คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15677/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้และประสงค์จะบังคับทรัพย์จำนองซึ่งเป็นหลักประกัน แม้ในคำขอท้ายฟ้องของโจทก์จะระบุเพียงว่า หากจำเลยไม่ชำระหนี้ให้นำทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ แต่ตามคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายแสดงให้เห็นแล้วว่าหากมีการบังคับจำนองเอาทรัพย์สินที่จำนองออกขายทอดตลาดได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ จำเลยตกลงชำระหนี้ส่วนที่ขาดจำนวนจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยให้แก่โจทก์จนครบ ตามหนังสือสัญญาจำนองและสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันเอกสารท้ายคำฟ้อง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องเช่นเดียวกัน แม้สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลย ข้อ 4 จะระบุเพียงว่า หากจำเลยผิดนัดข้อหนึ่งข้อใดให้ถือว่าจำเลยผิดนัดทั้งสิ้น และยินยอมให้โจทก์บังคับได้ทันที แต่สัญญาประนีประนอมยอมความมิได้กล่าวไว้ว่าหากจำเลยผิดนัดแล้วให้โจทก์บังคับคดีได้แต่เฉพาะทรัพย์สินซึ่งจำนองเป็นประกันเท่านั้น แสดงว่าโจทก์ประสงค์ที่จะบังคับคดีเอาจากทรัพย์สินอื่นนอกเหนือจากทรัพย์จำนองซึ่งเป็นหลักประกันตามข้อตกลงในหนังสือสัญญาจำนองและสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันด้วย ส่วนสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 5 ที่ว่า โจทก์และจำเลยตกลงตามข้อ 1 ถึงข้อ 4 และไม่ติดใจเรียกร้องสิ่งใดอีกนั้น ก็หมายความแต่เพียงว่า โจทก์จะไม่เรียกร้องเงินนอกเหนือไปจากจำนวนเงินหรือหนี้ที่ตกลงกันไว้ในข้อ 1 ถึงข้อ 4 เท่านั้น เมื่อจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความและมีการบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์จำนองไม่พอชำระหนี้ โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจึงชอบที่จะบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของจำเลยนอกเหนือจากที่จำนองไว้ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินกู้ยืม 827,236 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17 ต่อปี ของต้นเงิน 694,998 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้นำทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ ต่อมาโจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่า จำเลยยินยอมชดใช้เงิน 827,236 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 6.5 ต่อปี ของต้นเงิน 694,998 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยตกลงผ่อนชำระเป็นรายเดือนและกำหนดชำระเงินทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายในห้าปีนับแต่วันทำยอม หากจำเลยผิดนัดข้อหนึ่งข้อใดตามสัญญาให้ถือว่าผิดนัดทั้งสิ้นและให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 17 ต่อปี ของต้นเงินค้างชำระ นับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและยินยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที โจทก์และจำเลยไม่ติดใจเรียกร้องสิ่งใดอีก และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมในวันเดียวกัน
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังว่า โจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่า จำเลยยินยอมชดใช้เงิน 827,236 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 6.5 ต่อปี ของต้นเงิน 694,998 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยตกลงผ่อนชำระเป็นรายเดือนและกำหนดชำระเงินทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายในห้าปีนับแต่วันทำยอม หากจำเลยผิดนัดข้อหนึ่งข้อใดตามสัญญาให้ถือว่าผิดนัดทั้งสิ้น และให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 17 ต่อปี ของต้นเงินค้างชำระนับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและยินยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันทีโจทก์และจำเลยไม่ติดใจเรียกร้องสิ่งใดอีก และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมในวันเดียวกัน ต่อมาจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนอง คือ ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 4260 ตำบลเขื่องคำ อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร ออกขายทอดตลาดแล้ว แต่ได้เงินไม่พอชำระหนี้ เบื้องต้นคดีนี้ โจทก์อุทธรณ์และขออนุญาตอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา แม้ศาลชั้นต้นมิได้สั่งอนุญาต แต่การที่จำเลยได้รับสำเนาคำร้องแล้วไม่คัดค้านและศาลชั้นต้นสั่งให้ส่งสำนวนไปยังศาลฎีกา ถือว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แล้ว
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิบังคับคดีโดยการยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้และประสงค์จะบังคับทรัพย์จำนองซึ่งเป็นหลักประกัน แม้ในคำขอท้ายฟ้องของโจทก์จะระบุเพียงว่า หากจำเลยไม่ชำระหนี้ให้นำทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ แต่ตามคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายแสดงให้เห็นแล้วว่า หากมีการบังคับจำนองเอาทรัพย์สินที่จำนองออกขายทอดตลาดได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ จำเลยตกลงชำระหนี้ส่วนที่ขาดจำนวนจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยให้แก่โจทก์จนครบ ตามหนังสือสัญญาจำนองและสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันเอกสารท้ายคำฟ้อง ข้อ 3 ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องเช่นเดียวกัน แม้สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลย ข้อ 4 จะระบุเพียงว่า หากจำเลยผิดนัดข้อหนึ่งข้อใดให้ถือว่าจำเลยผิดนัดทั้งสิ้น และยินยอมให้โจทก์บังคับได้ทันที แต่สัญญาประนีประนอมยอมความมิได้กล่าวไว้ว่าหากจำเลยผิดนัดแล้วให้โจทก์บังคับคดีได้แต่เฉพาะทรัพย์สินซึ่งจำนองเป็นประกันเท่านั้น แสดงว่าโจทก์ประสงค์ที่จะบังคับคดีเอาจากทรัพย์สินอื่นนอกเหนือจากทรัพย์จำนองซึ่งเป็นหลักประกันตามข้อตกลงในหนังสือสัญญาจำนองและสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันด้วย ดังนั้น โจทก์จึงชอบที่จะบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของจำเลยได้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ส่วนสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 5 ที่ว่า โจทก์และจำเลยตกลงตามข้อ 1 ถึงข้อ 4 และไม่ติดใจเรียกร้องสิ่งใดอีก ก็หมายความแต่เพียงว่าโจทก์จะไม่เรียกร้องเงินนอกเหนือไปจากจำนวนเงินหรือหนี้ที่ตกลงกันไว้ในข้อ 1 ถึงข้อ 4 เท่านั้น ฉะนั้น เมื่อจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความและมีการบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์จำนองไม่พอชำระหนี้ โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมบังคับเอาทรัพย์สินอื่นนอกเหนือจากที่จำนองไว้ได้ หาได้หมายความว่าโจทก์จะบังคับชำระหนี้ได้แต่เพียงทรัพย์ที่จำนองตามคำขอท้ายฟ้องเท่านั้นไม่ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์โดยไม่ได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมเป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษากลับเป็นว่า ให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ยกคำขอของโจทก์ และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีเพื่อนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอมต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและศาลฎีกาชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share