คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2117/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บันทึกกักสินค้าหลังใบขนสินค้าไม่ใช่การจับกุมตามคำสั่งทั่วไปกรมศุลกากรที่ 24/2508 เรื่องการปฏิบัติเกี่ยวกับใบแจ้งความนำจับรายงานการจับกุมและรายงานการตรวจพบการเก็บอากรขาด เมื่อพนักงานศุลกากรจับกุมแล้วต้องทำรายงานการจับกุมต่อผู้บังคับบัญชาด้วยเมื่อผู้ร้องไม่ได้ทำรายงานการจับกุมเพียงแต่บันทึกกักสินค้าหลังใบขนสินค้าผู้ร้องซึ่งเป็นพนักงานศุลกากรจึงไม่ใช่ผู้จับกุมบุคคลที่กระทำผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากร จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินรางวัลการจับกุม
อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ก.ต.ภ. ในการจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายว่าด้วยภาษีอากรมีอยู่เฉพาะตาม พระราชบัญญัติตรวจสอบการปฏิบัติเกี่ยวแก่ภาษีอากรและรายได้อื่นของรัฐ พ.ศ. 2503มาตรา 6 แก้ไขเพิ่มเติมตามพระราชบัญญัติตรวจสอบการปฏิบัติเกี่ยวแก่ภาษีอากรและรายได้อื่นของรัฐ (ฉบับที่2) พ.ศ. 2506 มาตรา 3ไม่ได้มีอำนาจทั่วไปอย่างที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะพึงมี กล่าวคือมีอำนาจจับกุมจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 78 วรรคท้าย โดยไม่มีหมาย แต่ต้องจับด้วยตนเองและต้องเป็นกรณีออกหมายจับได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาทั้งยังมีข้อจำกัดอำนาจอยู่ตามพระราชบัญญัติตรวจสอบการปฏิบัติเกี่ยวแก่ภาษีอากรและรายได้อื่นของรัฐ พ.ศ. 2503 มาตรา 6(3) ว่าต้องเป็นกรณีจำเป็นหรือเร่งด่วนด้วย จำเลยเป็นนิติบุคคลมีสำนักงานที่แน่นอน จึงไม่ใช่กรณีที่จำเป็นหรือเร่งด่วนที่จะต้องทำการจับกุมแต่อย่างใดอำนาจจับโดยไม่ต้องมีหมายประธาน ก.ต.ก. หามีอำนาจมอบให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานปฏิบัติแทนไม่ผู้ร้องที่เป็นพนักงาน ก.ต.ก. จึงไม่ใช่ผู้จับกุมจำเลยไม่มีสิทธิได้รับรางวัลการจับกุมเช่นเดียวกัน

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องบริษัทอุตสาหกรรมกระดาษไทยจำกัดในความผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากร คดีถึงที่สุดโดยศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานสำแดงใบขนสินค้าอันเป็นเท็จตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 99 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 16 และมีความผิดฐานหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากรโดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษีของรัฐตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2490 มาตรา 3 พิพากษาปรับจำเลย และให้จ่ายรางวัลร้อยละยี่สิบของค่าปรับแก่เจ้าหน้าที่ผู้จับกุมตามมาตรา 7 วรรคสอง และมาตรา 8 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ. 2498

ผู้ร้องทั้ง 22 คนได้ยื่นคำร้องขอรับรางวัลการจับกุมโดยต่างอ้างว่าตนเป็นผู้จับกุม จำเลยมีสิทธิได้รับเงินรางวัลการจับกุม

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้ง 22 ราย

ผู้ร้องที่ 1 และผู้ร้องที่ 3 ถึง 22 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จ่ายรางวัลให้แก่ผู้ร้องที่ 1 ผู้ร้องที่ 13 ถึง 16 และผู้ร้องที่ 18 ถึง 21

โจทก์และผู้ร้องที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 12 ที่ 17 ถึงที่ 22 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้ร้องทั้งหมดที่อ้างว่าเป็นผู้จับกุมจำเลยและขอรับเงินรางวัลแบ่งออกได้เป็น 2 ฝ่าย คือพนักงานศุลกากรฝ่ายหนึ่ง และพนักงาน ก.ต.ก. อีกฝ่ายหนึ่ง

สำหรับพนักงานศุลกากร ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามคำสั่งทั่วไปกรมศุลกากรที่ 24/2508 เรื่อง การปฏิบัติเกี่ยวกับใบแจ้งความนำจับ รายงานการจับกุมและรายงานการตรวจพบการเก็บอากรขาด เมื่อพนักงานศุลกากรจับกุมแล้วต้องทำรายงานการจับกุมเสนอต่อผู้บังคับบัญชาด้วย แต่เมื่อผู้ร้องซึ่งเป็นพนักงานศุลกากรบันทึกกักสินค้าหลังใบขนแล้ว ไม่ได้นำรายงานการจับกุมเสนอต่อผู้บังคับบัญชาเลย ที่ผู้ร้องที่ 9 ซึ่งเป็นรองอธิบดีกรมศุลกากรฝ่ายปราบปรามในขณะนั้นเบิกความว่า เมื่อบันทึกกักสินค้าหลังใบขนแล้ว ไม่จำเป็นต้องทำรายงานการจับกุมในทันที ในทางปฏิบัติส่วนมากมักจะทำรายงานการจับกุมหลังจากเรื่องเสร็จแล้ว เพื่อประกอบเป็นหลักฐานในการขอรับสินบนและรางวัลการจับกุม เป็นทำนองว่า เหตุที่เรื่องนี้ไม่มีรายงานการจับกุมก็เพราะเรื่องยังไม่เสร็จนั้น เห็นว่า คำสั่งทั่วไปของกรมศุลกากรดังกล่าวมีความมุ่งหมายเพื่อให้การจ่ายเงินสินบนและรางวัลเป็นไปโดยถูกต้องและรัดกุม ตามคำสั่งข้อ 2และ 201 การรายงานการจับกุมของพนักงานศุลกากร ให้ทำตามแบบ 306 ในส่วนกลางให้ผู้จับทำรายงานการจับกุมเสนอต่อผู้บังคับบัญชาอย่างช้าก่อนสิ้นเวลาราชการของวันถัดจากวันที่มีการจับกุม และให้ผู้บังคับบัญชาเสนอต่อไปตามลำดับโดยพลันโดยให้ผู้เสนอแต่ละคนลงวันเวลาที่เสนอจนถึงอธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายภายในสามวันนับแต่วันที่มีการจับกุม ถ้าวันที่ครบกำหนดสามวันเป็นวันหยุดราชการ ให้เสนอภายในวันแรกที่เปิดที่ทำการและตามข้อ 2.3 ในกรณีที่ไม่อาจทำรายงานการจับกุมโดยละเอียดได้ ให้รายงานโดยย่อ และชี้แจงข้อขัดข้องภายในกำหนดเวลาตามข้อ 2.1 คำสั่งเกี่ยวกับรายงานการจับกุมมีรายละเอียดชัดเจนเช่นนี้ คำเบิกความของผู้ร้องที่ 9จึงรับฟังไม่ได้ ศาลฎีกาเห็นว่าผู้ที่เป็นพนักงานศุลกากรอยู่ในฐานะที่ควรจะรู้ระเบียบดังกล่าวดี และควรจะรู้ด้วยว่า เงินรางวัลการจับกุมในกรณีนี้เป็นจำนวนไม่ใช่น้อย หากว่าพนักงานศุลกากรจะถือว่า บันทึกกักสินค้าหลังใบขนสินค้าเป็นบันทึกการจับกุมก็ชอบที่จะทำรายงานการจับกุมตามระเบียบดังกล่าว เพื่อเป็นหลักฐานการรับเงินรางวัล การที่ไม่มีรายงานการจับกุม แสดงให้เห็นว่า พนักงานศุลกากรไม่ได้ถือว่า การบันทึกกักสินค้าหลังใบขนเป็นการจับกุมจำเลยแล้ว ผู้ร้องที่เป็นพนักงานศุลกากรจึงไม่มีสิทธิได้รับรางวัลการจับกุม ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของผู้ร้องที่เป็นพนักงานศุลกากรในประเด็นอื่นต่อไป

ส่วนผู้ร้องที่เป็นพนักงาน ก.ต.ก. นั้น โจทก์ฎีกาว่า ผู้ร้องที่ 1 ที่ 13 ถึงที่ 16 และที่ 18 ถึงที่ 21 ไม่ได้เป็นผู้จับกุมจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83, 84 ผู้ร้องที่ 1 และที่ 18 ถึงที่ 21 ฎีกาว่า ผู้ร้องที่ 13 ถึงที่ 16 มิใช่ผู้จับกุมจำเลย ไม่มีสิทธิได้รับรางวัล และฎีกาด้วยว่าผู้ร้องที่ 18 ซึ่งเป็นเลขาธิการ ก.ต.ภ. ในขณะนั้น เป็นผู้จับกุมจำเลย มีสิทธิได้รับเงินรางวัลจำนวนนี้ทั้งหมดแต่ผู้เดียว เพื่อนำไปพิจารณาแบ่งจ่ายให้ผู้ร้องที่ 1 ที่ 19 ถึงที่ 21 กับผู้ร่วมปฏิบัติงานเรื่องนี้จนเป็นผลดีแก่ราชการตามระเบียบของสำนักงาน ก.ต.ภ. ว่าด้วยเงินรางวัล และผู้ร้องที่ 17 ฎีกาว่าผู้ร้องมีตำแหน่งหน้าที่เป็นคนขับรถ ได้ขับรถรับส่งผู้ร้องที่ 13 ถึงที่ 17 และที่ 19 ถึงที่ 21 ไปปฏิบัติงานมีสิทธิได้รับเงินรางวัลตามระเบียบของสำนักงาน ก.ต.ภ. ด้วย ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยฎีกาดังกล่าวรวมกัน

ศาลฎีกาเห็นว่า อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ก.ต.ภ. ในการจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายว่าด้วยภาษีอากรมีอยู่ตามพระราชบัญญัติตรวจสอบการปฏิบัติเกี่ยวแก่ภาษีอากรและรายได้อื่นของรัฐ พ.ศ. 2503 มาตรา 5(1)(2)(3) และมาตรา 6 แก้ไขเพิ่มเติมตามพระราชบัญญัติตรวจสอบการปฏิบัติเกี่ยวแก่ภาษีอากรและรายได้อื่นของรัฐ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2506 มาตรา 3 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะเกิดเรื่องนี้ โดยเฉพาะอำนาจในการจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายว่าด้วยภาษีอากรมีอยู่ดังนี้

“มาตรา 6 ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 5(1)(2) และ(3) ให้กรรมการมีอำนาจดังต่อไปนี้

(3) ในกรณีจำเป็นหรือเร่งด่วนเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของ ก.ต.ภ. ให้มีอำนาจเช่นเดียวกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่จะจับผู้ซึ่งมีเหตุอันควรเชื่อว่าได้กระทำความผิดกฎหมายว่าด้วยภาษีอากร

ให้ประธานกรรมการมีอำนาจมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานปฏิบัติการตามอำนาจในมาตรานี้ทั้งหมด หรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใดก็ได้ โดยทำเอกสารการมอบหมายให้ไว้ประจำตัวเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับมอบหมายนั้น

เจ้าหน้าที่ผู้ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติการตามความในวรรคก่อน ต้องแสดงเอกสารการมอบหมายนั้นเมื่อบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องร้องขอ”

อำนาจในการจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายว่าด้วยภาษีอากรของผู้ร้องที่ 18ซึ่งเป็นกรรมการ ก.ต.ภ. โดยตำแหน่งมีอยู่เฉพาะตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6(3) เท่านั้น ผู้ร้องที่ 18 ไม่ได้มีอำนาจทั่วไปอย่างที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะพึงมีกล่าวโดยเฉพาะในกรณีนี้ก็คือ ผู้ร้องที่ 18 มีอำนาจจับกุมจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 วรรคท้ายโดยไม่ต้องมีหมายแต่ต้องจับด้วยตนเอง และต้องเป็นกรณีที่อาจออกหมายจับได้หรือจับได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาทั้งยังมีข้อจำกัดอำนาจอยู่ตามพระราชบัญญัติตรวจสอบการปฏิบัติเกี่ยวแก่ภาษีอากรและรายได้อื่นของรัฐ พ.ศ. 2503 มาตรา 6(3) ว่าต้องเป็นกรณีจำเป็นหรือเร่งด่วนด้วย กล่าวคือ ถ้าไม่จับกุม จะเกิดความเสียหายแก่ราชการ แต่กรณีนี้อธิบดีกรมศุลกากรสั่งปล่อยกระดาษของกลางให้ผ่านพิธีการศุลกากรไปได้ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม2514 ผู้ร้องที่ 1 ได้รับทราบเรื่องนี้เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2514 ได้มีการสืบสวนและรวบรวมหลักฐานต่อมา จนกระทั่งวันที่ 9 พฤษภาคม 2515 ผู้ร้องที่ 18 จึงได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมตำรวจตามเอกสารหมาย ร.52 ว่า ประธาน ก.ต.ภ. ได้มอบอำนาจให้ผู้ร้องที่ 1 เป็นผู้นำหลักฐานทั้งหมดมาร้องเรียกกล่าวโทษจำเลยจำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีสำนักงานที่แน่นอนเห็นได้ว่าไม่ใช่กรณีที่จำเป็นหรือเร่งด่วนแต่อย่างใด จึงไม่ใช่กรณีที่ผู้ร้องที่ 18 จะจับจำเลยได้ตามอำนาจที่มีอยู่และอำนาจจับโดยไม่ต้องมีหมายนี้ ประธานกรรมการ ก.ต.ภ. หามีอำนาจมอบให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานปฏิบัติการแทนไม่ ผู้ร้องที่เป็นพนักงาน ก.ต.ภ. จึงไม่ใช่ผู้จับจำเลย ไม่มีสิทธิได้รับรางวัลการจับกุมเช่นเดียวกันไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาโจทก์และฎีกา ผู้ร้องที่เป็นพนักงาน ก.ต.ภ. ในประเด็นอื่นต่อไป

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำร้องของผู้ร้องที่ 1 ที่ 13 ถึงที่ 16 และที่ 18 ถึงที่ 21 เสียด้วย

Share