คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3538/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์จะถูกกล่าวหาว่าร่วมกับผู้อื่นค้ายาเสพติดให้โทษเฮโรอีน แต่เมื่อพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องโจทก์ความผิดที่โจทก์ถูกกล่าวหามิได้มีการฟ้องให้ศาลพิจารณาพิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้กระทำผิดแล้ว ก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้กระทำผิดดังข้อกล่าวหาและไม่มีเหตุที่จะถือว่าโจทก์ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงและฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยอันเป็นเหตุให้จำเลยเลิกจ้างได้ โดยไม่จ่ายค่าชดเชย
การเลิกจ้างที่จะถือว่าไม่เป็นธรรมนั้นย่อมต้องพิเคราะห์ถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างว่านายจ้างมีเหตุอันสมควรหรือเพียงพอที่จะเลิกจ้างลูกจ้างหรือไม่ เป็นคนละเหตุกับการเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ซึ่งต้องพิเคราะห์ถึงว่าลูกจ้างกระทำผิดต่อระเบียบข้อบังคับหรือกฎหมายหรือไม่เมื่อระเบียบของจำเลยให้คำนิยามคำว่า ‘เลิกจ้าง’ ไว้ว่าหมายความว่า ‘มาตรการลงโทษที่ใช้กับพนักงานซึ่งบริษัทไม่ไว้วางใจและไม่ประสงค์ที่จะให้อยู่ทำการกับบริษัทต่อไปหรือยุบหน่วยงานหรือตำแหน่งงาน’ พฤติการณ์ของโจทก์มีเหตุอันสมควรและเพียงพอที่จำเลยจะไม่ไว้วางใจและให้โจทก์ทำงานกับจำเลยต่อไป ถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยตำแหน่งหัวหน้าแผนกฝ่ายการโดยสารขาเข้า สังกัดกองสถานีกรุงเทพ ได้รับค่าจ้างเดือนละ8,950 บาท เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2522 โจทก์ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามจับเป็นผู้ต้องสงสัยร่วมกับผู้อื่นค้ายาเสพติดให้โทษ ซึ่งไม่เป็นความจริงวันที่ 15ตุลาคม 2522 จำเลยมีคำสั่งพักงานโจทก์และต่อมาวันที่ 26 ตุลาคม 2522 จำเลยมีคำสั่งพักงานโจทก์และต่อมาวันที่ 26 ตุลาคม 2522 จำเลยมีคำสั่งว่าการกระทำของโจทก์เป็นการประพฤติชั่วฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรง ทำให้จำเลยเสื่อมเสียชื่อเสียงให้ลงโทษปลดโจทก์ตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2522 แต่ในที่สุดเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2522 พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องโจทก์ วันที่ 8 มกราคม 2523 โจทก์มีหนังสืออุทธรณ์ถึงประธานกรรมการจำเลยขอให้จำเลยยกเลิกคำสั่งพนักงานและลงโทษปลดโจทก์ออกจากงานและรับโจทก์กลับเข้าทำงาน แต่จำเลยเพิกเฉยและไม่จ่ายเงินเดือนย้อนหลังให้แก่โจทก์นับแต่วันที่โจทก์ถูกพักงาน เป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างแรงงาน ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยไม่เป็นธรรม โจทก์ยังมีสิทธิได้รับเงินรางวัลประจำปี 2522และ 2523 ในอัตราสองเท่าครึ่งและหนึ่งเท่าครึ่งของเงินเดือนตามลำดับขอให้ศาลบังคับให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานต่อไปในตำแหน่งเดิมหรือในตำแหน่งอื่นซึ่งไม่ต่ำกว่าและในอัตราค่าจ้างที่โจทก์ได้รับในขณะถูกเลิกจ้าง ให้จำเลยจ่ายเงินเดือนย้อนหลังให้โจทก์นับแต่เดือนตุลาคม 2522 ถึงเดือนธันวาคม 2523รวม 134,550 บาท และนับแต่เดือนมกราคม 2524 ต่อไปอีกจนกว่าจำเลยจะรับโจทก์เข้าทำงาน ให้จำเลยจ่ายเงินรางวัลประจำปี พ.ศ. 2522 และ 2523 เป็นเงิน31,325 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 165,575 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเงินต้นเสร็จ

จำเลยให้การว่า เหตุที่จำเลยปลดโจทก์ออกจากงานเพราะโจทก์ต้องหาว่าร่วมกับผู้ต้องหาอื่นค้ายาเสพติดให้โทษเฮโรอีน ระหว่างประเทศไทยกับสิงค์โปร์ ฮ่องกง และจำเลยได้ให้เจ้าหน้าที่สอบหาข้อมูลหลักฐานต่าง ๆจากตำรวจกองปราบปรามยาเสพติดให้โทษและเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดให้โทษได้รับการยืนยันตามทางการสอบสวนว่าโจทก์อาศัยตำแหน่งหน้าที่ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการขนส่งผู้โดยสาร การขนส่งสินค้าโดยเครื่องบินสายการบินของจำเลยและสายการบินอื่น ๆ ซึ่งจำเลยเป็นผู้รับดำเนินการขนถ่ายผู้โดยสารและสินค้า ทำการช่วยเหลือให้กลุ่มผู้ต้องหาอื่นลักลอบขนเฮโรอีนไปจำหน่ายยังต่างประเทศเป็นประจำพนักงานสอบสวนมีคำสั่งฟ้องโจทก์ในข้อหาร่วมกันมียาเสพติดให้โทษไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่าย แต่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง การกระทำของโจทก์ไม่คำนึงถึงชื่อเสียงของจำเลย จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายและเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรง ถึงแม้พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง จำเลยก็ไม่อาจรับโจทก์เข้าเป็นพนักงานของจำเลยอีกต่อไป ถือได้ว่าโจทก์มีมลทินมัวหมอง มีพฤติการณ์ไม่น่าไว้วางใจ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยเหตุผลตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยขอให้ยกฟ้องโจทก์

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์มิใช่เป็นการกระทำโดยไม่เป็นธรรม โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยขอให้รับโจทก์กลับเข้าทำงานได้ พฤติการณ์ของโจทก์เป็นข้อเท็จจริงเพียงพอที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุไม่ไว้วางใจและไม่ประสงค์ที่จะให้ทำงานกับจำเลยต่อไปตามระเบียบของจำเลยว่าด้วยการบริหารงานบุคคลฯ แต่ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงอันเป็นโทษไล่ออกปลดออก ซึ่งจำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินรางวัลประจำปีและไม่มีสิทธิให้จำเลยจ่ายเงินเดือนย้อนหลังแก่โจทก์ พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ 46,500 บาท คำขออื่นให้ยก

ผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้างทำความเห็นแย้งว่า โจทก์ทำผิดระเบียบบริษัทจำเลย ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2521 และประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47(3) จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 4ตุลาคม 2522 โจทก์ถูกตำรวจกองปราบปรามจับฐานเป็นผู้ต้องสงสัยว่าร่วมกับผู้อื่นค้ายาเสพติดให้โทษเฮโรอีน ทั้งนี้โดยมีผู้ต้องหาอื่นซัดทอดว่า โจทก์ร่วมค้าเฮโรอีนด้วยและในชั้นจับกุมตำรวจค้นพบชื่อและเลขหมายโทรศัพท์ของผู้ต้องหาอื่นอีกคนหนึ่ง เลขหมายโทรศัพท์เป็นเลขหมายโทรศัพท์ห้องที่พบเฮโรอีน โจทก์ให้การปฏิเสธตลอดมา เมื่อพนักงานสอบสวนสอบเสร็จส่งสำนวนไปยังพนักงานอัยการ พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องโจทก์เมื่อความผิดที่โจทก์ถูกกล่าวหามิได้มีการฟ้องให้ศาลพิจารณาจนศาลพิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้กระทำผิดแล้วก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้กระทำผิดดังข้อกล่าวหา และไม่มีเหตุที่จะถือว่าโจทก์ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง และฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยอันเป็นเหตุให้จำเลยเลิกจ้างได้โดยไม่จ่ายค่าชดเชย

ปัญหาที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำผิดต่อระเบียบข้อบังคับหรือกฎหมาย เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมนั้น เห็นว่าการเลิกจ้างที่จะถือว่าไม่เป็นธรรมนั้นย่อมต้องพิเคราะห์ถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างว่านายจ้างมีเหตุอันสมควรหรือเพียงพอที่จะเลิกจ้างลูกจ้างหรือไม่ เป็นคนละเหตุกับการเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ซึ่งต้องพิเคราะห์ถึงว่าลูกจ้างกระทำผิดต่อระเบียบข้อบังคับหรือกฎหมายหรือไม่ สำหรับกรณีนี้ตามระเบียบบริษัทการบินไทยจำกัด ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2521 ตอน 2 ว่าด้วยวินัย การลงโทษการอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ได้ให้คำนิยามคำว่า “เลิกจ้าง” ไว้ว่าหมายความว่า”มาตรการลงโทษที่ใช้กับพนักงานซึ่งบริษัทไม่ไว้วางใจ และไม่ประสงค์ที่จะให้อยู่ทำงานกับบริษัทต่อไป หรือยุบหน่วยงานหรือตำแหน่งงาน” เมื่อพฤติการณ์ของโจทก์ตามข้อเท็จจริงข้างต้นมีเหตุอันสมควรและเพียงพอที่จำเลยจะไม่ไว้วางใจโจทก์และให้โจทก์ทำงานกับจำเลยต่อไป จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม

พิพากษายืน

Share