แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่เอกชนผู้เสียหายในคดีอาญายื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ ๑ และพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวน ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ปฏิบัติหน้าที่พนักงานสอบสวน ทำสำนวนการสอบสวนคดีอาญาสูญหาย ทำให้ผู้ฟ้องคดีในฐานะผู้เสียหายในคดีดังกล่าวเสียหายโดยไม่อาจดำเนินคดีใด ๆ เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจาก ผู้ต้องหาได้ เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ความรับผิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองนั้น ต้องเป็นความรับผิดอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครอง หรือการดำเนินกิจการทางปกครอง หรือการละเลยต่อหน้าที่ในทางปกครอง เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าสำนวนการสอบสวนคดีอาญาสูญหายขณะอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวนและการสั่งฟ้องคดีอาญาของพนักงานอัยการ ซึ่งเป็นขั้นตอนของการรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่าง ๆ อันเกี่ยวกับ ความผิดที่ถูกกล่าวหา เพื่อพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหา โดยผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ได้รับความเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ละเลยต่อหน้าที่ไม่เก็บรักษาสำนวนการสอบสวนคดีอาญาเป็นเหตุให้สำนวนสูญหายและไม่อาจสอบสวนเพิ่มเติมตามประเด็นของพนักงานอัยการและไม่สามารถส่งสำนวนการสอบสวนคดีอาญาให้พนักงานอัยการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องผู้ต้องหาได้ จึงเป็นการกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ละเลยต่อหน้าที่ในการรวบรวมพยานหลักฐานและการดำเนินการทั้งหลายอื่นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดไว้ อันเป็นการกระทำตามหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา มิใช่การละเลยต่อหน้าที่ในทางปกครอง เมื่อศาลยุติธรรมเป็นศาล ซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒ (๑) ดังนั้น การตรวจสอบเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวน และเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒ (๖) จึงอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจควบคุมตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และแม้ ผู้ฟ้องคดีจะฟ้องเรียกค่าเสียหายมาด้วย ก็เป็นการเรียกค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๘๔/๒๕๕๘
วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๘
เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)
ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลแพ่ง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๗ นายสมยศ สุธางค์กูร ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ ๑ ร้อยตำรวจเอก วินัย สุโขพืช ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๕๒๙/๒๕๕๗ ความว่า เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๔๖ ผู้ฟ้องคดีได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลหัวหมากให้ดำเนินคดีนายชัยเอก ณรงคสุต และนายปฏิภาณ สีเหมือน ในข้อหาร่วมกันยักยอกรถยนต์ จำนวน ๔ คัน มูลค่ารวม ๑,๕๕๕,๐๐๐ บาท ผู้ต้องหาทั้งสองหลบหนี และศาลจังหวัดพระโขนงออกหมายจับ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ สรุปสำนวนการสอบสวนเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาส่งพนักงานอัยการ แต่พนักงานอัยการส่งคืนสำนวนเพื่อให้สอบสวนเพิ่มเติม ต่อมาเมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๕ เจ้าพนักงานตำรวจประจำสถานีตำรวจภูธรเมืองลำพูนจับกุมนายปฏิภาณนำตัวส่งสถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ทำสำนวนการสอบสวนคดีอาญาดังกล่าวหายไป จึงไม่สามารถสอบสวนเพิ่มเติมและฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลได้ เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายไม่สามารถดำเนินคดีเรียกค่าเสียหายจากผู้ต้องหาได้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในฐานะผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ กับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย ขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน ๒,๘๑๓,๒๗๒ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวน ๑,๕๕๕,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ฟ้องคดี
ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไว้พิจารณา
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การว่า การที่สำนวนการสอบสวนคดีอาญาที่ ๑๒๘๙/๒๕๔๖ สูญหายไม่เป็นเหตุให้ฟ้องหรือไม่ฟ้องผู้ต้องหา การที่ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายไม่เป็นผลโดยตรงจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ทั้งค่าเสียหายผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีพยานหลักฐานว่าผู้ฟ้องคดีเสียหายจริงเท่าใดผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นเพียงหน่วยงานที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ สังกัด จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้เงินตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ถึงแม้ว่าการทำสำนวนการสอบสวนคดีอาญาของพนักงานสอบสวนจะถือเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนหรือกระบวนการในการดำเนินคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพื่อนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิดในคดีอาญาก็ตาม แต่ในขั้นตอนการดำเนินการดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในฐานะพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสำนวนคดี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ อาจมีการกระทำทางปกครองปะปนอยู่ด้วย ดังนั้น ถ้าขั้นตอนใดเป็นการกระทำที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดให้อำนาจไว้เป็นการเฉพาะ การกระทำดังกล่าวก็จะอยู่ในอำนาจการควบคุมตรวจสอบของศาลยุติธรรม แต่ถ้าการกระทำใดที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการนอกเหนือ หรือมิได้กระทำตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และเป็นการกระทำที่เข้าเกณฑ์เป็นกรณีพิพาทตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ การกระทำนั้นจะอยู่ในอำนาจการควบคุมตรวจสอบของศาลปกครอง เมื่อคดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า หลังจากที่พนักงานอัยการส่งสำนวนการสอบสวนคดีอาญาที่ ๑๒๘๙/๒๕๔๖ กลับคืนเพื่อให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสำนวนคดีนี้ทำการสอบสวนเพิ่มเติม และเจ้าพนักงานตำรวจประจำสถานีตำรวจภูธรเมืองลำพูนได้จับกุมตัวนายปฏิภาณ สีเหมือน ผู้ต้องหานำตัวส่งสถานีตำรวจนครบาลหัวหมากแล้ว แต่ปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ กลับทำสำนวนการสอบสวนคดีอาญาดังกล่าวสูญหาย ทำให้ไม่สามารถสอบสวนเพิ่มเติมตามประเด็นที่พนักงานอัยการทักท้วงและไม่สามารถนำผู้ต้องหาส่งฟ้องต่อศาลได้ จึงเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ละเลยต่อหน้าที่ไม่ดูแลรักษาสำนวนการสอบสวนคดีอาญาจนทำให้สำนวนคดีอาญาดังกล่าวสูญหายทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายไม่สามารถดำเนินคดี เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ต้องหาได้ จึงมีประเด็นแห่งคดีที่ศาลปกครองจะต้องวินิจฉัยว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐสังกัดอยู่ จะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำละเมิดอันเนื่องมาจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในการจัดเก็บสำนวนการสอบสวนให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยและระมัดระวังมิให้สูญหายหรือไม่ เพียงใด โดยมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในเบื้องต้นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้กระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ ซึ่งการที่ศาลจะวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวได้จำเป็นต้องพิจารณาว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีหน้าที่และได้ปฏิบัติหน้าที่ในการเก็บสำนวนการสอบสวนคดีอาญาเป็นไปตามกฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด และได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งดังกล่าวกำหนดให้ต้องปฏิบัติโดยถูกต้องครบถ้วนแล้วหรือไม่ อย่างไร ประกอบกับกรณีดังกล่าวประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็มิได้บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนในลักษณะดังกล่าว จึงมีลักษณะเป็นการกระทำทางปกครองที่ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษา กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า การสอบสวนคดีอาญาเป็นขั้นตอนการดำเนินการเพื่อนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งกำหนดให้อำนาจพนักงานสอบสวนไว้เป็นการเฉพาะโดยตรง แม้การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ทำสำนวนการสอบสวนคดีอาญาสูญหาย จนไม่สามารถดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมและส่งสำนวนการสอบสวนคดีอาญาให้พนักงานอัยการสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาได้ก็ตาม แต่ถือได้ว่ากระบวนการดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างสอบสวนของพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จึงเป็นคดีพิพาทที่เกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่อันเกิดจากการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มิใช่เป็นการละเมิด อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครอง หรือจากกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองที่จะพิจารณาพิพากษา แต่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ ๑ ร้อยตำรวจเอก วินัย สุโขพืช ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ปฏิบัติหน้าที่พนักงานสอบสวน ทำสำนวนการสอบสวนคดีอาญาที่ ๑๒๘๙/๒๕๔๖ สูญหาย ทำให้ผู้ฟ้องคดีในฐานะผู้เสียหายในคดีดังกล่าวเสียหายโดยไม่อาจดำเนินคดีใด ๆ เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ต้องหาได้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การว่า การที่สำนวนการสอบสวนคดีอาญาดังกล่าวสูญหายไม่เป็นเหตุให้ฟ้องหรือไม่ฟ้องผู้ต้องหา เพราะแม้พนักงานสอบสวนไม่มีสำนวนการสอบสวนคดีอาญา แต่พนักงานสอบสวนคงมีอำนาจหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ ส่งให้พนักงานอัยการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องผู้ต้องหาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๓๑ ประกอบมาตรา ๒ (๖) เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้ (๓) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ดังนี้ เมื่อพิจารณาบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ความรับผิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองนั้น ต้องเป็นความรับผิดอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครอง หรือการดำเนินกิจการทางปกครอง หรือการละเลยต่อหน้าที่ในทางปกครอง เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าสำนวนการสอบสวนคดีอาญาที่ ๑๒๘๙/๒๕๔๖ สูญหายขณะอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวนและการสั่งฟ้องคดีอาญาของพนักงานอัยการ ซึ่งเป็นขั้นตอนของการรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่าง ๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา เพื่อพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหา โดยผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ได้รับความเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ละเลยต่อหน้าที่ไม่เก็บรักษาสำนวนการสอบสวนคดีอาญาเป็นเหตุให้สำนวนสูญหายและไม่อาจสอบสวนเพิ่มเติมตามประเด็นของพนักงานอัยการและไม่สามารถส่งสำนวนการสอบสวนคดีอาญาให้พนักงานอัยการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องผู้ต้องหาได้ จึงเป็นการกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ละเลยต่อหน้าที่ในการรวบรวมพยานหลักฐานและการดำเนินการทั้งหลายอื่นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดไว้ อันเป็นการกระทำตามหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา มิใช่การละเลยต่อหน้าที่ในทางปกครอง เมื่อศาลยุติธรรมเป็นศาลซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒ (๑) ดังนั้น การตรวจสอบเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวน และเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒ (๖) จึงอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจควบคุมตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และแม้ผู้ฟ้องคดีจะฟ้องเรียกค่าเสียหายมาด้วย ก็เป็นการเรียกค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายสมยศ สุธางค์กูร ผู้ฟ้องคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ ๑ ร้อยตำรวจเอก วินัย สุโขพืช ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด
(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ