แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่ระเบียบของจำเลยกำหนดให้พนักงานพ้นจากตำแหน่งเมื่อมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์นั้น มิใช่เป็นการกำหนดระยะเวลาการจ้างเพราะมิใช่เป็นการกำหนดว่าให้ผูกพันจ้างกันจนกว่าพนักงานจะมีอายุครบ60 ปีบริบูรณ์ จึงหาทำให้การจ้างนั้นเป็นการจ้างที่มีกำหนดเวลาไม่
แม้ระเบียบของจำเลยและพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ จะกำหนดไว้ว่า พนักงานที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ถือว่าขาดคุณสมบัติและเป็นอันพ้นจากตำแหน่งก็ตาม ก็หมายความถึงให้จำเลยดำเนินการให้พนักงานที่ขาดคุณสมบัติเพราะเหตุดังกล่าวออกจากงานนั่นเอง ฉะนั้น การที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุจึงเป็นการเลิกจ้าง
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 46มีหลักการให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง และในวรรคสามยกเว้นไว้ให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยในกรณีเลิกจ้างลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน กับกรณีเลิกจ้างลูกจ้างทดลองปฏิบัติงานแสดงว่ามิได้ประสงค์ให้ยกเว้นถึงการเลิกจ้างที่ลูกจ้างรู้ตัวล่วงหน้าทั่วไปทุกกรณี จึงจะถือว่าการที่ลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ลูกจ้างรู้ตัวล่วงหน้าเหมือนกับกรณีดังกล่าวและไม่อยู่ในขอบเขตแห่งเจตนารมณ์ที่จะให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยเช่นเดียวกันหาได้ไม่
โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง มิได้เป็นส่วนราชการของกรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นกรมซึ่งสังกัดกระทรวงการคลังจึงมิใช่ราชการส่วนกลาง หาได้รับยกเว้นมิให้ใช้ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ บังคับไม่ ฉะนั้น กระทรวงการคลังในฐานะเป็นนิติบุคคลผู้เป็นเจ้าของโรงงานยาสูบฯ ซึ่งเป็นนายจ้างโจทก์ จึงต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ ถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้ประกาศฯ ดังกล่าวบังคับแก่กระทรวงการคลังในฐานะเป็นราชการส่วนกลาง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำ จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุเกษียณอายุและไม่จ่ายค่าชดเชยให้ตามกฎหมาย ขอศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะจำเลยเป็นราชการส่วนกลางไม่อยู่ในบังคับของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 1(1) จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนว่า เมื่อโจทก์มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์แล้วจำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ และจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ตามกำหนดระยะเวลานั้น จึงเข้าข้อยกเว้นมิให้นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตามประกาศดังกล่าว จำเลยเป็นองค์การของรัฐซึ่งตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ กำหนดให้ผู้ทำงานในองค์การของรัฐพ้นตำแหน่งเมื่ออายุครบ60 ปีบริบูรณ์ การออกจากงานของโจทก์จึงเป็นการออกโดยผลของกฎหมายไม่ใช่ออกโดยการเลิกจ้าง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า การที่ระเบียบของจำเลยกำหนดให้พนักงานครบเกษียณอายุและเป็นอันพ้นจากตำแหน่งเมื่อมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ตลอดมานั้นมิใช่เป็นการกำหนดระยะเวลาการจ้าง เพราะมิใช่เป็นการกำหนดว่าให้ผูกพันจ้างกันจนกว่าพนักงานจะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ การที่โจทก์ทราบว่ามีระเบียบดังกล่าวจึงหาทำให้การจ้างนั้นเป็นการจ้างที่มีกำหนดเวลาไม่ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 46 แก้ไขโดย (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2517 ข้อ 1 ซึ่งใช้บังคับอยู่ขณะโจทก์ออกจากงานให้ความหมายของ “การเลิกจ้าง” ไว้ว่า “การที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงาน ปลดออกจากงาน หรือไล่ออกจากงาน โดยที่ลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิดตามข้อ 47 ฯลฯ” หมายถึงการที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานไม่ว่ากระทำด้วยวิธีใดโดยที่ลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิดตามที่ระบุไว้ แม้ระเบียบของจำเลยและพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ จะกำหนดไว้ทำนองเดียวกันว่าพนักงานที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ถือว่าขาดคุณสมบัติและเป็นอันพ้นจากตำแหน่งก็ตามแต่ก็หมายความถึงให้จำเลยดำเนินการให้พนักงานที่ขาดคุณสมบัติเพราะเหตุดังกล่าวออกจากงานนั่นเอง ฉะนั้น การที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุจึงเป็นการเลิกจ้างตามประกาศดังกล่าวข้างต้น
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 46 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว มีหลักการให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง และในวรรคสามยกเว้นไว้ให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยในกรณีเลิกจ้างลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน กับกรณีเลิกจ้างลูกจ้างทดลองปฏิบัติงานในระยะไม่เกิน 180 วัน แสดงว่ามิได้ประสงค์ให้ยกเว้นถึงการเลิกจ้างที่ลูกจ้างรู้ตัวล่วงหน้าทั่วไปทุกกรณีจึงจะถือว่าการที่ลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุลูกจ้างรู้ตัวล่วงหน้าเหมือนกับกรณีดังกล่าว และไม่อยู่ในขอบเขตแห่งเจตนารมณ์ที่จะให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยเช่นเดียวกันหาได้ไม่
กระทรวงการคลังรวมทั้งกรมหรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นกรมซึ่งสังกัดกระทรวงการคลัง เป็นราชการส่วนกลางตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 218 ลงวันที่ 29 กันยายน 2515 ข้อ 3, 5(2)(4) และกระทรวงการคลังมีส่วนราชการที่เป็นกรมและที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นกรมตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 216 ลงวันที่ 29 กันยายน 2515 ข้อ 10 รวม 8 ส่วนราชการ แต่หามีโรงงานยาสูบกระทรวงการคลัง รวมอยู่ด้วยไม่ ทั้งไม่ปรากฏว่าโรงงานนี้เป็นส่วนราชการของกรมหรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นกรมซึ่งสังกัดกระทรวงการคลัง โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง จึงมิใช่ราชการส่วนกลางหาได้รับยกเว้นมิให้ใช้ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ บังคับไม่ ฉะนั้น กระทรวงการคลังในฐานะเป็นนิติบุคคลผู้เป็นเจ้าของโรงงานยาสูบฯ และเป็นนายจ้างของโจทก์จึงต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้ประกาศดังกล่าวบังคับแก่กระทรวงการคลังในฐานะเป็นราชการส่วนกลาง
พิพากษายืน