คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1572/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ทนายจำเลยซึ่งถอนตัวไปแล้วได้ลงชื่อในอุทธรณ์โดยมิได้แต่งทนายเข้ามาใหม่ และจำเลยมิได้ลงชื่อในอุทธรณ์ ศาลจึงสั่งในอุทธรณ์ให้จำเลยแต่งทนายให้ถูกต้องก่อนแล้วจะสั่งอุทธรณ์ใหม่ แม้จำเลยจะแต่งตั้งทนายความภายหลังวันสิ้นอายุอุทธรณ์แล้ว แต่ศาลก็สั่งรับอุทธรณ์ ดังนี้ เป็นเรื่องศาลชั้นต้นใช้อำนาจอนุญาตให้จำเลยจัดการแก้ไขการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบเสียให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 เมื่อจำเลยปฏิบัติถูกต้องแล้ว ก็ต้องถือว่าอุทธรณ์ของจำเลยสมบูรณ์มาแต่ต้นตั้งแต่วันยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์มีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย
การที่จำเลยเบิกความและนำสืบพยานหลักฐานต่อศาลก็เพื่อให้ศาลเพิกถอนคำสั่งที่สั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ และเพื่อให้จำเลยยื่นคำให้การต่อสู้คดีได้เท่านั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องกล่าวหาว่าโจทก์กระทำผิดอันเป็นความเสียหายแก่โจทก์ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายจึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๗, ๑๘๐
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๗, ๑๘๐, ๘๓
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๗ เฉพาะที่เบิกความเท็จอ้างว่าทรัพย์ที่โจทก์นำยึดเป็นของจำเลยที่ ๒
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อที่โจทก์ฎีกาว่านายนพทนายจำเลย ซึ่งถอนตัวจากการเป็นทนายจำเลยไปแล้ว ได้มาลงชื่อในอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสอง โดยจำเลยทั้งสองไม่ได้ลงชื่อในอุทธรณ์ด้วย จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จำเลยจะแต่งนายนพเป็นทนายให้มีอำนาจ อุทธรณ์ได้แต่แต่งเข้ามาภายหลังสิ้นอายุอุทธรณ์แล้ว ไม่ทำให้อุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกลับเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลอุทธรณ์จึงไม่มีอำนาจพิพากษาคดีนี้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย คำพิพากษาศาลชั้นต้นยังมีผลบังคับอยู่ตามเดิมนั้น ปรากฏในสำนวนว่าจำเลยทั้งสองอุทธรณ์โดยนายนพซึ่งเคยเป็นทนายจำเลยทั้งสองมาก่อนแล้วได้ถอนตัวไป ได้กลับมาลงชื่อในอุทธรณ์โดยไม่ได้แต่งทนายเข้ามาใหม่ และจำเลยทั้งสองมิได้ลงชื่อในอุทธรณ์ด้วยศาลอาญาได้สั่งในอุทธรณ์ว่าให้จำเลยแต่งทนายให้ถูกต้องก่อนแล้วจะสั่งอุทธรณ์ใหม่โดยสั่งเมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๒๓ (คดีนี้ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๒๓ ครบกำหนดยื่นอุทธรณ์วันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๒๒ ซึ่งตรงกับวันเสาร์ รุ่งขึ้นเป็นวันอาทิตย์จึงยื่นอุทธรณ์ในวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๒๓ ได้อีกวันหนึ่ง) ศาลอาญาไม่ได้กำหนดให้จำเลยยื่นใบแต่งทนายใหม่ภายในกี่วันแต่จำเลยทั้งสองได้ยื่นใบแต่งนายนพเป็นทนายความให้มีอำนาจใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาแทนจำเลยทั้งสองได้เมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๒๓ และศาลอาญาได้สั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในวันเดียวกันนั้น ดังนี้ เป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นใช้อำนาจอนุญาตให้จำเลยจัดการแก้ไขการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบเสียให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๗ เมื่อจำเลยทั้งสองปฏิบัติถูกต้องแล้วก็ต้องถือว่าอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองสมบูรณ์มาแต่ต้น แม้จำเลยทั้งสองจะแต่งตั้งนายนพเป็นทนายความให้มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาแทนจำเลยทั้งสองได้ภายหลังวันสิ้นอายุอุทธรณ์แล้วก็ตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมายศาลอุทธรณ์มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์มีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย
ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายสำหรับความผิดฐานเบิกความเท็จและนำสืบหรือแสดงหลักฐานเท็จชั้นไต่สวนคำร้องขอยื่นคำให้การนั้นปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นจำเลยในคดีแพ่งดังกล่าว ขาดนัดยื่นคำให้การ ต่อมาวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๑๙ จำเลยที่ ๑ ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งว่าจำเลยที่ ๑ ไม่จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ ขอยื่นคำให้การสู้คดี ศาลแพ่งนัดไต่สวนแล้วมีคำสั่งในวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๑๙ ว่า จำเลยจงใจขาดนัดยื่นคำให้การ ไม่มีเหตุอันควรที่จะอนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การได้ให้ยกคำร้องดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยทั้งสองเบิกความและนำสืบพยานหลักฐานต่อศาลก็เพื่อให้ศาลเพิกถอนคำสั่งที่สั่งว่าจำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การและเพื่อให้จำเลยที่ ๑ ยื่นคำให้การต่อสู้คดีได้เท่านั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องกล่าวหาว่าโจทก์กระทำผิดอันเป็นความเสียหายแก่โจทก์ ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้เสียหาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดฐานเบิกความเท็จว่า จำเลยทั้งสองหย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยากัน และนำหนังสือหย่าอันเป็นพยานหลักฐานเท็จมาแสดงต่อศาลในชั้นร้องขัดทรัพย์นั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์ปัญหานี้แล้วเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์ฟังได้แต่เพียงว่าจำเลยทั้งสองอยู่บ้านเลขที่ ๖๓๑/๔ ถนนลาดหญ้า ตามฟ้องอย่างฉันสามีภรรยาแต่จำเลยทั้งสองจะเป็นสามีภรรยากันถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ พยานโจทก์ยังรับฟังไม่ได้ คงได้ความจากคำเบิกความของจำเลยทั้งสองว่าจำเลยทั้งสองแต่งงานกันที่ประเทศอินเดีย โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน และเมื่อเข้ามาอยู่ในประเทศไทยก็ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้สองเป็นสามีภรรยากันตามกฎหมาย ดังนั้นแม้จำเลยทั้งสองจะเบิกความในชั้นร้องขัดทรัพย์ว่า จำเลยได้หย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยากันและร่วมกันทำหนังสือหย่านำไปแสดงต่อศาล ก็หาทำให้ฐานะความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยทั้งสองเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใดไม่ และข้อความที่จำเลยทั้งสองเบิกความต่อศาลและการนำสืบแสดงหนังสือหย่าต่อศาลดังกล่าวจึงยังฟังไม่ได้ถนัดว่าเป็นความเท็จในคดีร้องขัดทรัพย์แต่อย่างใด จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดตามข้อหานี้
พิพากษายืน

Share