลยไม่มีเงินฝากในธนาคารพอที่จะจ่าย โจทก์ติดต่อกับจำเลย ๆ ก็บิดพริ้วขอให้ศาลบังคับให้จำเลยใช้เงินจำนวน 61,457.94 บาท แก่โจทก์ ให้ชำระดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่ง ตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยเสียค่าธรรมเนียมและค่าทนายแทนโจทก์

จำเลยให้การว่า ผู้มีอำนาจสั่งจ่ายได้ลงลายมือชื่อในเช็คดังกล่าวให้ไว้ในความครอบครองของผู้จัดการเป็นผู้ทรง เพื่อการโอนบัญชี หาได้ส่งมอบแก่โจทก์ไม่ และผู้ตรวจบัญชีได้ประทับตราลงในเช็คนี้ว่า “เลิกใช้” แล้วเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะ ต่อมาจำเลยทราบว่าเช็คถูกคนร้ายลักไปเข้าบัญชีโจทก์ฉบับหนึ่ง จำนวนเงิน 5,094 บาท 40 สตางค์ และอีก 2 ฉบับ คือเช็คที่โจทก์ฟ้องนี้ โจทก์หาใช่ผู้ทรงโดยสุจริตมีเหตุผลทำให้จำเลยเชื่อว่าโจทก์ได้เช็คมา โดยการสมคบรู้เห็นกับคนร้ายลักเอาไป หรือได้ไว้ในลักษณะรับของโจร ซึ่งเป็นการได้มาโดยทุจริต หรือมิฉะนั้นก็ได้มาด้วยการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง มิได้สอบสวนเหตุแห่งการได้มาของผู้ส่งมอบเช็คแก่โจทก์ตามปกติที่วิญญูชนที่ควรกระทำยิ่งกว่านั้นยังไม่ปรากฎสิทธิของโจทก์ด้วยการสลักหลังเช็คแต่อย่างใดด้วยในเมื่อจำเลยมิได้ส่งมอบให้อยู่ในความครอบครองของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยใช้เงิน โจทก์ไม่เคยติดต่อกับจำเลย และเมื่อจำเลยทราบว่า ต้องปราศจากตั๋วไปจากความครอบครองแล้ว จำเลยได้แจ้งความและสืบจับคนร้าย ขอให้ยกฟ้อง

สำนวนหลัง ร้านสหกรณ์พระนครจำกัดสินใช้ กลับเป็นโจทก์ฟ้องนายสุดใจเป็นจำเลย ว่าโจทก์เป็นนิติบุคคล ตามทางปฏิบัติโจทก์ลงลายมือชื่อในเช็คมอบให้ผู้จัดการของโจทก์ไว้ เพื่อให้ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัดจ่ายเงินด้วยวิธีหักโอนเข้าบัญชีเงินฝากในระหว่างเดือนมกราคม พ.ศ. 2497 ผู้จัดการของโจทก์ทราบว่าเช็คที่โจทก์ลงชื่อไว้ซึ่งได้หมายเหตุไว้ว่า “เลิกใช้” ได้หายไปหลายฉบับ ตรวจสอบทางธนาคารปรากฏว่า เช็คเลข เอ.325684 ลงวันที่ 11 กันยายน 2496 ซึ่งเป็นเช็คขีดคร่อมจำนวนเงิน 5,094 บาท 40 สตางค์ ที่หายไปนั้นโอนเข้าบัญชีเงินฝากในนามของจำเลย จำเลยได้มาโดยการทุจริต เพราะโจทก์มิได้ส่งมอบเช็คให้อยู่ในความครอบครองของจำเลย หรือมิฉะนั้นก็ได้มาด้วยการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงมิได้สอบสวนเหตุการณ์ได้มาของผู้ส่งมอบเช็คนั้นให้แก่จำเลยไม่ปรากฏสิทธิโดยการสลักหลัง ได้ชื่อว่าจำเลยได้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ ให้จำเลยคืนเงิน 5,094 บาท 40 สตางค์และดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่ง แต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้เสีย ค่าธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยนำเช็คดังกล่าวเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยจริง เช็คนั้นไม่ปรากฏคำว่า “เลิกใช้” จำเลยได้รับเช็คไว้ โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนจากบุคคลผู้มีชื่อ ทั้งผู้แทนโจทก์เองก็ทราบดีว่าจำเลยเป็นผู้ทรงเช็ครายนี้ก่อนที่จำเลยจะได้นำเช็คฉบับนี้เข้าบัญชีเงินฝากของจำเลย โดยผู้แทนโจทก์ไม่ได้ทักท้วงประการใดจำเลยไม่เคยรับคำเตือนจากโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแพ่งพิจารณาแล้ว พิพากษาให้ร้านสหกรณ์พระนครจำกัดสินใช้เงินจำนวน 61,457 บาท 94 สตางค์ ให้แก่นายสุดใจ พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว ตั้งแต่วันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ยกฟ้องคดีที่ร้านสหกรณ์พระนคร จำกัดสินใช้เป็นโจทก์ และศาลอุทธรณ์ก็พิพากษายืน

ร้านสหกรณ์ฯ ฎีกาต่อมา

ทางพิจารณาได้ความว่า ร้านสหกรณ์พระนครจำกัดสินใช้มีนายเล็ก โมนินทร์ เป็นผู้จัดการ นายพจน์ ศังขฤกษ์ เป็นประธานกรรมการ นายปัว สาลิคุปต์ เป็นเหรัญญิก ผู้มีอำนาจเซ็นเช็ค เพื่อให้จ่ายเงินตามเช็คนั้นคือ นายพจน์ และนายปัว การหาสินค้าเข้าร้านเป็นหน้าที่ของผู้จัดการ โดยซื้อสินค้าต่าง ๆ เป็นเงินสดเมื่อใช้จ่ายไปเท่าใด ก็ทำบัญชีปะหน้าไว้ และเสนอเหรัญญิกให้ตรวจสอบเมื่อตรวจสอบถูกต้องแล้วประธานกรรมการ และเหรัญญิกก็เซ็นสั่งจ่ายเช็คตามจำนวนเงินในใบปะหน้า เพื่อจ่ายให้แก่ร้านโจทก์แทนเงินสดที่ผู้จัดการออกไปก่อน ทั้งนี้ก็เพราะมีระเบียบวางไว้ว่าการจ่ายเงินซื้อของเข้าร้านสหกรณ์ฯ ที่มีธนาคารตั้งอยู่นั้นให้จ่ายเป็นเช็ค แต่ผู้จัดการร้านสหกรณ์ฯ เห็นว่าวิธีนี้ไม่สะดวกสำหรับร้านที่ตั้งใหม่ ๆ อย่างร้านโจทก์นี้ จึงควรจ่ายเป็นเงินสดแล้วทำการเบิกหักเป็นเช็คให้ถูกต้องตามข้อบังคับซึ่งวางไว้ เพื่อเป็นระเบียบในการควบคุมเงินของร้านสหกรณ์ฯ

เช็คพิพาท 3 ฉบับ หมาย ล.1, ล.6, ล.9 เป็นเช็คของร้านสหกรณ์ฯ จ่ายเงินสดแก่ผู้ถือลงวันที่ 11 กันยายน 2496 ทั้ง 3 ฉบับ อันเป็นวันที่ผู้จัดการเสนอใบปะหน้าให้เหรัญญิกเซ็นนั่นเอง เหรัญญิกบอกว่า เงินในธนาคารมีไม่พอ ให้เก็บเช็คไว้ก่อน เมื่อผู้จัดการเก็บเงินสดส่งธนาคารได้พอแล้ว จึงให้ผู้จัดการเอาเช็คเข้าธนาคารผู้จัดการเก็บเช็คทั้ง 3 ฉบับไว้ 3 เดือน เงินสดของร้านก็ยังมีไม่พอที่จะเอาเช็คดังกล่าวเข้าธนาคารได้

ต่อมาปลายเดือนธันวาคม 2496 เจ้าพนักงานตรวจบัญชีของร้านสหกรณ์ฯ ได้ตีตราเลิกใช้ในต้นขั้วเช็ค 3 ฉบับนี้ แสดงว่า เช็ค ยังไม่ได้จ่าย ส่วนปลายขั้วไม่ได้ตีตราและมอบให้นายประยุทธเป็นผู้รักษา

เหตุที่จะทราบว่าเช็ค 3 ฉบับนี้ หายก็เพราะเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2497 ร้านสหกรณ์ฯ ได้ออกเช็คฉบับหนึ่งให้แก่ห้างมัสกันตีแต่ธนาคารปฏิเสธไม่ยอมจ่าย นายเล็กผู้จัดการจึงไปตรวจดูบัญชีปรากฏว่าธนาคารไทยพาณิชย์ได้หักเงินตามเช็คหมาย ล.1 เข้าบัญชีนายสุดใจ จึงไม่ยอมจ่ายแก่ห้างมัสกันตี แล้วกลับมาตรวจดูเช็คที่มอบแก่นายประยุทธปรากฏว่าหายไปทั้ง 3 ฉบับ

ฝ่ายนายสุดใจคงสืบว่า ได้เช็คพิพาททั้ง 3 ฉบับ จากนายชิต พนักงานเดินตลาด ในการชำระค่ายา เช็คหมาย ล.1 ได้รับเมื่อ วันที่ 15 มกราคม 2497 ได้นำเข้าบัญชี และได้รับเงินไปในวันรุ่งขึ้นส่วนเช็คหมาย ล.6 และ ล.9 ได้รับเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2497 เช็คหมาย ล.6 ได้นำเข้าบัญชีในวันนั้นเอง และธนาคารไม่ยอมจ่าย ต่อมาวันที่ 22 ได้เอาเช็คหมาย ล.9 เข้าบัญชีอีก แต่ก็คงไม่ได้รับเงินตามเช็ค 2 ฉบับนี้

ได้ความเช่นนี้เป็นอันฟังได้ว่า เช็คพิพาททั้ง 3 ฉบับ ได้หายไปจากร้านสหกรณ์ฯ โดยไม่ปรากฏว่าใครเอาไป เมื่อเช็คนี้มาตกอยู่แก่นายสุดใจเช่นนี้ จึงมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาว่า การที่นายสุดใจได้เช็คมาเป็นการสุจริตและปราศจากการเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือปราศจากการคบคิดกันฉ้อฉลหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 905 และ 916

ในประเด็นข้อนี้คงได้ความว่า 1. เมื่อนายเล็กรู้ว่าเช็คหายและไปตกอยู่ที่นายสุดใจ ได้พยายามไปสอบถามนายสุดใจ ๆ ไม่ยอมบอกว่าได้มาจากใคร และนายสุดใจก็เบิกความรับว่า ตนไม่ยอมบอกจะไปบอกชั้นศาล2. เหตุที่นายสุดใจนำเช็คหมาย ล.6 และ ล.9 เข้าบัญชีคนละวันโดยอ้างว่า เพราะนึกว่าทางร้านสหกรณ์จะไม่มีเงินพอจ่าย 3. นายชิตผู้โอนเช็คที่นายสุดใจอ้างถึงก็ไม่มีตัวมาสืบ โดยไม่ปรากฏว่าหายไปไหน

เมื่อพิจารณาเหตุ 3 ประการนี้ ประกอบกันแล้วทำให้เห็นเป็นพิรุธว่า นายสุดใจรับเช็คไว้โดยไม่สุจริต เพราะถ้ารับไว้โดยสุจริตจริงแล้ว เมื่อถูกถามว่า รับมาจากใคร ก็ไม่น่าจะปิดบัง และเหตุที่นายสุดใจนำเช็คเข้าบัญชีคนละคราวก็แสดงอยู่ว่า นายสุดใจรู้เรื่องที่เกี่ยวแก่เช็คนี้อยู่ เพราะถ้าได้รับมาโดยสุจริตแล้ว ก็ไม่มีเหตุที่จะต้องขยักไว้เข้าบัญชีคนละคราว และเมื่อพิจารณาถึงคำเบิกความนายสุดใจที่ว่าก่อนนำเช็คเข้าบัญชี ได้ไปถามคนที่ร้านสหกรณ์ฯ แล้วว่า เป็นเช็คดีไม่มีการคืนเช็คด้วยแล้ว ก็ยิ่งไม่มีเหตุที่จะนำเข้าบัญชีคนละคราวทีเดียวและนายชิตผู้ที่นายสุดใจอ้างว่า เป็นผู้โอนเช็คก็ไม่ได้ตัวมาสืบ โดยไม่ปรากฏว่าไปไหน และจะมีตัวจริงหรือไม่

เหตุนี้ จึงพิพากษากลับ ให้ยกฟ้องคดีที่นายสุดใจ เปรมานนท์ เป็นโจทก์ และให้นายสุดใจ เปรมานนท์ คืนเงิน 5,094 บาท 40 สตางค์กับดอกเบี้ยร้อยละ 7 1/2 ต่อปี แต่วันฟ้องจนกว่าจะใช้ เสร็จ กับให้นายสุดใจ เปรมานนท์ เสียค่าธรรมเนียม 3 ศาล ทั้ง 2 สำนวน กับค่าทนาย 2,000 บาท แก่ร้านสหกรณ์พระนครจำกัดสินใช้

Share