คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1578/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2540 ว่า คดีของโจทก์เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลภาษีอากรกลาง จึงเพิกถอนกระบวนพิจารณาทั้งหมดตั้งแต่ชั้นรับฟ้อง และให้ส่งสำนวนไปยังศาลภาษีอากรกลางโดยเร็ว ศาลภาษีอากรกลางส่งสำนวนไปให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัย ต่อมาประธานศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีของโจทก์ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลภาษีอากรกลาง ศาลภาษีอากรกลางจึงส่งสำนวนคืนยังศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกา จำเลยจึงมายื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีนี้ใหม่อ้างว่าการที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมาโดยมิได้มีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งที่ได้สั่งไว้เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2540 เป็นการไม่ชอบกรณีเป็นการร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง
จำเลยดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมาทั้งในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 7 และศาลฎีกา โดยมิได้ร้องขอให้ศาลเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบภายในกำหนดระยะเวลาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง อีกทั้งจำเลยก็ได้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมาหลังจากได้ทราบเรื่องผิดระเบียบนั้น จำเลยจึงไม่อาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบ

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 376,513.35 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลย จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกา ศาลฎีกามีคำสั่งยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
จำเลยยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2548 ความว่าหลังจากโจทก์ยื่นฟ้องและจำเลยยื่นคำให้การแล้ว ครั้นเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2540 ศาลชั้นต้นได้ตรวจสำนวนและเห็นว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลภาษีอากรกลาง จึงมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาทั้งหมดตั้งแต่ชั้นรับฟ้อง และให้โอนคดีนี้ไปยังศาลภาษีอากรกลางโดยไม่สอบถามไปยังศาลผู้รับโอนคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 28 วรรคสอง ต่อมาศาลภาษีอากรกลางส่งสำนวนคืนกลับมายังศาลชั้นต้นเนื่องจากประธานศาลฎีกามีคำวินิจฉัยว่าคดีของโจทก์ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง ศาลชั้นต้นก็ได้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมาตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2540 โดยมิได้มีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 29 มกราคม 2540 จึงเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ขอให้พิจารณาคดีใหม่
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า พิเคราะห์ตามคำร้องแล้วเห็นว่าจำเลยเพิ่งยกข้อคัดค้านเรื่องผิดระเบียบขึ้นมากล่าวหลังจากศาลมีคำพิพากษาจึงเป็นการล่วงเลยระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคสอง ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีนี้ใหม่หรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2540 ความว่า คดีนี้เป็นคดีที่พิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากรตามนัยมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 คดีของโจทก์เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลภาษีอากรกลาง จึงมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาทั้งหมดตั้งแต่ชั้นรับฟ้อง และให้ส่งสำเนาไปยังศาลภาษีอากรกลางโดยเร็ว ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ศาลภาษีอากรกลางส่งสำนวนไปให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัย ต่อมาประธานศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีของโจทก์ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลภาษีอากรกลาง ศาลภาษีอากรกลางจึงส่งสำนวนคืนไปยังศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมา และพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้จำนวน 376,513.35 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาและศาลฎีกามีคำสั่งให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับฎีกา จำเลยจึงมายื่นคำร้องฉบับนี้โดยขอให้พิจารณาคดีนี้ใหม่ อ้างว่าการที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมาโดยมิได้มีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งที่ได้สั่งไว้เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2540 เป็นการไม่ชอบ เห็นว่า ตามคำร้องของจำเลยดังกล่าวนี้มีเนื้อหาเป็นการร้องให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ซึ่งในการยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคสอง ได้กำหนดกรอบระยะเวลาและเงื่อนไขไว้ว่า ข้อคัดค้านเรื่องผิดระเบียบนั้น คู่ความฝ่ายที่เสียหายอาจยกขึ้นกล่าวได้ไม่ว่าเวลาใดๆ ก่อนมีคำพิพากษา แต่ต้องไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น แต่ทั้งนี้คู่ความฝ่ายนั้นต้องมิได้ดำเนินการอันใดขึ้นใหม่หลังจากที่ได้ทราบเรื่องผิดระเบียบแล้ว หรือต้องมิได้ให้สัตยาบันแก่การผิดระเบียบนั้นๆ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้คัดค้านหรือร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าว กลับดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมาทั้งในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 7 และศาลฎีกา กรณีจึงต้องถือว่าจำเลยมิได้ร้องขอให้ศาลเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบภายในกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 27 วรรคสอง อีกทั้งจำเลยก็ได้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมาหลังจากได้ทราบเรื่องผิดระเบียบนั้น จำเลยจึงไม่อาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบเช่นว่านี้ได้อีก ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษามานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share