คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4841/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 1546 (บรรพ 5 เดิม), 1574
ในช่วงที่ ผ.ทำหนังสือสัญญาโอนหลุดเป็นสิทธิ โจทก์ที่ 4 มีอายุประมาณ 22 ปี เป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้ว สัญญาโอนหลุดเป็นสิทธิดังกล่าวจึงมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับได้ หาตกเป็นโมฆะไม่
สำหรับที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ยังเป็นผู้เยาว์ในช่วงที่ ผ.ทำสัญญาโอนหลุดเป็นสิทธิแทนโจทก์ที่ 1 และที่ 2 แม้ในวันทำสัญญาดังกล่าวจะมี พ.ร.บ.ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่ง ป.พ.พ. พ.ศ.2477 ใช้บังคับแล้วโดยให้เพิ่มบทบัญญัติบรรพ 5 ตั้งแต่มาตรา 1435 ถึง 1598 เข้าเป็นส่วนหนึ่งแห่ง ป.พ.พ. และให้ใช้บทบัญญัติแห่งบรรพนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2478 เป็นต้นไป ซึ่งบทบัญญัติบรรพ 5 นี้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับผู้ใช้อำนาจปกครองจะทำนิติกรรมอันเกี่ยวแก่ทรัพย์สินของผู้เยาว์ไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาตตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1546 แต่การโอนที่ดินให้หลุดเป็นสิทธิแก่ผู้รับจำนองนั้นไม่มีบัญญัติไว้ในมาตรา 1546 (1) ถึง (8) แต่อย่างใดดังนั้น การที่ ผ.ทำสัญญาโอนที่ดินพิพาทให้หลุดเป็นสิทธิแก่ จ.แทนโจทก์ที่ 1 และที่ 2ในขณะที่ ป.พ.พ.มาตรา 1546 (1) ถึง (8) ใช้บังคับ จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติดังกล่าว สัญญาที่ ผ.ทำไว้ดังกล่าวมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับได้โดยไม่จำต้องได้รับอนุญาตจากศาลเสียก่อน และหาตกเป็นโมฆะไม่
เมื่อที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ จ.ตามหนังสือสัญญาโอนหลุดเป็นสิทธิแล้ว การที่ต่อมา จ.ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ก็ดี จำเลยที่ 1แบ่งแยกที่ดินพิพาทออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 218086 ถึง 218088 และโฉนดที่ดินเลขที่ 3472 ในส่วนจำนวนเนื้อที่ของที่ดินที่เหลือแล้วจำเลยที่ 1 ยกกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 218086 และ 218088 ให้แก่จำเลยที่ 2 ยกกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่218087 และ 3472 ในส่วนจำนวนเนื้อที่ของที่ดินที่เหลือให้แก่จำเลยที่ 3 ก็ดี และจำเลยที่ 3 ยกกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 3472 ดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 4 ก็ดีที่ดินพิพาทจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยดังกล่าวโดยชอบ โจทก์ทั้งหกหามีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสี่เพื่อขอให้เพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้กลับสู่สภาพเดิมไม่

Share