แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 นอกจากให้เสียอากรโดยปิดแสตมป์ครบจำนวนแล้ว จะต้องขีดฆ่าแสตมป์แล้วด้วย จึงจะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ แม้สัญญากู้ที่โจทก์นำมาฟ้องไม่ได้ขีดฆ่าแสตมป์อันจะใช้เป็นหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยให้การรับว่าจำเลย ได้เขียนสัญญากู้มอบให้โจทก์ไว้ ก็ย่อมฟังได้ว่าจำเลยกู้เงิน โจทก์โดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ โดยไม่ต้องอาศัยฟังจากเอกสาร
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้ยืมเงินไปจากโจทก์จำนวน 66,500 บาทดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี จำเลยชำระหนี้ให้โจทก์เพียง 9,000 บาทเป็นดอกเบี้ย 7,896 บาท ต้นเงิน 1,104 บาท แล้วไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินให้โจทก์จำนวน 80,109 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 65,396 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยกู้ยืมเงินโจทก์ เพียงแต่เคยกู้ยืมเงินนางสาวอนงค์ เชื้อเล็ก บุตรโจทก์เป็นเงิน 32,000 บาทกับค้างชำระดอกเบี้ยซึ่งนางสาวอนงค์คิดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอีก34,560 บาทจึงให้จำเลยทำสัญญากู้ใหม่โดยลงชื่อโจทก์เป็นผู้ให้กู้จำเลยชำระเงินให้โจทก์ไป 18,000 บาท คงค้างชำระอยู่เพียง21,200 บาท
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สัญญากู้ยืมเงิน โจทก์มิได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ใช้เป็นพยานเอกสารไม่ได้ ถือว่าโจทก์ไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ พิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยรับกันฟังได้ว่าจำเลยได้กู้ยืมเงินนางสาวอนงค์ เชื้อเล็ก บุตรโจทก์ไปหลายครั้งต่อมาเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2525 จำเลยได้ทำสัญญากู้เงินจากโจทก์จำนวน 66,500 บาท กำหนดชำระภายในวันที่ 20 เมษายน 2526ตามเอกสารหมาย จ.1 สัญญากู้ได้ปิดแสตมป์ครบถ้วน แต่มิได้ขีดฆ่าที่โจทก์ฎีกาว่าสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 โจทก์ปิดแสตมป์บริบูรณ์ครบถ้วนแล้ว แต่มิได้ขีดฆ่า การขีดฆ่าแสตมป์ก็เพื่อมิให้นำแสตมป์นั้นไปใช้ได้อีก ซึ่งเป็นข้อปลีกย่อย ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118ไม่ได้บัญญัติไว้ว่า ตราสารที่ปิดแสตมป์ครบถ้วนแล้ว แต่ไม่ขีดฆ่าจะรับฟังเอกสารนั้นไม่ได้ เอกสารสัญญากู้จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้นั้น ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 บัญญัติว่า “ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีกหรือสำเนาตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้จนกว่าจะได้เสียอากรโดยปิดแสตมป์ครบจำนวนตามอัตราในบัญชีท้ายหมวดนี้และขีดฆ่าแล้ว ฯลฯ” เห็นว่าตามบทบัญญัติดังกล่าว นอกจากให้เสียอากรโดยปิดแสตมป์ครบจำนวนแล้วจะต้องขีดฆ่าแล้วด้วยจึงจะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้เมื่อแสตมป์ที่ปิดไม่ได้ขีดฆ่า โจทก์จะใช้สัญญากู้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งหาได้ไม่ และศาลฎีกาเห็นว่า แม้สัญญากู้ที่โจทก์นำมาฟ้องไม่ได้ขีดฆ่าแสตมป์ แต่เมื่อจำเลยให้การรับว่า เดิมจำเลยเป็นหนี้บุตรโจทก์อยู่เป็นเงิน 32,000 บาท ค้างชำระดอกเบี้ยเป็นเงิน34,500 บาท รวมเป็นเงิน 66,500 บาท จำเลยได้เขียนสัญญากู้มอบให้โจทก์ไว้ แต่อ้างว่าคิดดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อเดือน ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ย่อมฟังได้ว่า จำเลยกู้เงินโจทก์โดยมีหลักฐานเป็นหนังสือโดยไม่ต้องอาศัยฟังจากเอกสาร ปัญหามีว่า ดอกเบี้ยที่ค้างชำระเป็นเงิน 34,530 บาทนางสาวอนงค์คิดในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่จำเลยเบิกความว่า ในปี 2518 จำเลยได้กู้ยืมเงินนางสาวอนงค์ไปเป็นเงิน 6,700 บาท ได้ชำระต้นเงินคืน 5,700 บาท เป็นหนี้อยู่ 1,000 บาท กู้ยืมเพิ่มอีก 500 บาทคงเป็นหนี้อยู่ 1,500 บาท และในปี 2519 ได้กู้ยืมอีก 25,000 บาทรวมเป็นหนี้อยู่ 26,500 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อเดือน เวลา4 ปี 6 เดือน ดอกเบี้ย 24,500 บาท เมื่อรวมต้นเงินและดอกเบี้ยที่ค้างชำระอยู่ก็เป็นเงินเพียง 51,000 บาท ซึ่งแตกต่างและขัดกับคำให้การของจำเลย จำเลยนำสืบยอดเงินกู้ที่ค้างชำระ และดอกเบี้ยที่อ้างว่าเรียกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายมีจำนวนไม่แน่นอนไม่มีน้ำหนักพอที่จะเชื่อถือได้ ฟังได้ว่าจำเลยเป็นหนี้นางสาวอนงค์บุตรโจทก์รวมทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน 66,500 บาท และได้มีการแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ตามที่จำเลยได้เขียนสัญญากู้มอบให้โจทก์ไว้
ที่โจทก์ฎีกาว่า พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้ชำระหนี้ให้โจทก์แล้วเป็นเงิน 18,000 บาท จำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่ตามฟ้องนั้น จำเลยเบิกความว่า หลังจากได้เขียนสัญญากู้มอบให้โจทก์แล้ว จำเลยได้ชำระหนี้ให้โจทก์ครั้งแรก 9,000 บาท โจทก์ได้สลักหลังไว้ในหนังสือสัญญา ปรากฏว่าด้านหลังสัญญากู้เอกสารหมายจ.1 ได้มีการบันทึกลงไว้ว่า เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2526 จำเลยได้ชำระเงินให้ 9,000 บาท ถ้าหากจำเลยค้างชำระดอกเบี้ยและนำเงินจำนวน 9,000 บาทมาชำระดอกเบี้ยส่วนหนึ่งด้วย โจทก์ก็น่าจะบันทึกให้ชัดเจนไปว่าชำระดอกเบี้ยเท่าไร ชำระเงินต้นเท่าไร เมื่อไม่มีการบันทึกเกี่ยวกับดอกเบี้ยไว้จึงต้องฟังว่าจำเลยได้ชำระดอกเบี้ยแล้ว และชำระต้นเงินจำนวน 9,000 บาทคงค้างชำระต้นเงินโจทก์อยู่เป็นเงิน 57,500 บาท ที่จำเลยว่าครั้งที่สองได้ชำระอีก 9,000บาท ไม่ปรากฏว่าได้มีการบันทึกลงไว้ในสัญญา และจำเลยไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งมาแสดง ฟังได้ว่าจำเลยคงเป็นหนี้โจทก์อยู่เป็นเงิน 57,500 บาท และจำเลยค้างชำระดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2526 เป็นต้นมาในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีศาลฎีกาไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 57,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2526 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์