คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1298/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยหาว่าจำเลยหมิ่นประมาทใส่ความ ศาลนัดไต่สวนแล้ว สั่งว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้อง และให้หมายเรียกจำเลยมาแก้คดีในวันที่ 22 มีนาคม 2499 และให้โจทก์เซ็นทราบไว้ด้วย ครั้นถึงวันที่ 22 มีนาคม 2499 จำเลยยื่นคำให้การ ศาลเรียกคู่ความเพื่อสอบถามคำให้การจำเลย แต่โจทก์ไม่มาศาลในวันนี้ ศาลจะสั่งจำหน่ายคดีเสียโดยหาว่าโจทก์ทิ้งฟ้องไม่ได้ เพราะไม่มีการนัดเป็นกิจลักษณะว่าจะดำเนินกระบวนพิจารณา และกรณีไม่เข้าตามมาตรา 174 แห่งวิธีพิจารณาความแพ่ง ไม่เป็นการทิ้งฟ้อง

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยหมิ่นประมาทโจทก์ทางหนังสือพิมพ์ ขอให้ลงโทษ
ศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งประทับฟ้อง และให้หมายเรียกจำเลยมาแก้คดี เจ้าพนักงานศาลได้นัดให้จำเลยแก้คดีในวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๔๙๙ และให้โจทก์เซ็นทราบไว้ในบัญชีนัดความของศาลแล้ว
ครั้นถึงวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๔๙๙ จำเลยได้ยื่นคำให้การต่อศาลพร้อมด้วยสำเนาปฏิเสธความผิด ศาลสั่งว่า “รับ” สำเนาให้รอไว้เมื่อสอบแล้วจึงให้โจทก์และในวันนั้นจำเลยยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว โดยขอประกันตนเองมีหลักทรัพย์ ศาลสั่งว่า “อนุญาตให้ประกัน ตีราคาหนึ่งหมื่นบาท รับเงินสด(ที่จำเลยขอวาง ๕๐๐ บาท) ยึดโฉนดไว้” แล้วศาลออกนั่งจดรายงานพิจารณาว่า “นัดแล้วคดีวันนี้ ได้ให้โจทก์ทราบวันนัดในรายงานเจ้าหน้าที่ของศาล และได้ให้เซ็นทราบในบัญชีนัดความของศาลด้วย จนบัดนี้เป็นเวลา ๑๐.๓๐ น. แล้วโจทก์ไม่มาศาล จำเลยมาศาลได้ยื่นคำให้การแก้คดี ศาลจะต้องสอบคำให้การของจำเลบต่อหน้าศาลและโจทก์ด้วย แต่ทำการสอบคำให้การของจำเลยไม่ได้ เพราะโจทก์ไม่มาศาลเสียเฉย ๆ โดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องแต่ประการใด เห็นว่าการแก้คดีต้องมีการสอบคำให้การ และนัดพิจารณาสืบพยานต่อไป เป็นการกระทำการในกระบวนพิจารณาความ เมื่อโจทก์ไม่มาถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาโดยทิ้งฟ้อง จึงให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบให้คืนหลักฐานการขอประกันแก่จำเลยไป
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๗๒ บัญญัติว่า “การพิจารณาและสืบพยานในศาลให้ทำโดยเปิดเผย เว้นแต่บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น เมื่อโจทก์หรือนายโจทก์และจำเลยมาอยู่ต่อหน้าศาลแล้วและศาลเชื่อว่าเป็นจำเลยจริง ให้อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง ฯลฯ ” ดังนี้จึงต้องดูว่าการนัดของศาลตามพฤติการณ์ดังกล่าว เป็นการนัดให้โจทก์จำเลยมาพร้อมกันต่อหน้าศาลหรือไม่ เพราะถ้าเป็นการนัดเช่นนั้นก็ย่อมเป็นการนัดพิจารณาคดี ถ้าโจทก์ไม่มาศาลก็ย่อมถือว่าโจทก์ขาดนัดตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๘๑ ประกอบกับมาตรา ๑๖๖ เมื่อพิเคราะห์แล้วเห็นว่าการนัดของศาลในเรื่องนี้เป็นแต่เพียงการนัดให้จำเลยมาแก้คดีเท่านั้น ไม่มีข้อความใดที่จะชี้ไปให้เห็นว่าศาลจะทำการสอบคำให้การจำเลย เห็นว่าจะถือว่าโจทก์ขาดนัดได้ต่อเมื่อมีการนัดเป็นกิจลักษณะ ไม่ใช่เป็นแต่เพียงให้จำเลยมาแก้คดี แล้วจะให้โจทก์เข้าใจเอาเองว่าศาลจะทำการนั่งพิจารณาคดีในวันนั้นด้วยไม่ได้ ฉะนั้นที่ศาลชั้นต้นสรุปเอาว่า “การแก้คดีต้องมีการสอบคำให้การและนัดสืบพยานพิจารณาต่อไป ” นั้นจึงไม่ถูกต้องต่อกฎหมายและการที่โจทก์ไม่มาดังกล่าวก็ไม่เป็นการทิ้งฟ้องตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา
๑๗๔ เพราะโจทก์มิได้เพิกเฉยไม่ร้องขอต่อเจ้าพนักงานเพื่อให้ส่งหมายเรียกให้แก่คดีแก่จำเลย ฯ หรือเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีในระยะเวลาที่ศาลกำหนด จึงพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คือให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป

Share