แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตาม ป.อ. มาตรา 341 พ.ร.บ. จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหายทั้งเจ็ดรวม 810,000 บาท ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 หลบหนี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีจำเลยที่ 1 ชั่วคราว ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ขอถอนคำให้การปฏิเสธ และให้การใหม่เป็นรับสารภาพ แต่ขอเลื่อนการฟังคำพิพากษาเพื่อนำเงินมาชำระให้แก่ผู้เสียหายทั้งเจ็ดคนละ 20,000 บาท ส่วนที่เหลือผู้เสียหายทั้งเจ็ดจะไปเรียกร้องจากจำเลยที่ 1 สอบโจทก์ ผู้เสียหายที่ 2 ถึงที่ 7 แล้วรับว่าเป็นจริง และต่อมาปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้ชำระเงินให้ผู้เสียหายทั้งเจ็ดคนละ 20,000 บาทแล้ว ดังนี้ การที่ผู้เสียหายทั้งเจ็ดยอมรับตามคำแถลงของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ว่า เงินส่วนที่เหลือผู้เสียหายจะไปเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 1 แต่ก็ไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายทั้งเจ็ดจะไม่ติดใจเรียกร้องเงินส่วนที่เหลือจากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อีก จึงถือไม่ได้ว่าคู่กรณีมีเจตนาระงับข้อพิพาทโดยไม่ติดใจเรียกร้องสิ่งใดต่อกันอีก จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงต้องร่วมกันชำระหนี้ส่วนที่เหลือให้แก่ผู้เสียหายทั้งเจ็ดจนสิ้นเชิงในฐานะลูกหนี้ร่วม ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมกันคืนหรือใช้เงินส่วนที่เหลือให้แก่ผู้เสียหายทั้งเจ็ดจึงชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 341 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 30, 82, 91 ตรี ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนหรือชดใช้เงินให้แก่ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 คนละ 120,000 บาท ผู้เสียหายที่ 5 จำนวน 100,000 บาท ผู้เสียหายที่ 6 จำนวน 140,000 บาท และผู้เสียหายที่ 7 จำนวน 90,000 บาท
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 1 หลบหนี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีสำหรับโจทก์และจำเลยที่ 1 ชั่วคราว
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ประกอบด้วยมาตรา 83 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี การกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษบทหนักตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี จำคุกคนละ 3 ปี จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 คืนหรือชดใช้เงินแก่ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 คนละ 100,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 5 จำนวน 80,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 6 จำนวน 120,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 7 จำนวน 70,000 บาท ความผิดฐานอื่นให้ยก
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เพียงประการเดียวว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ต้องคืนหรือชดใช้เงินให้แก่ผู้เสียหายทั้งเจ็ดหรือไม่ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ฎีกาว่า ได้ชำระเงินให้แก่ผู้เสียหายทั้งเจ็ดคนละ 20,000 บาท เงินส่วนที่เหลือผู้เสียหายทั้งเจ็ดจะไปเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 1 การตกลงดังกล่าวถือว่าคู่กรณีมีเจตนาระงับข้อพิพาทโดยไม่ติดใจเรียกร้องสิ่งใดต่อกันอีก จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้เงินส่วนที่เหลือให้แก่ผู้เสียหายทั้งเจ็ดตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสอง พิเคราะห์รายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 8 มีนาคม 2543 ซึ่งบันทึกว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ขอถอนคำให้การปฏิเสธ และให้การใหม่เป็นรับสารภาพ ตามคำให้การที่ศาลบันทึกไว้ แต่ขอเลื่อนการฟังคำพิพากษาเพื่อนำเงินมาชำระให้แก่ผู้เสียหายทั้งเจ็ดคนละ 20,000 บาท ส่วนที่เหลือผู้เสียหายทั้งเจ็ดจะไปเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 1 สอบโจทก์ ผู้เสียหายที่ 2 ถึงที่ 7 แล้วรับว่าเป็นจริงดังที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 แถลง และต่อมาปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้ชำระเงินแก่ผู้เสียหายทั้งเจ็ดแล้ว ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 29 มิถุนายน 2543 เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ชำระเงินบางส่วนให้แก่ผู้เสียหายทั้งเจ็ด และผู้เสียหายทั้งเจ็ดยอมรับตามคำแถลงของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ว่า เงินส่วนที่เหลือผู้เสียหายจะไปเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 1 แต่ก็ไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายทั้งเจ็ดจะไม่ติดใจเรียกร้องเงินส่วนที่เหลือจากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อีก จึงถือไม่ได้ว่าคู่กรณีมีเจตนาระงับข้อพิพาทโดยไม่ติดใจเรียกร้องสิ่งใดต่อกันอีก จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ต้องร่วมกันชำระหนี้ส่วนที่เหลือให้แก่ผู้เสียหายทั้งเจ็ดจนสิ้นเชิงในฐานะลูกหนี้ร่วม ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมกันคืนหรือชดใช้เงินส่วนที่เหลือให้แก่ผู้เสียหายทั้งเจ็ดนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.