คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1499/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้คัดค้านยื่นคำร้องว่า เหตุที่ผู้คัดค้านมิได้ระบุหลักประกันเหนือที่ดินของลูกหนี้ในคำขอรับชำระหนี้ที่ผู้คัดค้านได้ยื่นไว้ด้วยเนื่องจากพลั้งเผลอ และขออนุญาตเพิ่มเติมหลักประกันในคำขอรับชำระหนี้ มิใช่เรื่องการเพิ่มจำนวนทุนทรัพย์ในคำขอรับชำระหนี้ แต่ก็เป็นการกล่าวอ้างว่าผู้คัดค้านเป็นเจ้าหนี้มีประกันด้วยต้องตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 97 เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องโดยเห็นว่าการละเว้นนั้นมิได้เกิดจากการพลั้งเผลอ คดีถึงที่สุดย่อมมีผลผูกพันผู้คัดค้านตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายฯ พ.ศ.2522 มาตรา 14 และมีผลให้ผู้คัดค้านจะต้องคืนหลักประกันแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องและสิทธิเหนือทรัพย์นั้นเป็นอันระงับตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 97 ผู้คัดค้านย่อมไม่อาจยกข้อกล่าวอ้างหรือนำสืบในภายหลังอันเกี่ยวกับประเด็นกันนั้นอีกได้ การที่ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านคัดค้านคำร้องของผู้ร้องที่ขอให้ผู้คัดค้านคืนหลักประกันและเพิกถอนรายการจดทะเบียนจำนองหลักประกันว่า ผู้คัดค้านมิได้ปกปิดหลักประกันก็ดี ผู้คัดค้านเป็นเจ้าหนี้มีประกันแต่มิได้แจ้งว่าเป็นเจ้าหนี้มีประกันเนื่องจากความพลั้งเผลอก็ดี ล้วนเป็นข้ออ้างในประเด็นที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีตามคำร้องของผู้คัดค้านมาแล้ว จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายฯ พ.ศ.2542 มาตรา 14 อีกด้วย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) เด็ดขาดเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2537 และพิพากษาให้ล้มละลาย วันที่ 26 มิถุนายน 2537 และวันที่ 27 ธันวาคม 2538 ผู้คัดค้านซึ่งเข้าสวมสิทธิของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อผู้ร้องในมูลหนี้กู้ยืม สัญญาเบิกเงินเกินบัญชี ค้ำประกัน และจำนอง รวมเป็นเงิน 1,519,702.60 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันเหนือที่ดินโฉนดเลขที่ 10663 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของลูกหนี้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) ต่อมาวันที่ 17 พฤษภาคม 2539 ผู้คัดค้านยื่นคำร้องว่า เนื่องจากผู้คัดค้านได้ระบุหลักทรัพย์ของลูกหนี้ที่นำมาเป็นประกัน คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 20456, 20457 ตกหล่นไปโดยพลั้งเพลอ ขออนุญาตแก้ไขคำขอรับชำระหนี้โดยเพิ่มเติมหลักประกันที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ให้ผู้คัดค้านดำเนินการทางเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้อง ผู้คัดค้านจึงยื่นคำร้องขอแก้ไขคำขอรับชำระหนี้ต่อผู้ร้องในวันเดียวกัน ต่อมาผู้ร้องสอบสวนหนี้สินตามคำขอรับชำระหนี้ของผู้คัดค้านแล้วเสนอความเห็นต่อศาลชั้นต้น โดยควรให้ผู้คัดค้านได้รับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันเหนือที่ดินโฉนดเลขที่ 10663 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ของลูกหนี้สำหรับหลักประกันเหนือที่ดินโฉนดเลขที่ 20456, 20457 ผู้คัดค้านได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำขอรับชำระหนี้วันที่ 17 พฤษภาคม 2539 ซึ่งล้วงพ้นกำหนดเวลาขอรับชำระหนี้แล้ว จึงไม่อาจพิจารณาอนุญาตได้ และผู้คัดค้านทราบคำสั่งของผู้ร้องดังกล่าวแล้วโดยมิได้ร้องคัดค้านต่อศาล ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้คัดค้านได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของผู้ร้อง ผู้คัดค้านอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ผู้คัดค้านได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของผู้ร้อง ให้เพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งคำร้องฉบับลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2539 ของผู้คัดค้าน ให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งและดำเนินกระบวนพิจารณาต่อจากนั้นแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้องฉบับลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2539 ของผู้คัดค้าน ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมหลักประกันเหนือที่ดินโฉนดเลขที่ 20456, 20457 ดังกล่าว ภายหลังวันที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นเวลา 1 ปี 4 เดือน แสดงว่าผู้คัดค้านละเลยไม่ยื่นคำร้องภายในเวลาอันสมควร ทั้งเป็นความประมาทเลินเล่อของผู้คัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง ต่อมาวันที่ 10 มีนาคม 2546 ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งยกคำร้องคดีถึงที่สุด
วันที่ 27 ตุลาคม 2546 ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของผู้คัดค้านที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมหลักประกันเหนือที่ดินโฉนดเลขที่ 20456, 20457 ดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ผู้คัดค้านจึงต้องคืนที่ดินอันเป็นหลักประกันดังกล่าวแก่ผู้ร้อง และสิทธิเหนือทรัพย์นั้นย่อมเป็นอันระงับไป ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 97 ขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพะเยา เพิกถอนรายการจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 20456, 20457 ตำบลสันโค้ง อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา ระหว่างลูกหนี้กับธนาคารกรุงเทพฯ พณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ผู้รับจำนองและเพิกถอนรายการโอนสิทธิรับจำนองระหว่างธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ผู้รับจำนองกับผู้คัดค้านผู้รับโอน ในสารบัญจดทะเบียนหลังโอนโฉนดที่ดินให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม เพื่อผู้ร้องจะได้รวบรวมทรัพย์สินดังกล่าวแบ่งให้กับบรรดาเจ้าหนี้ต่อไป
วันที่ 26 มกราคม 2547 ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่าผู้คัดค้านได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันเหนือที่ดินโฉนดเลขที่ 10663 ตำบลสันโค้ง อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยาไว้แล้ว เพียงแต่มิได้ระบุหลักประกันเหนือที่ดินโฉนดเลขที่ 20456, 20457 ดังกล่าว และผู้คัดค้านก็ได้ยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมหลักประกันนั้นแล้ว กรณีมิใช่ผู้คัดค้านปกปิดหลักประกันหรือเป็นเจ้าหนี้มีประกันแต่มิได้แจ้งว่าเป็นเจ้าหนี้มีประกันตามมาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ทั้งมิใช่การขอเพิ่มเติมจำนวนทุนทรัพย์ จึงไม่จำต้องดำเนินการภายในกำหนดเวลาสองเดือน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพะเยาเพิกถอนรายการจดทะเบียนรับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 20456, 20457 ตำบลสันโค้ง อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา ระหว่างลูกหนี้กับธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ผู้รับจำนอง กับผู้คัดค้านผู้รับโอน ในสารบัญจดทะเบียนหลังโฉนดที่ดินให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม เพื่อผู้ร้องจะได้รวบรวมทรัพย์สินดังกล่าวแบ่งให้กับบรรดาเจ้าหนี้ต่อไป ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “คดีนี้เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ผู้คัดค้านได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของผู้ร้องและให้เพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งคำร้องฉบับลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2539 ของผู้คัดค้านโดยให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งและดำเนินกระบวนพิจารณาต่อจากนั้นแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องดังกล่าวของผู้คัดค้านแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง คดีถึงที่สุด เมื่อตามคำร้องของผู้คัดค้านดังกล่าวอ้างว่า เหตุที่ผู้คัดค้านมิได้ระบุหลักประกันเหนือที่ดินโฉนดเลขที่ 20456, 20457 ตำบลสันโค้ง อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา ของลูกหนี้ในคำขอรับชำระหนี้ที่ได้ยื่นไว้ด้วยนั้น เนื่องจากระบุตกหล่นโดยพลั้งเผลอ และขออนุญาตเพิ่มเติมหลักประกันดังกล่าวในคำขอรับชำระหนี้ของผู้คัดค้าน แม้ข้ออ้างของผู้คัดค้านจะมิใช่เรื่องการเพิ่มจำนวนทุนทรัพย์ในคำขอรับชำระหนี้แต่ก็เป็นการกล่าวอ้างว่าผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้ที่ขอรับชำระหนี้เป็นเจ้าหนี้มีประกันเหนือที่ดินโฉนดเลขที่ 20456, 20457 ของลูกหนี้ด้วย แต่ผู้คัดค้านไม่ได้แจ้งว่าเป็นเจ้าหนี้มีประกันเหนือที่ดินดังกล่าวโดยการละเว้นนั้นเกิดขึ้นโดยพลั้งเผลอ กรณีต้องตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 97 เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องโดยเห็นว่าการละเว้นนั้นไม่น่าเชื่อว่าเกิดจากการพลั้งเผลอ คดีถึงที่สุด คำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันผู้คัดค้าน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 และมีผลให้ผู้คัดค้านจะต้องคืนทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันดังกล่าวแก่ผู้ร้องและสิทธิเหนือทรัพย์นั้นเป็นอันระงับ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 97 ผู้คัดค้านย่อมไม่อาจยกข้อกล่าวอ้างหรือนำสืบในภายหลังอันเกี่ยวกับประเด็นกันนั้นอีกได้ การที่ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านฉบับลงวันที่ 26 มกราคม 2547 คัดค้านคำร้องของผู้ร้องที่ขอให้ผู้คัดค้านคืนทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันและเพิกถอนรายการจดทะเบียนจำนองหลักประกันดังกล่าวว่า ผู้คัดค้านมิได้ปกปิดหลักประกันก็ดี ผู้คัดค้านเป็นเจ้าหนี้มีประกันแต่มิได้แจ้งว่าเป็นเจ้าหนี้มีประกัน เนื่องจากความพลั้งเผลอก็ดี ล้วนเป็นข้ออ้างในประเด็นที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีตามคำร้องฉบับลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2539 ของผู้คัดค้านมาแล้วและคดีถึงที่สุดแล้ว ย่อมถือว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอันเกี่ยวกับประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วนั้น จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2522 มาตรา 14 อีกด้วย ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ อนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำพิพากษาโดยมิได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาเห็นสมควรมีคำสั่งให้ถูกต้อง”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share