คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1576/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยขับรถยนต์ประมาทชนผู้ตาย เป็นเหตุให้นาฬิกา แว่นตา ที่ติดตัวผู้ตายสูญหายไปนั้น จำเลยต้องชดใช้แทนให้
ค่าปลงศพ ค่าใช้ราคาทรัพย์ และค่าขาดไร้อุปการะ เป็นค่าสินไหมทดแทนที่ต้องชดใช้ด้วยเงิน การที่ศาลกำหนดจำนวนให้จำเลยใช้ มิใช่ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายตั้งแต่ศาลพิพากษา แต่เป็นการกำหนดค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับความเสียหายมาแล้วตั้งแต่วันจำเลยทำละเมิดขับรถยนต์ประมาทชนผู้ตายตาย จำเลยจึงต้องเสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่จะต้องชดใช้ตั้งแต่วันทำละเมิดเพราะถือว่าจำเลยผิดนัดตั้งแต่วันนั้นแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1, 2 เป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์ในการเดินรถรับส่งคนโดยสาร จำเลยที่ 1, 2, 3 ร่วมกันมีรถยนต์โดยสารเลขทะเบียน ส.ป.00061 เลขหมายประจำรถ 254 ใช้เดินรับส่งคนโดยสารประจำทางสายกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ หาประโยชน์ร่วมกันโดยจำเลยที่ 4 เป็นลูกจ้างทำหน้าที่เป็นผู้ขับขี่ เมื่อ 23 เมษายน 2502 จำเลยที่ 4 ได้ขับรถยนต์ดังกล่าวตามทางการที่จ้างและเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1, 2, 3 ด้วยความประมาทชนรถจักรยานสองล้อซึ่งนายวิรัตน์ขี่สวนทางมาเป็นเหตุให้นายวิรัตน์ตกจากรถ กะโหลกศีรษะแตกถึงแก่ความตาย ศาลทหารกรุงเทพฯ พิพากษาจำคุกจำเลยที่ 4 คดีเสร็จเด็ดขาดแล้ว นายวิรัตน์เป็นบุตรของโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายคือ ค่าทำศพ ทรัพย์สูญหายในที่เกิดเหตุ ค่าขาดอุปการะ รวมทั้งสิ้น106,620 บาท ขอให้จำเลยทั้ง 4 ร่วมกันรับผิด พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งแต่วันฟ้อง

จำเลยที่ 1 ให้การว่า มิได้ร่วมมีรถยนต์กับจำเลยที่ 2, 3 รถยนต์คันนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 3 แต่ผู้เดียว ยังไม่ได้ตกลงทำสัญญาเดินรถร่วมกันให้ถูกต้องจำเลยที่ 4 ไม่ใช่ลูกจ้างจำเลยที่ 1 ค่าเสียหายเรียกมากเกินฐานะ

จำเลยที่ 3 ให้การว่า เป็นเจ้าของรถยนต์จริง จำเลยได้มอบให้จำเลยที่ 2 ไปจัดการ จำเลยที่ 4 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 จำเลยไม่ต้องรับผิด โจทก์เสียหายไม่ถึงเท่าที่ฟ้อง

จำเลยที่ 2 และที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลแพ่งพิพากษาให้จำเลยทั้ง 4 ร่วมกันรับผิดใช้ค่าปลงศพผู้ตาย 5,000 บาท ค่ารถจักรยานที่ถูกชนเสียหาย 900 บาท ค่าขาดอุปการะ 40,000 บาท รวม 45,900 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันพิพากษาจนกว่าจำเลยจะใช้เงินเสร็จแก่โจทก์

โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายตามฟ้อง

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่าไม่ต้องรับผิด

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า นาฬิกาโมวาโดและแว่นตาของผู้ตายได้สูญหายไปด้วยจริง ควรให้จำเลยใช้ค่าของ 2 สิ่งนี้อีก 1,750 บาท จึงพิพากษาแก้เฉพาะค่าเสียหายให้จำเลยทั้ง 4 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 47,650 บาทให้โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามศาลชั้นต้น

โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกาต่อมา

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว มีเอกสารสัญญาระหว่างจำเลยที่ 1, 2, 3เป็นทอด ๆ คือ จำเลยที่ 3 ผู้เป็นเจ้าของรถทำสัญญาโอนรถคันเกิดเหตุให้จำเลยที่ 2 และยินยอมให้จำเลยที่ 2 โอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยที่ 1 ตามสัญญาให้ผลประโยชน์ตอบแทนระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 จะโอนกรรมสิทธิ์คืนให้เมื่อจำเลยที่ 3 ประสงค์แล้วจำเลยที่ 2 เอารถคันนี้มาทำสัญญาโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยที่ 1 เพื่อให้จำเลยที่ 1 ใช้รถยนต์นี้ในการเดินรับส่งผู้โดยสารมีผลประโยชน์ตอบแทน โดยเฉพาะสัญญาระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 นั้น ปรากฏชัดเจนว่าโอนรถให้จำเลยที่ 1 ให้เป็นรถประจำทางวิ่งในเส้นทางสาย 51 และจำเลยที่ 1 เป็นผู้จ่ายผลประโยชน์ให้จำเลยที่ 2 ตามวิธีที่ระบุไว้ รถคันนี้ได้ใช้ชื่อและเครื่องหมายของบริษัทจำเลยที่ 1 ที่ตัวรถ ขณะเกิดเหตุรถยนต์คันนี้ก็เดินในเส้นทางสัมปทานของจำเลยที่ 1 ดังนี้ ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้มีและใช้รถคันเกิดเหตุในกิจการของจำเลยที่ 1 แล้ว กิจการนี้เป็นกิจการหารายได้ของจำเลยที่ 1 คนขับรถปฏิบัติหน้าที่ในกิจการของจำเลยที่ 1 โดยมีสินจ้างแม้จำเลยที่ 1 จะจ่ายเงินให้จำเลยที่ 2 ตามสัญญาระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เงินที่จ่ายนี้ส่วนหนึ่งก็เป็นเงินสินจ้างในกิจการขับรถร่วมอยู่ด้วย ดังนี้ ถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้าง จึงต้องร่วมรับผิดในผลละเมิดของจำเลยที่ 4 ซึ่งขับรถชนบุตรโจทก์ในระหว่างขับรถขนส่งคนโดยสารในกิจการของจำเลยที่ 1

เรื่องค่าเสียหายนั้น ศาลฎีกาเชื่อว่าสิ่งของที่ติดตัวผู้ตายไปในขณะถูกรถชน มีปากกา แว่นตา และนาฬิกาติดตัวไปด้วย และสูญเสียไปจริง ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ใช้ค่าของ 2 สิ่ง (นาฬิกา แว่นตา)เพิ่มขึ้นนั้นชอบแล้ว

สำหรับสิทธิเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะจากจำเลยนั้น โจทก์มีสิทธิเรียกได้ นัยฎีกาที่ 1742/2499 และ 292/2502 ศาลฎีกาเคยพิพากษาให้ใช้ค่าขาดไร้อุปการะในอนาคตเป็นเวลา 10 ปีมาแล้วนัยฎีกาที่ 292/2502, 789/2502 เมื่อวินิจฉัยถึงพฤติการณ์ในปัจจุบันที่บุตรผู้ตายอุปการะมาแล้วเห็นควรกำหนดเพิ่มขึ้นให้จำเลยทั้ง 4 ใช้ 50,000 บาท

ส่วนดอกเบี้ย โจทก์ฎีกาให้ใช้ตั้งแต่วันทำละเมิด ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าหนี้ในมูลละเมิดไม่ใช่หนี้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 จึงต้องคิดให้ตั้งแต่ศาลพิพากษาให้ใช้นั้นสำหรับคดีนี้โจทก์เรียกร้องค่าปลงศพ ค่าใช้ราคาทรัพย์ และค่าขาดไร้อุปการะเป็นค่าสินไหมทดแทนที่ต้องชดใช้ด้วยเงิน และที่ศาลกำหนดจำนวนค่าสินไหมทดแทนให้จำเลยใช้ มิใช่ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายตั้งแต่วันพิพากษา เป็นแต่กำหนดค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับความเสียหายมาแล้วตั้งแต่วันทำละเมิด กฎหมายบัญญัติให้ถือว่าจำเลยผิดนัดตั้งแต่ทำละเมิด จึงต้องเสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่จะต้องชดใช้ตั้งแต่วันทำละเมิด แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องให้ใช้ดอกเบี้ยแต่วันฟ้อง จะฎีกาขอให้ใช้ตั้งแต่วันทำละเมิดเกินคำขอในฟ้องไม่ได้คงได้เท่าที่ขอตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป

พิพากษาแก้ ให้จำเลยทั้ง 4 ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์57,650 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งนับแต่วันฟ้อง

Share